เช็คสุขภาพเอเชีย ก่อนสหัสวรรษใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

World Economic Forum สถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการ แข่งขันแต่ละประเทศทั่วโลก ได้สะท้อน ภาพประเทศเอเชีย ประเทศสมาชิกอาเซียนบางแห่ง สามารถรักษาฝีไม้ลายมือการบริหารเศรษฐกิจของตน ได้อย่างเฉียบขาด ขณะที่บางประเทศกลับถูกค้นพบว่าหมดเขี้ยวเล็บ

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เปรียบเสมือนบทพิสูจน์ความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐ กิจในช่วงที่ผ่านมาของแต่ละประเทศ อีกทั้งเป็นการวัดฝีมือผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจด้วย ว่าจะฉุดให้เศรษฐกิจผ่านพ้นจากความเลวร้ายไปได้อย่างรวดเร็วเพียงใด ปัจจุบันเศรษฐกิจเอเชียมีทิศทางสดใสขึ้น แรงผลักดันสำคัญคือ การใช้จ่ายภาครัฐของแทบทุกประเทศที่อัดฉีดหล่อลื่นให้กลไกเศรษฐกิจเริ่มหมุน เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจเอกชนฟื้นตัวเป็นปกติ โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจ เอเชียดีขึ้น แต่ขณะนี้การค้าแบบไร้ พรมแดนมีความยุ่งยากซับซ้อน ประเทศ ที่ยืนหยัดและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดโลกได้หนีไม่พ้นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับลด ต้นทุน ปรับปรุงคุณภาพ ตลอดจนการให้บริการลูกค้าอย่างซื่อสัตย์และตรงเวลา

สิงคโปร์-ฮ่องกง-ไต้หวัน : เข้มแข็ง

ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ จำนวน 59 ประเทศ โดย World Economic Forum ปรากฏว่า สิงคโปร์ รั้งอันดับ 1 (แชมป์ 4 สมัย) ในฐานะประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดประจำปี 2542

สิงคโปร์มีขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือชั้นกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐบาล วิสัยทัศน์กว้างไกลและโปร่งใส คุณภาพการศึกษา ตลาดแรงงานยืดหยุ่นตอบสนองธุรกิจได้ทุกประเภท การค้าคล่องตัวเน้นแข่งขันเสรี อีกทั้งยังได้ชื่อว่ามีอัตราการออมและอัตราการลงทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสัดส่วนการออมของภาครัฐต่อผลิต ภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้สิงคโปร์สามารถรักษาศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลกไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ด้านฮ่องกง แม้จะโดนพิษเศรษฐกิจเอเชียเล่นงานอย่างแสนสาหัส แต่สามารถยืนหยัดคว้าอันดับ 3 ได้สำเร็จ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฮ่องกงมีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ในเกณฑ์สูง คือ นโยบายการเปิดเสรีทางการค้าและธุรกิจ เอกชนมีอิสระและบทบาทสำคัญในธุรกิจ ปลอดการแทรกแซงจากรัฐบาล ทำให้การบริหารจัดการธุรกิจมีประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่ไต้หวันได้วางกลยุทธ์ที่เกื้อหนุนธุรกิจเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างทั่วถึงทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่ง ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไต้หวันสูงถึง 95,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอัน ดับ 3 ของโลก รองจากญี่ปุ่น และจีน ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ขยับฐานะความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันรั้งอันดับ 4 ของการจัดอันดับครั้งนี้

ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ : อ่อนแอ

กลุ่มประเทศที่เข้าโปรแกรมความ ช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ล้วนมีฐานะย่ำแย่ลงถ้วนหน้า โดยเฉพาะไทย ขีดความสามารถในการแข่งขันถอยหลังเข้าคลอง 4 ปีซ้อน จากอันดับ 14 ในปี 2539 ร่วงลงมาอยู่อันดับ 30 ในปีนี้ ส่วนเกาหลีใต้และอินโดนีเซียถูกลดอันดับลงเช่นกันในปัจจุบัน ขีดความสามารถในการแข่งขัน ของเกาหลีใต้จัดอยู่อันดับ 22 เทียบกับอันดับ 19 ในปี 2541 และอินโดนีเซีย อยู่อันดับ 37 ในปีนี้ เทียบกับอันดับ 31 ในปี 2541 ส่วนเวียดนาม หล่นลง 9 อันดับ โดยปีนี้รั้งอันดับ 48

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤต แต่สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กลับรักษาอันดับความสามารถในการแข่งขันของตนไว้ได้เท่าเดิม โดยเฉพาะ มาเลเซีย มีฐานะสูงขึ้นจากเดิม 1 ตำแหน่งเป็นอันดับ 16 ในปีนี้

World Economic Forum ชี้จุดบอดของชาติเอเชียที่ฉุดให้เศรษฐกิจตกต่ำและความสามารถในการแข่งขันถดถอย ประการแรก คือ เงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศมีจำนวนมาก และจัดเป็นหนี้เสียที่อันตรายถ้าการบริหารมีความหย่อนยาน ซึ่งดัชนีพื้นฐานสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ความมั่นคงฐานะการเงินของประเทศ ได้แก่ สัดส่วนหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นต่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ (debt-reserve ratio)

กรณี ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ล้วนมีสัดส่วนยอดหนี้ดังกล่าว สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ได้ก่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมากกว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศถึง 2 เท่า ส่วนไทยมีสัดส่วนดังกล่าวราว 1.2 เท่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤตค่าเงินบาท

ประเทศเหล่านี้ล้วนขาดประสิทธิ ภาพในการบริหารเงินกู้ โดยเฉพาะการนำเงินกู้ยืมระยะสั้นจากต่างประเทศไปใช้ในโครงการลงทุนระยะยาว ซึ่งระยะเวลาคืนทุนนานมาก เมื่อเกิดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถชำระ คืนเงินกู้ระยะสั้นได้ ขณะที่ประเทศเจ้าหนี้พยายามเร่งเรียกหนี้คืน เพราะไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจของประเทศลูกหนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ และลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียมาจนทุกวันนี้

ส่วนประเทศอาเซียนอื่นๆ อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มีสัดส่วน debt-reserve ratio อยู่ในระดับที่ต่ำ เพราะจำนวนหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นมีไม่มากเมื่อเทียบกับทุนสำรองของประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจจะได้รับความเสียหายตามประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทั้งสองแทบไม่มีปัญหาในการชำระหนี้คืน

ไทย ขณะนี้เริ่มหายใจคล่องเมื่อสัดส่วน debt-reserve ratio ปรับลดลงเหลือ 0.64 เท่าเทียบกับสัดส่วน 1.2 เท่าในปี 2540 เนื่องจากหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นของไทยค่อยๆ ชะลอตัวลงเหลือประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนประมาณ 30,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ กลางเดือนสิงหาคม 2542

ประการต่อมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล่าช้า โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ให้เจริญรุดหน้าในยุคเศรษฐกิจไร้พรมแดน ไทยยังคงเป็นรองเพื่อนบ้านหลายประเทศในการกระจายและเชื่อมโยงระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ พิจารณาจากจำนวนผู้ให้บริการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตกับต่างประเทศ ปรากฏว่าจำนวนผู้ให้บริการดังกล่าวเฉลี่ยต่อประชากร 1,000 คน ของคนไทยยังน้อยกว่าจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ทั้งนี้ ไทยมีฐานะดีกว่าประเทศ เอเชียด้วยกันเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย

นอกจากนี้ การกระจายระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจำเป็นต้องอาศัยโครงข่ายการให้บริการโทรศัพท์ที่กระจาย อย่างทั่วถึงในแต่ละประเทศ ประกอบกับความนิยมในการใช้เครื่องคอมพิว- เตอร์ในหมู่ประชาชนด้วย ปัจจุบัน สัดส่วนจำนวนประชากรเฉลี่ยของไทยต่อคู่สายโทรศัพท์หนาแน่นกว่าหลายประเทศในเอเชีย โดยมีสัดส่วนจำนวนประชากรเฉลี่ย 12.6 คนต่อ 1 คู่สายโทรศัพท์ เทียบกับสัดส่วนเฉลี่ยของมาเลเซีย 5.1 คนต่อ 1 คู่สาย เกาหลีใต้ 2.1 คนต่อคู่สาย สิงคโปร์ 2 คนต่อคู่สาย ไต้หวัน 1.9 คนต่อคู่สาย ฮ่องกงและญี่ปุ่น 1.5 คนต่อคู่สาย ทำให้การใช้บริการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ตในไทยยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาด้านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) และการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ไปโดยปริยาย

แม้กระทั่ง ความประพฤติมิชอบในแวดวงราชการ เป็นจุดบอดที่ส่งผลกระเทือนต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชั่นและการฉ้อฉลที่ระบาด ในวงราชการและองค์กรของรัฐ นับเป็นภัยเงียบที่กัดเซาะความสามารถในการแข่งขันอย่างมาก กระบวนการทำงานของรัฐที่ไม่โปร่งใส ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นที่ต้องบวกค่าธรรม เนียมพิเศษดังกล่าวเพิ่มเติมรวมไปกับวงเงินลงทุนปกติ ประเทศเอเชียที่ติดอยู่ในข่ายปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรง ได้แก่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม

สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการคอร์รัปชั่น สูงสุด 20 อันดับแรก จากการจัดอันดับ ของ World Economic Forum แต่กรณีที่มีการร้องเรียนว่าเกิดการทุจริตและฉ้อฉลในวงราชการได้ถูกเปิดโปงออกมาเป็นระยะๆ น่าจะกระตุ้นให้ทางการรีบจัดการสืบสวนหาข้อเท็จจริง และลงโทษผู้กระทำผิด เพราะที่ผ่านๆ มาแทบทุกกรณีกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งหายเงียบไปในที่สุด

นอกจากนี้ การเลี่ยงภาษียังเป็น การฉ้อโกงประเทศชาติโดยตรง นับเป็นปัจจัยหน่วงเหนี่ยวการพัฒนาประเทศ เนื่องจากจำนวนรายได้ของประเทศที่ควรได้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ หดหายไป กลุ่มประเทศที่มีอัตราการเลี่ยงภาษีค่อนข้างสูงในเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย

ส่วนประเทศที่มีอัตราการหลบเลี่ยงภาษีในระดับต่ำ ได้แก่ มาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้วางระบบการจัดเก็บภาษีอย่างรัดกุม และมีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการชำระภาษีที่เข้มงวดอย่างมาก

แนวทางการพัฒนาประเทศสู่สหัสวรรษที่ 3 ของประเทศในเอเชีย ที่ครอบคลุมการพัฒนาอย่างเป็นระบบและครบวงจร หากสามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง เมื่อผนวกกับการเอาใจใส่เร่งปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันทางการค้า เสริมสมรรถนะในการขยายตลาดส่งออกหลัก มุ่งเจาะตลาดการค้าใหม่ๆ ยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิต คิดค้นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแก่สินค้า โดยเน้น คุณภาพ เป็นตัวชูโรงทั้งในการรักษาตลาดดั้งเดิมและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม น่าจะช่วยฟื้นฟูขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.