หอศิลป์ร่วมสมัยแห่งกทม. "หอศิลป์" ในฝัน


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นเรื่อง ที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง หากหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งกทม. ที่ผ่านการคัดเลือกแบบจากบริษัทสถาปนิกต่างๆ กว่า 10 บริษัท มีการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างไปเรียบร้อย และได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2543 นั้น ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งหนึ่ง

ไม่ว่าผู้บริหารกทม.ชุดใหม่นี้จะ "เอา" หรือ "ไม่เอา" กับแบบ ที่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกมาแล้วอย่างถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ต้องยอมรับว่าหอศิลป์ในฝันของประชาชน ที่บริษัท โรเบิร์ต จีบุย แอนด์ แอสโซซิเอท ไดัรังสรรค์รูปแบบไว้จนได้รับชัยชนะนั้น เป็นความฝันของคนในประเทศจริงๆ

รูปแบบของอาคาร ที่ก่อสร้างในพื้นที่ 1.5 ไร่ บริเวณสี่แยกปทุมวันนั้น มีทั้งหมด 11 ชั้นเป็นชั้นใต้ดิน 3 ชั้น เหนือดินอีก 8 ชั้น พื้นที่ของอาคารโดยรวม 25,328 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ และเป็นพื้นที่พาณิชย์ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

ความโดดเด่นในเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร และการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน (Interior Concepts) เป็นจุดที่ทำให้บริษัทโรเบิร์ต จีบุย ชนะขาดในครั้งนั้น

เมื่อดูจากภายนอกรูปลักษณ์ของอาคารหลังนี้ค่อนข้างจะเป็นอาคาร ที่ทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันทางบริษัทสถาปนิกก็ได้สะท้อนให้เห็นลักษณะรูปร่าง และรูปทรงความเป็นไทยหลายประการ เช่น การนำการสอบเข้าของผนัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทย มาประกอบการออกแบบรูปทรงอาคารภายนอก

ช่วงหน้าต่างแคบๆ ซึ่งเป็นรูปทรงแบบไทยๆ ได้ถูกนำมาดัดแปลงให้เกิดเป็นองค์ประกอบสมัยใหม่ในลวดลาย และรูปทรง

ความโค้งของหลังคาทรงไทย และรูปทรงอื่นๆ ของไทย เช่น ท่วงท่าในการรำ และเครื่องใช้ดั้งเดิม เช่น งอบ ได้ถูกแปรเปลี่ยนโดยการใช้ส่วนโค้งเหล่านั้น มาเป็นส่วนประกอบของหลังคา และแผงกันแดด

ภายในตัวอาคาร พื้นที่ใช้สอยในส่วนของการแสดงผลงานทางด้านศิลปะ และพื้นที่ของร้านค้านั้น จะถูกแยกออกจากกันชัดเจน พื้นที่ร้านค้าจะอยู่ในบริเวณของชั้น 1-5 ส่วนของพิพิธภัณฑ์ จะเริ่มตั้งแต่ชั้น 6-8 แต่การออกแบบจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกันทางสถาปัตยกรรม พื้นที่ภายในพัฒนาจากจุดศูนย์กลางคือ พื้นที่โล่งทรงกระบอก ซึ่งนำเสนอจุดเด่นแก่สายตาเมื่อเข้าสู่อาคาร และพื้นที่เปิดโล่งส่วนกลาง นี้ยังนำสายตา สู่ชั้นบน ที่เป็นส่วน ที่แสดงผลงาน รูปทรง ซึ่งมีจุดศูนย์กลางเช่นนี้ ทำให้เห็นกิจกรรม ที่หลากหลายในอาคาร สร้างความตื่นเต้น และเร้าใจให้กับผู้ที่เข้ามา

สิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรจะได้ประโยชน์จากหอศิลป์แห่งนี้ บริษัทสถาปนิกได้เตรียมพื้นที่สำคัญๆ ไว้หลายจุด เช่น ชั้นล่างสุดของพิพิธภัณฑ์จะมีห้องสมุดประชาชน ที่นอกจากจะมีหนังสือทั่วไปแล้วควรจะเน้นไปยังหนังสือทางด้านศิลปะทุกแขนง ชั้น ที่ 1 ระดับเดียวกับพื้นดิน จะมีร้านค้าอาคารพาณิชย์ มีพื้นที่โล่งสำหรับงานแสดงศิลปะ และกิจกรรมต่างๆ ชั้น 2 จะมีส่วนเก็บรักษาผลงาน เช่นเดียวกับชั้น 3 ชั้น 4 จะเป็นร้านค้า ส่วนเตรียมนิทรรศการ ห้องประชุม ชั้น 5 จะเป็นโถงเข้าพิพิธภัณฑ์ มีมิวเซียมชอป ห้องประชุมย่อย ห้องฉายภาพยนตร์ประมาณ 200 ที่นั่ง ต่อเนื่องจากชั้นนี้ก็จะก้าวสู้ชั้น 6, 7, 8 เป็นส่วนแสดงงานศิลปะ ซึ่งเป็นหัวใจ ที่สำคัญที่สุดของอาคารหลังนี้

พื้นที่ทั้ง 3 ชั้นบนสุดนั้น แม้จะเชื่อมโยงกัน แต่ก็จะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เช่นในพื้นที่ชั้น 7 ซึ่งเป็นส่วน ที่แสดง งานศิลปะถาวร และแสดงงานประติมากรรม ได้ถูกออกแบบให้มีเพดานสูงถึง 10.20 เมตร เพื่อเตรียมไว้รองรับงานศิลป์สมัยใหม่ ที่ไม่สามารถควบคุมกฎเกณฑ์ความสูง หรือความใหญ่ของชิ้นงานได้

สถาปนิกได้ให้ความสำคัญ อย่างมากเกี่ยวกับเรื่องของ แสง และการควบคุมสภาพแวดล้อม อาคารหลังนี้ได้ถูกออกแบบให้ประหยัดพลังงาน การใช้วัสดุป้องกันรังสียูวี การวางตำแหน่งหน้าต่าง หรือช่องเปิด ถูกออกแบบไว้เฉพาะตำแหน่ง ที่ต้องการให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายนอก และภายใน หรือเมื่อแสงธรรมชาติเหมาะสม ที่จะนำมาใช้ในห้องแสดงศิลปะ

บนพื้นที่ชั้น 7 จะถูกปิดล้อมด้วยช่องแสงสูง และหลังคากระจก ซึ่งมีบานเกล็ดปรับแสงได้ เป็นห้อง แสดงงานศิลปะ ที่สว่างที่สุดในพิพิธภัณฑ์ ในขณะที่ห้องแสดงศิลปะอีก 2 ห้องมีการควบคุมแสงธรรมชาติ ที่สม่ำเสมอมากกว่า และเสริมด้วยแสงของไฟฟ้า

ส่วนพื้นที่ชั้น 8 ซึ่งเป็นบริเวณจัดแสดงงานศิลปะหมุนเวียนนั้น ส่วน ที่ 1 มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีหลังคาบานเกล็ดปรับได้ ซึ่งเป็นระบบการปรับลดแสงธรรมชาติ พื้นที่แสดงศิลปะอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเล็กกว่าจะมีช่องแสง (Skylight) ที่บริเวณจุดตัดของหลังคา และผนัง เพื่อไล้ผนังให้สว่าง

จุดเด่นสำคัญอีกส่วนหนึ่งของอาคารหลังนี้ก็คือ สถาปนิกได้ออกแบบให้มีห้องเก็บผลงานขนาด ใหญ่ ซึ่งเป็นห้องที่ศิลปินส่วนใหญ่มีความต้องการอย่างมากๆ เพราะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าศิลปินจะไม่มีพื้นที่เก็บผลงานของตนเอง บางส่วนจะถูกนำไปฝากไว้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหรือหอศิลป์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการเก็บ ที่ไม่ถูกวิธี ห้องเก็บผลงาน ที่อยู่บนชั้น 2 ทะลุชั้น 3 นี้ ได้ถูกออกแบบให้เป็นห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้สม่ำเสมอ เป็นห้องที่ไม่มีฝุ่น และความชื้น เพื่อเป็นการรักษาภาพให้คงทนได้มากที่สุด ส่วนชั้น ที่ 4 นั้น จะเป็นห้องสำหรับซ่อมผลงานศิลปะ

หากไม่มีปัญหาภายในของ กทม.เอง ความจริงแล้วประมาณกลางปีหน้า อาคารในฝันของประเทศ ที่มีความสำคัญอย่างมากในการเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนจินตนาการที่ไร้ขอบเขตนี้ คงเผยโฉมให้เห็นกันได้แล้ว และกำลังเป็นที่รอคอยว่า ผู้บริหาร กทม.ชุดใหม่จะมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจอย่างไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.