ฟาร์มหม่อนไหม ปัญหา-ความเสี่ยง-โอกาส และอนาคต


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ห่างไปจากตัวอำเภอปักธงชัยประมาณ 20 กิโลเมตร ภาพในท้องที่ของตำบลตะขบ เชิงเขาพญาป่า และลำน้ำสำรายที่ต่อเนื่องมาจากเขื่อนลำพระ
เพลิง เป็นที่ตั้งของฟาร์มหม่อนไหม ฐานกำลังการผลิตที่สำคัญของผ้าไหมไทย จิม ทอมป์สัน ที่เลื่องลือบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทยตัดสินใจลงทุนซื้อที่ดินบริเวณนี้เพื่อลงทุนทำฟาร์มหม่อนไหม ตั้งแต่ปี 2531 ด้วยความคิด ที่ว่าการลงทุนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง จะเป็นการควบคุมคุณภาพของผ้าไหม และควบคุมต้นทุนการผลิตให้กับบริษัท

พื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบ่งออกเป็น 2 ฟาร์ม คือฟาร์ม 1 บนพื้นที่ประมาณ 600 ไร่จะมีการปลูกต้นหม่อน และเลี้ยงไหมเพื่อทดสอบพันธุ์ และฟาร์ม 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ถัดไปอีกประมาณ 2,400 ไร่นั้น เป็นพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อการผลิตรัง รวมทั้งเป็นที่ตั้งของโรงงานต่างๆ เริ่มจากการคัดรังไหมที่มีคุณภาพดี ก่อนที่จะส่งไปต้ม ไปสาว เข้าเครื่องกรอเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ จนถึงขั้นตอนตกแต่งเส้นไหม เตรียมเข้าสู่โรงทอต่อไป

ในระยะ 5 ปีแรกของการทำฟาร์มหม่อนไหมบริษัทจะมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนเข้ามาดูแล และให้คำปรึกษาโดยจะผลัดกันเข้ามาครั้งละประมาณ 4-5 คน ในขณะเดียวกันจะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเองไปดูงานในประเทศจีนด้วย ปัจจุบันนี้มีคนงานปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประมาณ 100 คน และจะมีนักวิชาการซึ่งเป็นคนไทยเกือบทั้งสิ้นอีกประมาณ 13 คนโดยมีจริยา มีชื่น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่เข้ามาทำงาน ตั้งแต่เริ่มเปิดฟาร์มเป็นผู้จัดการดูแล

เวลา 10 กว่าปีที่ผ่านไปจิม ทอมป์สัน สามารถควบคุมคุณภาพของ ผ้าไหมได้จริง แต่ก็ด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซื้อที่ดิน การขุดบ่อเก็บแหล่งน้ำจำนวนมหาศาลกว่า 3 แสนคิว ค่าจ้างแรงงานในการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม รวมทั้งค่าศึกษาวิจัยพันธุ์ไหม โดยที่ในระยะเริ่มต้นนั้นล้วนแล้วแต่ต้องจ้างระดับเทคนิ-เชียลจากต่างประเทศมาทั้งสิ้น รวมทั้งได้ลงทุนสร้างโรงสาวเองทำให้ต้องใช้เงิน ไปแล้วทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

แต่ในขณะเดียวกันบริษัทยังมีปัญหาของเรื่องการควบคุมต้นทุนเพราะ ในวันนี้ผลิตผลที่ได้จากการเลี้ยงไหมของฟาร์มเองมีเพียง 5% เท่านั้นต้องรับซื้อรังไหมจากชาวบ้านปีละประมาณ 300 กว่าตัน โดยให้ชาวบ้านรับซื้อไข่ไหมที่ผสมพันธุ์แล้วไปเลี้ยง หลังจากนั้นก็เอารังสดกลับมาขายให้กับบริษัทบริษัทก็จะเอาไปสาวเพื่อเตรียมไว้ทอผ้าต่อไป

จิม ทอมป์สัน ใช้เวลาหลายปีในการวิจัยพันธุ์ไหมและเพิ่งได้พันธุ์ที่ดีที่สุดเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง ปัจจุบันพันธุ์ที่ใช้เป็นลักษณะลูกผสมต่างประเทศซึ่งเป็นพันธุ์ญี่ปุ่นผสมกับพันธุ์จีน ซึ่งหลังจากทดสอบแล้วจะพบว่าสายพันธุ์ชนิดนี้ จะทำให้ไหมที่ได้แข็งแรง เลี้ยงง่ายกว่าในขณะเดียวกันได้ผลผลิตที่สูงกว่าด้วย

ทุกวันนี้สมาชิกเลี้ยงไหมโดยใช้สายพันธุ์ของบริษัทมี 900 กว่ารายกระ-จายอยู่ใน 7 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น สกลนคร หนองบัวลำภู มุกดาหาร และอีก 4 จังหวัดในภาคอื่นๆ ได้แก่ ราชบุรี กำแพงเพชร อุทัยธานี และนครสวรรค์

ทั้งหมดมีพื้นที่ปลูกหม่อนรวมกันประมาณ 80,000 ไร่การให้ชาวบ้านเอาพันธุ์ไหมไปเลี้ยงและคอยรับซื้อรังไหมจากชาวบ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ต้นทุนสูงขึ้น

"ปัญหาอย่างหนึ่งที่เจอก็คือเลี้ยง รังมาดีๆ แต่สาวไหมไม่ได้ ชาวบ้านอาจ จะมีวิธีการเลี้ยงที่ไม่ดี ดูรังสวยๆ แต่สาวไม่ออก ตรงนี้เป็นต้นทุนมหาศาลเลย เพราะเวลารับซื้อจ่ายในราคาเต็ม ปัญหานี้เป็นเรื่องที่เราต้องคอยตรวจสอบ แก้ไขตลอดเวลา เป็นปัญหาใหญ่ในเมืองไทยเพราะฝนตกบ่อยๆ ทำให้เป็นรังไหมที่มีคุณภาพต่ำต้นทุนสูง" สุรินทร์ ศุภสวัสดิ์พันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

"ซึ่งตรงจุดนี้ชาวบ้านเขาไม่รู้แต่ โรงสาวไหมจะรู้เวลามาส่ง เห็นรังดีๆ ก็เลยให้ราคาดีตรงนี้เราเองยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรหาวิธีศึกษาปัญหาเรื่องนี้มาแล้ว 3 ปี ยังจัดการไม่ได้ ถ้าเราทำเองเลี้ยงเองทั้งหมดจะมีผลผลิตเฉลี่ยแล้วดีกว่าชาวบ้านประมาณ 10% แต่เราเอามาปลูกเองเลี้ยงเองทั้งหมดไม่ได้เพราะต้องใช้คนมหาศาล และต้องใช้พื้นที่เป็นหมื่นไร่ถึงจะเพียงพอ"

นอกจากอาจจะได้รังไหมที่มีปัญหาดังกล่าวแล้ว สุรินทร์ยังบอกว่าบริษัทรับซื้อผลผลิตของชาวบ้านในราคาที่สูงเกินไปเพราะราคาที่ใช้มาตลอด เป็นราคาที่เอาดอกเบี้ยเงินลงทุนเข้าไปด้วย

"ดังนั้นราคารังไหมที่เรารับซื้อจากชาวบ้านกิโลกรัมละ 105 บาท 110 บาทนั้น จริงๆ แล้วมันควรมีราคาประมาณ 50-60 บาทเท่านั้น รัฐบาลเองก็มีกฎหมายควบคุมการนำเข้า หากไม่มีกฎหมายตัวนี้ ราคาอาจจะลดลงเหลือ กิโลกรัมละประมาณ 80 บาทซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมที่สุด"

โรงสาวไหมในฟาร์ม 2 นั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่อีกขั้นหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของบริษัทว่า สามารถสาวไหมคุณภาพดีที่สุดในโลกและมีเส้นไหมได้หลากหลายชนิด

ทุกวันนี้จิม ทอมป์สัน เลยมีเจ้าหน้าที่ทางด้านวิชาการคอยช่วยเหลือให้ข้อมูลใหม่ๆ แก่ชาวบ้านตลอดเวลา รวม ทั้งคอยเก็บรวบรวมปัญหาต่างๆ ในการเลี้ยงเพื่อหาหนทางแก้ไขด้วย

ฟาร์มหม่อนไหมเป็นการลงทุนในระยะยาว ที่ใช้เงินเป็นจำนวนมาก ผู้ค้าผ้าไหมรายอื่นอาจจะไม่เลือกที่จะลงทุนด้วยวิธีนี้ โดยอาจจะตัดตอนด้วยการรับซื้อไหมดิบในประเทศแทน แต่ดูเหมือนว่าจิม ทอมป์สัน จะถอยหลังออกมาไม่ได้แล้วมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วเลิกไม่ได้ ดังนั้นต้องพยายามศึกษาทุกวิธีการเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง

การหารายได้เพิ่มจากพื้นที่ที่ว่าง จากการปลูกหม่อนไหม ในพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่นี้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทจึงได้ปลูกพืชเศรษฐกิจแซมไปทั่วอย่างเช่นขนุน กล้วย รวมทั้งมีการปลูกต้นไม้ประดับขายซึ่งคนที่สนใจซื้อไม้ใหญ่ไปปลูกก็จะติดต่อที่กทม.แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่พามาดูที่ปักธงชัยมีขายทั้งปลีก ส่ง และจัดสวน

นอกจากนั้นกำลังจะทำสวนไม้ประดับขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ตอนนี้กำลังเพาะพันธุ์อยู่ประมาณ 1,000 ชนิด โดยใช้คนงานและเจ้าหน้า ที่ชุดเดิมของฟาร์มหม่อนไหม สุรินทร์กล่าวว่า จิม ทอมป์สันกำลังเรียนแบบบริษัทในญี่ปุ่นรายหนึ่งที่แรกเริ่มเขาก็มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แต่ตอนนี้เขาก็มาเพาะพันธุ์ปลูกไม้ประดับเหมือน กัน

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว บริษัทเลือกพื้นที่ตรงทำเลนี้เป็นฟาร์มหม่อนไหมด้วยเหตุผลที่ว่าอยู่ใกล้โรงงานทอผ้าในตัวอำเภอ ในขณะที่ต้นทุนราคาที่ดินเพียงไร่ละ 1-2 แสนบาทเท่านั้น

แต่ไม่ได้สรุปว่าพื้นที่ตรงนี้ดีที่สุดในการปลูกหม่อน เพราะพื้นที่ทางภาคอีสานนั้นส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ และดินส่วนใหญ่ยังเป็นลูกรัง ทำให้การปลูกหม่อนที่ดี ไม่ใช่จังหวัดในแถบอีสาน พื้นที่ที่ปลูกหม่อนได้ดีตอนนี้คือที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรีที่มีผลผลิตต่อไร่สูง ดังนั้นในพื้นที่ของฟาร์มหม่อนไหมนั้นบริษัทก็ต้องลงทุนในการสร้างแหล่งเก็บน้ำมหาศาล การพัฒนาการในเรื่องการปลูกหม่อนจึงเป็นเรื่องที่กำลังเรียนรู้และหาทางออกเช่นกัน

และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ทดลองปลูกหม่อนด้วยระบบน้ำหยด โดยวิธีนี้ทำให้ต้นหม่อนได้น้ำสม่ำเสมอ และสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล และปลูกได้ชิดกันด้วยจากไร่หนึ่งๆ เคยปลูกได้แค่ 5,000 ต้นก็จะเพิ่มเป็น 20,000 ต้น ขณะที่ฟาร์มหม่อนไหมจะปลูกด้วยระบบนี้ประมาณ 100 ไร่ ส่วนที่เหลือก็ยังเป็นวิธีปลูกด้วยวิธีปกติซึ่งต้องอาศัยน้ำจากธรรมชาติและแหล่งน้ำที่เก็บไว้อย่างเดียว

ระะบบน้ำหยดนี้ ชาวบ้านทั่วไปอาจจะทำไม่ได้ เพราะต้องมีแหล่งน้ำ และต้องเป็นน้ำกรองที่สะอาด นอกจากระบบน้ำหยด จิม ทอมป์สัน กำลังทดลองปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกหม่อน ลอยฟ้าโดยไม่ต้องใช้ดินอีกวิธีหนึ่งด้วย

ทั้งหมดเป็นพัฒนาการเตรียมการที่ล้ำหน้าไปอีกขั้นหนึ่งของจิม ทอมป์ สัน ที่ยากจะมีใครตามได้ทัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.