ลอเรน ฮานห์ "ทำงานด้วยใจรัก"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

สาวเอเชียหน้าหวานคนนี้ คนที่ไม่รู้ประวัติจะดูไม่ออกแน่ว่าสัญชาติใดกัน เธอเป็นผู้ประกาศข่าวรายการบิซ เอเชียของซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งออกอากาศสดทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 17.30-18.00 น.และเวลา 19.30-20.00 น. เป็นรายการที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ องค์กรธุรกิจและข่าวการเมือง ที่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจในเอเชียและทั่วโลก ซึ่งในต้นเดือนตุลาคมนี้เธอจะเดินทางเข้ามาสัมภาษณ์ นายกฯชวน หลีกภัย ผู้ว่าแบงก์ชาติ ประธานก.ล.ต. ผู้บริหารธุรกิจไทยรายใหญ่ เป็นการรายงานพิเศษข่าวการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในทัศนะของผู้นำเหล่านี้

ลอเรนเกิดที่สิงคโปร์ บิดาเป็นคนเกาหลี มารดามีหลายเชื้อชาติ(จีน, ลาว, ไทย และไอริช) เธอย้ายไปอยู่แวน คูเวอร์ แคนาดาและจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจและวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบียในแวนคูเวอร์

เธอพูดถึงสายงานอาชีพที่เธอจับพลัดจับผลูเข้ามาทำโดยไม่ได้ตั้งใจว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก ไม่ใช่ว่าชวนหลงใหลได้ปลื้มอย่างที่หลายคนคิดเมื่อเห็นผู้ประกาศข่าวหน้าใสทางจอโทรทัศน์ จริงๆ แล้วมันมีงานหนักเบื้องหลังจำนวนมากที่ต้องทำ งานวิจัย งานเก็บรวบรวมข่าว การตัดสินใจดำเนินงาน เธอใช้เวลาหลังจอนานมากกว่าที่จะให้ได้งานออกมาทางหน้าจอเพียงแค่ไม่กี่นาทีหรือกี่วินาที รายการโทรทัศน์เป็นอย่างนั้น

เธอไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้นในการเข้ามาทำหน้าที่นี้ เธอเพียงแต่เดินหน้าทำและเรียนรู้จากงาน มีผู้ที่อยู่ในวงการจำนวนมากที่จบปริญญาทางนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์มาโดยตรง แต่เธอไม่ใช่ เธอกล่าวถึงโครงการ "Young Journalist Award" ซึ่งเธอเดินทางมาเป็น Presentor ให้ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ได้สัมผัสประสบการณ์จริงด้านการผลิตข่าวโทรทัศน์กับซีเอ็นเอ็นและยูบีซี "โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก มันเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาเหล่านี้สามารถ เรียนรู้งานข่าวโทรทัศน์ ทำให้พวกเขารู้ว่าเขาชอบหรือไม่ และอาจจะเปลี่ยนใจได้ มันไม่เหมือนกับดิฉันที่เข้ามาทำแล้ว ชอบหรือไม่ชอบก็มีแต่ต้องเดินหน้าทำต่อไป โครงการนี้ช่วยให้พวกเขารู้ว่ามันมีงานที่ยากและหนักมากเบื้องหลังรายการต่างๆ อย่างไรบ้าง"

โครงการ Young Journalist Award ริเริ่มในประเทศไทย และกำลังขยับขยายไปในไต้หวันเป็นแห่งที่สอง โดยคาดว่าจะเป็นต้นปีหน้า ผู้สนับสนุนสำคัญของโครงการนี้คือ ซีเอ็นเอ็น ยู-บีซี และนิตยสารไทม์ ซึ่งเพิ่งเข้าร่วมในปีนี้

ลอเรนกล่าวว่า "ผู้ที่ได้รับทุนฝึกงาน จะได้ไปศึกษางานผลิตข่าวทั้งในสาขาสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์จากประสบการณ์จริง ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาทักษะอาชีพต่อไปในอนาคต การได้ฝึกงานกับซีเอ็นเอ็นจะช่วยให้ได้เรียนรู้ถึงการรายงานข่าวด่วนทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น และเข้าใจความสำคัญของสคริปต์รายการข่าวและการผลิตข่าวทางโทรทัศน์"

"ดิฉันคิดว่าคงไม่มีการเตรียมที่จะเป็นผู้ประกาศใดๆ ดีไปกว่าที่ว่าคุณต้องมีความรักในการที่จะทำงานอาชีพนี้ หากคุณไม่ชอบ ไม่รักที่จะทำละก็ คุณก็ไม่อาจอยู่กับมันได้"เธอกล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอทำงานในวงการสื่อสาร มวลชนมานานกว่า 10 ปี

ลอเรนเริ่มงานในวงการนี้เป็นครั้งแรกกับสถานีวิทยุเอกชนรายเดียวของฮ่องกง นั่นคือ คอมเมอร์เชียล

บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเธอลองสมัครงานดูในช่วงที่เธอมาเที่ยวที่ฮ่องกง เธอผ่านการสอบทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์แล้วก็ได้งานเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุด้วยสัญญาจ้าง 2 ปี ซึ่งบิดามารดาเธอก็ให้เธอทดลองทำดู

เธอเป็นนักข่าวที่คร่ำหวอดอยู่กับแวดวงธุรกิจ เริ่มงานกับซีเอ็นเอ็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2541 โดยก่อนหน้านั้นลอเรนทำงานกับซีเอ็นบีซี/เอ็นบีซี เอเชียแปซิฟิก โดยจัดรายการที่มีชื่อเสียงมากของสถานีดังกล่าวคือรายการ บิซซิเนส ทูไนท์, เดอะ วินเนอร์, ทอล์ค ออฟ เอเชีย และเอ็นบีซี เอเชีย อีฟนิ่ง นิวส์ นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้รับผิดชอบข่าวการส่งเกาะฮ่องกงคืนแก่จีนเมื่อปี 2540 ด้วย

ก่อนร่วมงานกับซีเอ็นบีซีในเดือน มีนาคม 2538 ลอเรนเป็นโปรดิวเซอร์อาวุโสและผู้ประกาศข่าวให้ ทีวีบี ในฮ่องกง เธอเป็นผู้บุกเบิกรายการข่าวภาษาอังกฤษซึ่งเป็นเรื่องราวของจีนให้กับทีวีบีเป็นครั้งแรก ในช่วงปี 2534-35 เธอเป็นบรรณาธิการข่าวการเงินให้กับ เมโทร บรอดคาสติ้ง ซึ่งเป็นสถานีวิทยุ 24 ชั่วโมงสถานีแรกของฮ่องกง เธอเข้าสู่วงการโทรทัศน์เมื่อปี 2531 ในตำแหน่ง ผู้สื่อข่าวอาวุโสและผู้ประกาศข่าวทั่วไป และข่าวการเงินของทีวีบี จากนั้นเปลี่ยน มาทำรายการ ไฟแนนเชียล รีพอร์ท รายงานข่าวการเงินเป็นภาษาอังกฤษ

เนื่องจากงานที่เธอทำย่อมมีความ เครียดอยู่มาก แม้จะเป็นการรายงานข่าวเรื่องของคนอื่นๆ ที่อยู่ไกลตัวทั้งสิ้น แต่ในข่าวส่วนมากเธอจะพบแง่มุมที่เป็นเรื่องเศร้าของชีวิตมนุษย์เสียมาก เธอมีวิธีการผ่อนคลายโดยเล่นกับสุนัขที่บ้านพัก ซึ่งเธอเลี้ยงไว้ 2 ตัว "การเล่น กับมันช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้มาก ลดความกังวลใจต่างๆ นานาลงได้ นอกจากนี้ก็ไปเจอเพื่อน ดูภาพยนตร์ อ่านหนังสือ เล่นสควอทช์ ว่าย น้ำ และขี่ม้าซึ่งส่วนมากจะทำได้ในแคนาดา"

แม้ว่าแง่มุมข่าวส่วนมากที่เธอเห็นจะเป็นเรื่องน่าเศร้าของมนุษย์ เป็นเคราะห์จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่มันก็ยังมีส่วนดีในวิชาชีพนี้คือเธอได้พบปะผู้คนมากมาย เรียนรู้สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ตลอดเวลา ได้แง่คิดจากคำพูดของคนจากเรื่องราวของผู้คน ซึ่งคนทั่วไปไม่มีประสบการณ์เช่นนี้เหมือนคนที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชน

เธอให้ความเห็นเกี่ยวกับวงการสื่อสารมวลชนเอเชียว่าในสมัยนี้สื่อมวล ชนเอเชียได้รับการยอมรับนับถือมากขึ้น มีนักหนังสือพิมพ์เอเชียที่ได้เสนอราย งานข่าวสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ แมกกาซีนหรือหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้รัฐบาลของภูมิภาคนี้ก็ตระหนักเห็นความ สำคัญของสื่อ ไม่มีใครสามารถปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชนได้ หากรัฐบาลต้อง การพัฒนาประเทศจริง เขาต้องเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนมากขึ้น

ลอเรนเคยมีความฝันที่จะเป็นทนายความ แม้ว่าโดยภูมิหลังการศึกษาเธอจะเรียนมาทางด้านการเป็นครู แต่ในชีวิตการทำงานจริงๆ เธอกลับมาติดอยู่ในวงการสื่อสารมวลชน เมื่อถามว่าเธอคิดถึงวิชาชีพนี้อย่างไรในระยะยาว เธอยอมรับว่าเธอยังไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ก็กำลังคิดอยู่ว่าควรจะเป็นอย่างไร เธอไม่มีแผนอะไรมากนัก ชีวิตการทำงานข่าวของเธอดำเนินไปได้อย่างราบรื่น บางทีหากเธอมีครอบครัว เธออาจจะเลิกทำวิชาชีพนี้ก็ได้ "แต่ตอนนี้การทำงานข่าวเป็นสิ่งที่ฉันทำได้ดีที่สุด" เธอกล่าว

เหตุการณ์ข่าวที่เธอประทับใจมีหลายเรื่อง อย่างเรื่องที่ตลาดหุ้นตกต่ำทั่วโลกในปี 1987 การสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีมหาเดร์ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ เอเชียเมื่อสองปีก่อน นอกจากนี้เธอยังทำรายการสารคดีเกี่ยวกับการฆาตกรรม ต่อเนื่อง (serial killer) ซึ่งเธอได้เข้าไปสัมภาษณ์ฆาตกรเหล่านี้ถึงในห้องขังที่ฮ่องกง นี่เป็นประสบการณ์ที่เธอประทับ ใจอีกอย่างหนึ่ง

เธอมองว่าการทำบทสัมภาษณ์ หรือรายงานข่าวเหล่านี้มีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ มาจากการตัดสินใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง (human being) ซึ่งเธอเห็นว่ามันเป็นประสบ การณ์ที่น่าสนใจมาก

แน่นอนว่านอกเหนือจากความรักในการทำงานแล้ว เธอยังมีความหลง ใหลในวิชาชีพนี้อยู่เต็มเปี่ยมอีกด้วย เธอมีเคล็ดลับในการทำสัมภาษณ์อย่างหนึ่งคือการพูดคุยกับผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ก่อนสัก 2-3 นาที เพื่อทำความคุ้นเคยหรือสนทนาเบาๆ ก่อนเข้าสู่รายการ ซึ่งมันก็อาจจะช่วยได้บ้างหรือบางครั้งก็ช่วยไม่ได้เลยในการทำรายการ แต่เธอก็พยายามที่จะคุยกับผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อทำรายการนานเข้า การสัมภาษณ์ก็กลายเป็นเรื่องปกติไปสำหรับเธอแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.