ปฏิบัติการกดปุ่มของคอมแพค


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ปุ่มเล็กๆ บนคีย์บอร์ดของเครื่องเพรสซาริโอ คือ สิ่งที่คอมแพคกำลังปฏิวัติตัวเอง ไปสู่การค้าแบบใหม่ในโลกของอินเทอร์เน็ต

"ในธุรกิจสมัยใหม่เราจะขายเครื่องอย่างเดียวไม่ได้แล้ว" คำกล่าวสั้นๆ ของ ก้องเกียรติ หวังวีระมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอมแพค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่รับรู้กันทั่วไป และกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งในโลกของดอทคอม

พัฒนาการของโลกอินเทอร์เน็ต เป็นแรงขับดันให้เกิดการปฏิวัติเข้าสู่โลกธุรกิจใบใหม่ ที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา และสถานที่ ความเร็วในการตอบสนอง และเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้ทันท่วงที และไม่ผิดพลาด คือ สิ่งที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน

ในแง่ของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เองก็เช่นกัน เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นสวนทางกับราคา ที่ลดต่ำลง พวกเขาจึงไม่สามารถ วางบทบาทตัวเองเป็นแค่ผู้ผลิต จากนั้น ก็ตั้งตัวแทนขายเครื่องได้อีกต่อไป แต่ต้องทำตัวเป็นผู้ให้บริการ ผู้ร่วมทุน ในการที่จะนำสินค้า และบริการของพวกเขาแทรกตัวไปในทุกพื้นที่ของธุรกิจ

ปุ่ม 7 ปุ่มด้านบนคีย์บอร์ดของเครื่องคอมแพค รุ่นเพรสซาริโอ ที่ถูกออกแบบมาแตกต่างจากพีซียี่ห้ออื่นๆ นั้น ไม่ใช่แค่การสร้างความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในเวลาอันรวดเร็วเท่านั้น แต่พัฒนาจากการ ขายเครื่องไปสู่ธุรกิจ "บริการ" ที่คอมแพคกำลังเรียนรู้อย่างเข้มข้น

การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าจะได้รับบริการง่ายๆ จากปลายนิ้วมือ จะทำให้คอมแพคสามารถเก็บเกี่ยวรายได้จากบรรดาเจ้าของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ต้องการสร้างความง่ายในการเข้าถึงเว็บไซต์ของตัวเอง ซึ่งถือเป็นกติกา ที่จำเป็นในโลกของอินเทอร์เน็ต

เว็บไซต์ของไทย ที่เซ็นสัญญาใช้ บริการนี้ของคอมแพค คือ catcha.co. th ที่เป็นบริการ search engine เว็บ ไซต์บันเทิง eotoday.com เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ thai.com และเว็บไซต์ mweb.co.th ซึ่ง ที่มาของเว็บไซต์ทั้ง 4 ประเภทนี้ มาจากผลวิจัยของคอมแพคทั่วโลก ที่เชื่อว่า เว็บไซต์ ที่มีผู้ชมมากที่สุดจะเป็นเว็บไซต์ 4 ประเภทคือ search engine เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ชอปปิ้ง และกิจกรรม

ลูกค้าในเมืองไทย ที่ซื้อเครื่องคอมแพค รุ่นเพรสซาริโอ ในเวลานี้ จะสามารถเข้าสู่เว็บไซต์ของทั้ง 4 รายนี้ ได้ ด้วยการกดปุ่มด้านบนคีย์บอร์ด และทันที ที่ลูกค้ากดปุ่มใดปุ่มหนึ่งบนคีย์บอร์ด คำสั่งของลูกค้าจะวิ่งไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์ของคอมแพค ที่ตั้งอยู่ ที่เมือง ฮุสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งศูนย์นี้จะทำหน้าที่ดักจับสัญญาณคำสั่งของลูกค้า จากนั้น จะส่งคำสั่งเหล่านี้ไปยังเว็บไซต์ ที่ถูกโปรแกรมเอาไว้

ทุกครั้ง ที่ลูกค้ากดปุ่มเข้าไปเว็บไซต์เหล่านี้ คอมแพคจะมีรายได้จากบริการนี้ทันที และยังรวมไปถึงกรณี ที่มีการซื้อขายเกิดขึ้น หรือเกิดธุรกรรม อี-คอมเมิร์ซ คอมแพคจะได้รับส่วนแบ่ง ที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็มีกรณี ที่เว็บจะมีการตกลงรายได้ตายตัว ขึ้นอยู่กับข้อตกลงทางธุรกิจ ที่ไม่จำกัด

เช่นเดียวกับสัญญา ที่คอมแพคเซ็นกับบรรดาเจ้าของเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ได้จำกัด ขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกัน แต่อย่างต่ำ 6 เดือน นั่นหมายความว่า เมื่อเว็บไซต์เหล่านั้น หมดสัญญาลง คอมแพคจะเปิดสำหรับเว็บไซต์รายใหม่ๆ ที่จะเข้ามา หรืออาจจะผูกประจำกับบรรดาเจ้าของเว็บไซต์เหล่านี้

"บริษัทคอมแพคเองเขาบอกผมว่า ในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เขาให้ผมหาโครงการ เพื่อให้คอมแพคไปร่วมทุนกับบริษัทในประเทศ" ก้องเกียรติกล่าวถึงนโยบาย ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทแม่ ที่จะเป็นการปฏิวัติสู่ธุรกิจแนวใหม่ของคอมแพค ที่ไร้ข้อจำกัดในเรื่องของธุรกิจ

และนี่ก็คือ ที่มาของการเข้าร่วมทุนในโครงการกระเป๋าสตางค์อิเล็ก ทรอนิกส์ หรือ e-purse ที่คอมแพคร่วมทุนกับซีพี เซเว่นอีเลฟเว่น ธนาคาร อีก 3 แห่ง ในการร่วมกันทำโครงการที่ให้ลูกค้าสามารถใช้บัตรเดบิต ที่โหลดเงินจากบัญชีเงินฝาก ในการนำไปซื้อสินค้า และบริการในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

การเข้าร่วมในโครงการ co-location หรือบริการรับฝาก server กับบริษัทอินเทอร์เน็ต ประเทศไทย ที่ให้ลูกค้า ที่ซื้อเครื่องคอมแพค และไปใช้บริการเหล่านี้กับอินเทอร์เน็ตประเทศไทย จะได้ในราคาพิเศษ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของธุรกิจในโลกยุคใหม่ ที่ต้องไม่มีคำว่าขอบเขตของธุรกิจ

"โครงการนี้ เราต้องการบอกว่าเราไม่ได้ทำในเรื่องของการสร้างตลาดเพียงอย่างเดียว แต่ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้วย"

การร่วมมือกับผู้ผลิตซอฟต์ แวร์ ไมโครซอฟท์ และออราเคิลในการทำโปรแกรมร่วมกัน เพื่อสนับ สนุนให้กับบรรดาบริษัทดอทคอมเกิดใหม่ หรือการทำโปรแกรมร่วมกัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน จะเป็นเรื่องปกติสำหรับก้าวนับจากนี้

เช่นเดียวกับการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัทบีอีซีเวิลด์ ที่กำลังบุกเบิกเข้าสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ต ก็เป็น ส่วนหนึ่งในโครงการเป้าหมาย ที่ไม่มีข้อจำกัดว่าจะเป็นการร่วมมือในรูปแบบใด

"อย่าเรียกว่าเป็นกี่รูปแบบธุรกิจเลย เรียกว่าไม่มีรูปแบบเลยก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขายเทคโนโลยี ให้เช่า ร่วมทุน แบ่งปันผลกำไร หรือแบ่งผลประโยชน์ เราทำได้ทุกอย่าง" และนี่ก็คือ การปฏิวัติของโลก อินเทอร์เน็ต ที่ขอบเขตของธุรกิจไม่ได้อยู่ในนิยามการทำธุรกิจบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายนี้อีกต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.