กว่าจะมาเป็นแม่โขง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

แม่โขงเกิดที่โรงงานสุราบางยี่ขัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในท้องที่แขวงบางปูน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร อันเป็นโรงงานมีประวัติเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาแต่ครั้งเริ่มสร้างกรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยเรียกกันว่ากรุงรัตน โกสินทร์

สุนทร ภู่ บรมจินตกวีของไทยก็ยังเคยเขียนนิราศกล่าวถึงโรงงานสุราบางยี่ขันนี้

"ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง

มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา"

ในสมัยนั้นโรงงานสุราบางยี่ขัน เป็นสมบัติของนายอากร ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ให้ทำการผูกขาดผลิตสุราออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจรวมถึงหัวเมืองที่อยู่ติดต่อใกล้เคียงด้วย

สุราที่ผลิตคงเป็นสุราขาวหรือที่เรียกตามภาษาตลาดว่า เหล้าโรง

ในปีพ.ศ.2457 โรงงานสุราบางยี่ขัน จึงได้ตกมาเป็นสมบัติแผ่นดินโดยบัญญัติของกฎหมายสุรา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ได้เป็นผู้ปกครองดูแลโรงงานนี้ตลอดมา แต่ได้เรียกประมูลเงินผลประโยชน์เข้ารัฐในรูปต่างๆ เช่น เงินพิเศษ เงินค่าปรับเนื่องจากจำหน่ายสุราต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดในสัญญา ฯลฯ แล้วตั้งผู้ประมูล ได้ให้เป็นผู้รับอนุญาตผลิตสุราออกจำหน่าย ภายในเขตที่กำหนดให้เป็นเขต จำหน่ายสุราของโรงงานมา

พ.ศ.2470 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 7 ซึ่งการปกครองยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ครบกำหนดหมดอายุสัญญา อนุญาตให้ต้มกลั่นและจำหน่ายสุรา ซึ่งพระสวามิภักดิ์ภูวนารถเป็นผู้รับอนุญาต คู่สัญญากับกรมสรรพสามิตคนสุดท้าย กรมสรรพสามิตจึงได้ระงับการอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้รับอนุญาตผลิตและจำหน่ายสุรา และกรมสรรพสามิตได้เข้าทำการผลิตสุราที่โรงงานสุราบางยี่ขันเอง แต่การจำหน่ายคงใช้วิธีประมูลเงินผลประโยชน์ตั้งผู้ทำการขายส่งเป็นเขตๆ ไป

สุราที่กรมสรรพสามิตทำการผลิตจำหน่ายยังคงเป็นสุราขาวอยู่ตามเดิม แล้วภายหลังได้ผลิตสุราผสม โดยใช้เครื่องสมุนไพรตามเภสัชตำรับของยาดองเหล้าในครั้ง โบราณสกัด โดยแช่ในสุราดีกรีสูง ทำเป็นน้ำเชื้อ แล้วนำมาปรุงแต่งรส กลิ่น สี และแรงแอลกอฮอล์ตามกรรมวิธีเป็นสุราผสมโดยไม่ผสมกับโซดา ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของประชาชนที่นิยมดื่มยาดองเหล้าแทนสุราขาว

ต่อมากรมสรรพสามิตได้พยา-ยามพัฒนาการทำสุราผสมไปเป็นการทำสุราปรุงพิเศษ โดยค้นคว้าทดลอง สกัดทำน้ำเชื้อที่จะใช้ในการปรุงจากเครื่องสมุนไพรต่างชนิด กับที่ใช้ในการทำสุราผสม และสุราปรุงพิเศษนี้จะดื่มโดยผสมโซดาหรือไม่ผสมโซดาก็ได้ เพราะกำลังมีผู้นิยมดื่มสุราผสมโซดากันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็มีแต่สุราประเภทวิสกี้จากต่างประเทศเท่านั้น ต้องอาศัยเป็นผู้มีรายได้สูงจึงจะดื่มได้เพราะวิสกี้มีราคาแพง ถ้าหากหันมาดื่มสุราปรุงพิเศษของไทยแทนวิสกี้ ก็จะเป็นการประหยัด และไม่สิ้นเปลืองเงินตราต่างประเทศในการสั่งซื้อวิสกี้เข้ามาจำหน่าย

สุราปรุงพิเศษที่กรมสรรพสามิตได้ผลิตจากโรงงานสุราบางยี่ขันออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกคือ สุรา ว.ก. (เรียกแทนวิสกี้) และสุรา บ.ด. (เรียกแทนบรั่นดี)

ต่อมาในไม่ช้าประเทศไทยเรียกร้องดินแดน ที่ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจบีบบังคับเอาไปผนวกเข้ากับประเทศ ในอาณานิคมของตนคืนจากฝรั่งเศส จนเกิดเป็นกรณีพิพาทกันขึ้น และหลวงวิจิทรวาทการ ได้ประพันธ์เพลงปลุกใจคนไทยให้รักชาติและกล้าเข้าสู่สมรภูมิ ดูเหมือนเพลงจะชื่อว่า "ข้ามโขงไปสู่แคว้นแดนไทย" และ "โขงสองฝั่งเหมือน ฝั่งเดียวกัน" อิทธิพลของเพลงจูงใจให้กรมสรรพสามิตตั้งชื่อสุราปรุงพิเศษ 35 ดีกรีที่ได้ผลิตขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2484 ว่า "แม่โขง" อันนับได้ว่าเป็นนามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่ง ณ บัดนี้ นับเวลาได้ 40 ปี ก็ยังคงดำรงอยู่และจะคงดำรงต่อไปชั่วกาลนาน

ในสมัยที่มีการผลิตสุราแม่โขง

ออกสู่ตลาดนั้น น.ต.จบ ศิริไพบูลย์ ร.น. เป็นผู้อำนวยการ โรงงานสุราบางยี่ขัน หลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงงาน และนายประเสริฐ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นพนักงานชั้นหัวหน้าของโรงงาน

เมื่อได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2486 ซึ่งเป็นระยะที่สงคราม โลกครั้งที่ 2 ได้ขยายตัวมาสู่เอเชียบูรพา และประเทศไทยได้เข้าอยู่ในสถานะสงครามด้วย โรงงานสุราบางยี่ขันพร้อม ด้วยโรงงานสุราจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงงานสุราจังหวัดสงขลา ได้ถูกโอนจากกรมสรรพสามิตรวมเป็นโรงงานสุราในกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

หลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงงานสุรากรม โรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2488 แทน น.ต.จบ ศิริไพบูลย์ ร.น. ซึ่งได้ถึงแก่กรรม

นอกจากได้ริเริ่มที่จะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์แผนใหม่ในบางขั้นตอนของการผลิตสุราแม่โขง เป็นการเร่งผลิตทั้งในทางคุณภาพ และปริมาณในขั้นต่อไปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงภาพพจน์ของสุราแม่โขงอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า ได้เปลี่ยนใช้ขวดกลมขาวขนาด 750 ลูกบาศก์เซนติเมตร บรรจุแทนขวดกลมสีเขียวขนาด 625 ลูกบาศก์เซนติเมตร ที่ได้ใช้อยู่เดิม ส่วนฉลากก็เปลี่ยนจากฉลากพื้นขาวลวดลายเขียนอย่างง่ายๆ สีเขียวมาใช้ฉลากพื้นขาวมีคำว่า "แม่โขง" เขียน เป็นลวดลายสีแดง ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของสุราแม่โขงมาจนกระทั่งในปัจจุบัน ปากขวดเดิมใช้ชุบครั่งแดงหุ้มจุก ก็ได้เปลี่ยนใช้แคปซูลตะกั่วผลิตจากโรงกษาปณ์กระทรวงการคลังแทน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโฉมสร้างความน่าดูและความเชื่อถือในคุณภาพให้แก่สุราแม่โขงยิ่งขึ้น

ส่วนประกอบต่างๆ ของสุราแม่โขงนี้ ได้รับการปรับปรุงวิวัฒนาการในสมัยหลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์ เป็นผู้อำนวยการ และในสมัยต่อมาอีกหลายประการ รวมทั้งได้ใช้ขวดแบนสีขาว ขนาด 375 ลูกบาศก์เซนติเมตร และ 187.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร ออกจำหน่ายด้วย

ความต้องการบริโภคสุราแม่โขงได้เพิ่มตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยความขาดแคลนสุราต่างประเทศ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินอยู่ เป็นกำลังกระตุ้นเตือนแต่เมื่อได้หมดภาวะสงคราม มีสุราต่างประเทศ ตกเข้ามามีปริมาณเพิ่มอยู่เรื่อยๆ ความต้องการบริโภคสุราแม่โขงก็คงยังมีเพิ่มขึ้นมากตลอดมา ทำให้การบรรจุสุราลงขวดเพื่อส่งออกจากโรงงานไปเพื่อการจำหน่าย จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลเข้าช่วยนับตั้งแต่ชั้นทำความสะอาดของขวดจนถึงการบรรจุสุราลงขวด จึงได้มีการสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อตั้งเครื่องล้างขวด และบรรจุสุรา และได้ทำการสั่งซื้อเครื่องจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยนายนิตย์ ใบเงิน เป็นผู้อำนวยการโรงงานสุรา แต่ด้วยความจำเป็นบางประการ ได้ระงับการประกอบ ติดตั้งเครื่องซึ่งได้เข้ามาถึงแล้ว

ต่อมารัฐบาลในปีพ.ศ.2502 มีนโยบายให้เอกชนเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันไปทำการผลิตสุราออกจำหน่าย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2503 เป็นต้นไป มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เช่าโดยเสียค่าเช่าปีละ 41 ล้านบาท แล้วภายหลังบริษัทน ี้ได้รับการต่อสัญญาอีก 10 ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2513 โดยเสียค่าเช่าปีละ 55 ล้านบาทกับส่วนแบ่งผลกำไรสุทธิอีกร้อยละ 25

บริษัท สุรามหาราษฎร จำกัดได้เข้าประมูลในปีพ.ศ.2522 ให้เงินค่าสิทธิสูงสุดและได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2523 มีกำหนด 15 ปี

(จากผู้จัดการฉบับเดือนเมษายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.