Tip for the working day (1)

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมเคยเขียนไปแล้วถึงการที่เราควรจะต้องรู้ว่า เราดำเนินชีวิตไปเพื่ออะไร เป้าหมายในชีวิตเป็นอย่างไรการ ดูแลความคิดและสมองควรจะทำอย่างไร คราวนี้เราจะลองมาสำรวจดูว่าแต่ละวันในชีวิตของเราเป็นอย่างไร

ทุกอย่างเริ่มต้นตั้งแต่ ตื่นเช้า เข้าห้องน้ำแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว ทานกาแฟ (หรือข้าวเช้า หากคุณมีแม่บ้านเตรียมให้) เตรียมตัวลูกไปโรงเรียน และขับรถไปส่งที่โรงเรียน (หากคุณแต่ง งานและมีลูกกำลังอยู่ในวัยเรียน) ขับรถ ไปที่ทำงาน คุยกับเพื่อนร่วมงานถึงละครเรื่องโปรดที่ดูเมื่อวาน อ่านหนังสือ พิมพ์สักพักหนึ่ง จากนั้นเริ่มต้นหยิบงานของเมื่อวานมาทำต่อ ถ้าเบื่อก็ลุกเดินไปคุยกับเพื่อนร่วมงานโต๊ะถัดไป หรือไม่ก็โทรศัพท์ไปหาเพื่อนที่อยู่อีกที่หนึ่ง กลับมาทำงานต่อสักพักหนึ่ง ได้เวลาไปกินข้าวเที่ยงกับเพื่อน กินข้าวเสร็จเถลไถลอีกพักหนึ่ง จากนั้นกลับไปเข้าที่ทำงาน คุยกับเพื่อน หรืองีบอีกเล็กน้อย เริ่มงานที่ค้างจากตอนเช้า (ซึ่งก็มักจะเป็นงานที่ค้างจากวันก่อน) ทำได้สักพักหนึ่งได้เวลาพัก เสร็จจากพักก็กลับมาทำงานต่ออีกพักหนึ่ง จากนั้นเตรียมงานที่จะทำต่อพรุ่งนี้ เก็บข้าวของเตรียมกลับบ้าน คุยกับเพื่อนอีกพักหนึ่งก็ได้เวลากลับบ้าน

ไปถึงบ้านนั่งดูทีวีสักพัก ทานข้าว (หากคุณมีแม่บ้าน และไม่ต้องเตรียมอาหารเอง) ดูลูกทำการบ้าน ดูทีวีต่อ อาบน้ำเตรียมตัวเข้านอนเพื่อไปทำงานในวันรุ่งขึ้น

ผมเชื่อว่าหากชีวิตประจำวันของคุณผู้อ่านไม่เหมือนแบบนี้ ก็คงไม่ต่างไปมากนัก บ่อยครั้งที่เราเริ่มต้นวันใหม่แต่ละวันโดยการทำตามสิ่งที่ทำเป็นประจำในแต่ละวันโดยอัตโนมัติ พูดง่ายๆ คือ ทำแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก สมมุติว่าคุณลองคิดทบทวนดู อะไรจะเกิดขึ้น

เราจะพบว่า เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเหนื่อยน้อยลง รวมไปถึงทำงานได้ยาวนานขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนเรามักจะคิดถึงสุขภาพเป็นอันดับแรก จากที่เคยคิดเป็นอันดับสุดท้าย หรือไม่เคยคิดถึงเลยหลังจากที่เขาเริ่มรู้ตัวว่าป่วย คนที่คิดถึงงานเป็นอันดับแรกนั้น และเก็บสุขภาพไว้หลังสุด ไม่สนใจดูแลสุขภาพส่วนตัวนั้น พอถึงวัยสี่สิบกว่า มักจะประสบกับปัญหาสุขภาพ ร่างกายไม่ฟิตเหมือนตอนหนุ่มๆ เจ็บป่วยบ่อย และความคิดอ่านไม่เฉียบคมเหมือนแต่ก่อน และที่สำคัญคือไม่มีโอกาสหาความสุขใส่ตนเอง เหมือนคนที่สุขภาพแข็งแรง

แล้วจะดูแลสุขภาพของตนเองอย่างไร

การตรวจสุขภาพประจำปีคงเป็น เรื่องที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว จากประสบการณ์ของเพื่อนๆ หลายคน ผมคิดว่า เมื่ออายุสามสิบห้าปีขึ้นไป คุณควรจะเริ่มสนใจกับการตรวจสุขภาพ เพราะโดยส่วนใหญ่โรคภัยไข้เจ็บมักจะเริ่มมาแวะเวียนถามหา

อาหาร แน่นอนว่าเราทราบกันดีถึงอาหารที่มีประโยชน์ และโทษกับร่างกาย แต่บ่อยครั้งที่เรากินตามใจปาก หรือความสะดวกมากกว่าการคำนึงถึงสุขภาพ การรับประทานอาหารชีวจิต อาหารเสริมต่างๆ หรือวิตามินและแอน-ตี้ออกซิแดนท์ทั้งหลายก็คงขึ้นกับความเชื่อและความสามารถของคุณ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยหลายๆ ชิ้น คือ การรับประทานมัง- สะวิรัติมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพ พูดอีกแง่หนึ่งคือ ทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และทานผักผลไม้ให้มากขึ้น น่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง พบว่าคนที่อายุเกินร้อยปีขึ้นไปมักจะรับประทานอาหารไม่มากนัก พูดอีกทีก็คือไม่ทานจนอิ่มเกินไป

การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี งานวิจัยจำนวนมากรายงานว่า คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกายมักจะเหนื่อยล้ากับการทำงานง่าย ทนต่อความเครียดได้ต่ำ และไม่ค่อยเฉียบคมในความคิด แต่การออกมากเกินไป หรือหนักเกินไปก็มีผลเสียต่อสุขภาพ พบว่าการออกกำลัง กายแบบรุนแรงมาก หรือออกจนเหนื่อย มากทำให้ร่างกายผลิตสารพวกอนุมูลอิสระ ซึ่งสารเหล่านี้จะเป็นตัวทำลายเซลล์ ในร่างกาย หลักการออกกำลังกายที่ถูกต้องคือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่ออกรุนแรงมากจนเกินไป

จากเรื่องสุขภาพซึ่งคงว่ากันได้อีกมาก แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของบทความนี้ และผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงจะสามารถอ่านได้จากหนังสือทั่วไปที่มีขายกันอยู่ในท้องตลาด สิ่งที่ผมอยาก จะกล่าวถึงในคราวนี้ คือ หากสิ่งที่ผมกล่าวในตอนต้นเป็นสิ่งที่ท่านผู้อ่านทำเป็นประจำในแต่ละวันอยู่แล้ว เราลองมาเปลี่ยนทำในแบบใหม่ตามคำแนะนำของ นายเรโนลต์ ผู้เขียนหนังสือ เล่มบางๆ ที่น่าสนใจ ชื่อ When they zig you zag

อันดับแรกเลย ก่อนนอนลองคิดและวางแผนดูว่าพรุ่งนี้คุณจะทำอะไรบ้างที่ทำงาน เพราะหากไม่คิดล่วง หน้าไว้ ลงท้ายก็คือ การสะสางงานที่ค้างของเมื่อวันก่อน

ประการต่อมา หากคุณใช้นาฬิ-กาปลุกทุกเช้า แล้วมักจะมีปัญหาว่านาฬิกาปลุกแล้วไม่ค่อยจะตื่น ลองเปลี่ยนตำแหน่งที่วางนาฬิกา แทนที่จะวางไว้หัวเตียงที่เอื้อมมือถึง ลองวางไว้ตำแหน่งที่ห่างออกไปจนเอื้อมมือไม่ถึง

ตั้งนาฬิกาให้เร็วไว้สักนาที คุณจะพบว่าคุณไม่ต้องรีบร้อนกับสิ่งต่างๆ และหากคุณสามารถทำได้ตามเวลา การไปถึงก่อนเวลานัดหมายย่อมทำให้คนที่คุณนัดหมายด้วยรู้สึกดีกับตัวคุณ

เริ่มทำงานที่สำคัญที่สุดก่อน บ่อยครั้งที่เรามักจะไปเสียเวลากับสิ่งที่ปลีกย่อย และไม่มีความสำคัญ โดยปล่อยให้งานที่สำคัญยังคงคั่งค้างอยู่ หลักง่ายๆ คือ ลองจดว่าอะไรที่สำคัญที่สุด แล้วไล่เรียงลงมาตามลำดับ

หากมีงานปลีกย่อยที่ไม่สำคัญ รีบทำให้เสร็จ เพราะสิ่งปลีกย่อยก็คือสิ่งที่ไม่สำคัญอะไรมาก การไปเสียเวลา กับมันมากย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร

เวลาสำหรับอาหารกลางวันไม่ควรเกิน 20 นาที เวลาขนาดนี้พอสำหรับการพัก และสั้นเกินกว่าที่คุณจะหลุดออกจากการทำงาน หากคุณใช้เวลานานกว่านี้คุณจะพบว่า คุณไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะทำงานต่อ

ลองทำงานเงียบๆ โดยไม่มีใคร กวนสักสองหรือสามชั่วโมง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในช่วงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่คนเรามักจะแจ่มใสมากที่สุด หากคุณอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำได้ คุณจะพบว่าในช่วงที่คุณสามารถทำงานได้โดย ไม่มีใครรบกวน แม้แต่โทรศัพท์ คุณ จะได้ผลงานต่างจากที่เคยทำมาก่อน มากมายทีเดียว

มีเวลาสักครึ่งชั่วโมงในการครุ่นคิดสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือชีวิต โดยส่วนใหญ่เรามักจะปล่อยให้ชีวิตไหลเลื่อน ไปโดยไม่มีเวลาคิด และกำหนดด้วย ตัวของเราเอง

ใช้เวลากับโทรศัพท์ส่วนตัวให้น้อยลง หรือหากไม่จำเป็นลองโทรก่อน หรือหลังเลิกงาน เราไม่ได้เสียไปเฉพาะกับการโทรศัพท์เท่านั้น แต่สมาธิในการทำงานก็เสียไปด้วยเช่นกัน

ไม่ควรทำงานมากเกินไปหาก เวลาที่คุณใช้กับงานมากเกินไป ถ้าไม่เป็นเพราะคุณใช้เวลากับงานที่ไม่จำเป็นมากไป ก็มักจะเป็นเพราะในแต่ละวันคุณเสียเวลากับการประชุม และการเดินทางมากเกินไป ลองลดสิ่งเหล่านี้ดู แล้วคุณจะพบว่า เวลามีมากขึ้น และคุณไม่จำเป็นต้องทำงานจนดึก

ลองลดการเข้าสังคมที่ไม่จำเป็นลงบ้าง บ่อยครั้งที่เวลามักจะหมดไปกับการดื่ม เที่ยว หรือนั่งซุบซิบถึงการเมืองในที่ทำงาน

และท้ายที่สุด ออกจากที่ทำงานเร็วหากคุณไม่สามารถทำงานได้ คนส่วนใหญ่มักจะทนอยู่ที่ทำงานทั้งๆ ที่ทำอะไรไม่ได้ เพราะกลัวถูกเพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านายมองว่าขี้เกียจ ที่จริงแล้วหากคุณทำงานที่บ้าน ได้ดีกว่าที่ทำงาน จงกลับบ้านแล้วไปนั่งทำงานในสถานที่ที่คุณทำแล้วมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ลองเปลี่ยนสิ่งที่คุณทำเป็นประจำในแต่ละวัน ตามข้อแนะนำเหล่านี้ แล้วคุณจะพบว่า คุณทำงาน และใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลา 24 ชั่วโมงที่มีอยู่เท่าเดิม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.