ธุรกิจเรือสำราญ ที่เจ้าของอาจจะไม่สำราญ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ที่ผ่านมา พิชิต กุลเกียรติเดช ประธานบริษัท ควีนแมรี่ ได้จัดงานฉลองครบรอบ 10 ปี และเปิดตัวเรือลำใหม่ "เพิร์ลออฟสยาม" ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว โฆษณาเรือลำใหม่ของเขาก็ปรากฏโฉมขึ้น ในช่วงไพร์มไทม์หลังข่าว 2 ทุ่มครึ่งช่อง 5

เป็นการลงทุนเพื่อก้าวใหม่ในธุรกิจเดินเรือสำราญอีกครั้งหนึ่งของเขา ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มนั้นมีเพียงไม่กี่คนหรอกที่รู้ว่าเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนหลังจากเริ่มธุรกิจนี้ได้เพียงไม่นานเรียกได้ว่าต่อเรือลำแรกยังไม่ทันเสร็จ เขาก็แทบสิ้นเนื้อประดาตัวหนี้สินรุงรังจนแทบหมดกำลังใจในการทำงาน แต่เมื่อได้ตั้งสติ และค่อยๆ แก้ปัญหาด้วยความอดทน ทำให้เขามีวันนี้ขึ้นมาจนได้

พิชิตมาจากครอบครัวคนจีนที่ทำโรงงานทอผ้าอยู่ในย่านถนนเจริญกรุง เขาเองก็เรียนมาทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอจากไต้หวัน กลับมาช่วยทำงานกับทางบ้านประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นก็ไปเปิดร้านขายของที่ระลึกให้พวกนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มชาวไต้หวันจนอายุประมาณ 34 ปีก็สามารถเก็บเงินทุน สะสมไว้ก้อนหนึ่ง มาทำธุรกิจเรือสำราญ ล่องในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ความมั่นใจว่าธรรมชาติของแม่น้ำเจ้าพระยายังเป็นจุดขายที่สำคัญได้แน่นอน

ถึงแม้จะมีประสบการณ์ที่คลุก คลีอยู่กับบรรดานักท่องเที่ยวและบริษัท ทัวร์มานานกว่า 10 ปี แต่พิชิตก็ยังขาด ความรู้ในเรื่องเรือสำราญอย่างมาก ปัญหาต่างๆ ที่ตามมาอย่างต่อเนื่องหลังจากเริ่มงานไม่นานนัก เป็นประสบการณ์ การทำธุรกิจครั้งสำคัญของเขา

อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับงานใหม่ครั้งนี้ของเขาคือขาดความรู้ในเรื่องการก่อสร้าง เรื่องเครื่องเทคนิค เครื่องยนต์ ต่างๆ ในเรือ ซึ่งกว่าจะหาช่างที่ชำนาญแต่ละด้านมาได้ ทำเอาเรือลำแรกของเขา ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 3 ปีเศษถึงจะเสร็จสมบูรณ์ หลังจากแก้ไขแล้วหลายครั้ง ในขณะที่เวลาที่กำหนดไว้ประมาณปีครึ่งเท่านั้น

เวลาที่บานปลายออกไปทำให้เกิด ปัญหาเรื่องเงินตามมาทันที เงินตัวเองที่สะสมไว้ก็หมดเงินที่กู้ยืมแบงก์มาก็หมด และที่สำคัญเมื่อเรือพร้อมที่จะให้บริการ ก็ปรากฏว่าไม่มีลูกค้ามากเท่า ที่ควร ความอ่อนหัดในเรื่องการบริหารธุรกิจเรือสำราญ ทำให้ในช่วงเวลา 2 ปีแรกเขาขาดทุนรวมเป็นเงินและดอกเบี้ย ประมาณ 30 ล้านบาท

"เป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดที่สุด แต่ ละวันแทนที่จะได้คิดเรื่องงาน ทำเรื่องการตลาด ต้องคอยหลบบรรดาซัปพลาย เออร์ ที่เราค้างหนี้เขาอยู่ บุคลากรก็ทวงเงินเดือนไม่ยอมทำงานจะลาออก แบงก์เองก็ทวงหนี้เข้ามาทุกวันตอนนั้นผมเองก็คิดว่าไม่เอาแล้วล่ะยอมแพ้ ใครจะมาทำอะไรก็เชิญ" พิชิตเล่าย้อนวันในอดีตให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แต่ในที่สุดมีอยู่วันหนึ่งที่เขาตั้งสติได้ แล้วคิดว่าจะลองต่อสู้กับอุป-สรรคต่างๆ อีกครั้งเมื่อเกิดความ "ฮึด" ขึ้นมาอย่างแรกก็คือเข้าหาเจ้าหนี้โดยตก ลงและขอโอกาสแก้ตัวใหม่ หลังจากนั้นเขาก็มีเวลากลับไปลุยเรื่องการตลาดเองอีกครั้ง โดยเริ่มจากไปหาเพื่อนฝูงคนเก่าๆ พิชิตใช้เวลาถึง 2 ปี ถึงจะตั้งตัวติด

ในปี 2539 พิชิตถึงได้ตัดใจสร้าง เรือขึ้นอีกลำหนึ่งเป็น เพิร์ลออฟสยาม 2 เรือลำนี้ตัวเรือเป็นเหล็ก มีห้องไดนิ่งรูมและหัวเรือวีไอพี จุแขกได้ประมาณ 100 ที่นั่ง และเมื่อปีที่แล้วถึงแม้เศรษฐ-กิจจะตกต่ำซึ่งสวนทางกับธุรกิจท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นทำให้เขาเตรียมเปิดตัวเพิร์ลออฟสยาม 3 เป็นลำ ที่ 3 ขึ้น ตัวเรือยาว 29 เมตร ชั้นล่างและชั้นบนจุแขกได้ประมาณ 145 ที่นั่ง

ซึ่งการที่มีเรือมากลำนั้นจะเป็น การได้เปรียบในการบริหารงานอย่างมาก เพราะเรือลำใดเสียจะได้มีเรือสำรองได้ทัน

เรือทั้ง 3 ลำของเพิร์ลออฟสยาม มูลค่าประมาณ 90 ล้านบาท แขกส่วนใหญ่ของเพิร์ลออฟสยามจะเป็นชาว ยุโรป และญี่ปุ่น และลูกค้าคนไทย ที่จะมาจากบริษัททัวร์ 80% ที่เหลือคือบริษัทห้างร้านต่างๆ หรือคนทั่วๆ ไป

ความมุมานะ และตั้งใจจริงในการทำงาน เป็นสิ่งสำคัญที่ให้พิชิตประสบความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่งแต่ ในอนาคตนั้นพิชิตบอกว่าเขายังหยุดนิ่งไม่ได้ เพราะธุรกิจเรือสำราญนั้น หาเงิน ทุนสนับสนุนยากสถาบันการเงินจะไม่มีการปล่อยกู้เลย ท่าเทียบเรือที่จะหาเช่าก็ยากมาก บุคลากรที่จะมาร่วมงาน เช่น ช่างเครื่อง กัปตันเรือ ซึ่งเป็นอาชีพเฉพาะ ที่ค่อนข้างหาบุคลากรได้ยาก

นอกจากนั้นในปัจจุบันคู่แข่งก็มากขึ้นด้วย การแก่งแย่งกันรับลูกค้าบริษัททัวร์ เป็นไปอย่างดุเดือด ทางเดียว ที่ต้องทำในตอนนี้คือบริษัทจะต้องสะสม ประสิทธิภาพในการทำงานให้เข้มแข็งเพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้ในวันข้างหน้า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.