นายหน้าบนไซเบอร์


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงแม้ว่ามาร์ค ตยางคานนท์ หนุ่มวัย 24 ปี จะไม่ได้เป็นไอเอสพีรายใหม่ หรือไม่มีเว็บไซต์ใหม่ที่ขายได้เงินหลายล้านบาท แต่เขาสามารถใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตทำเงินเข้ากระเป๋า 2 แสนบาท ภายในเวลา 2 อาทิตย์และ ที่สำคัญมันได้กลายโมเดลช่องทางตลาด แบบใหม่ ที่ทำให้มาร์ค และสามารถไซเบอร์เน็ตต้องหันมาจับมือกันทำธุรกิจร่วมกัน

มาร์ค เป็นศิษย์เก่าคณะวิศวฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบมาทำงานด้านเน็ตเวิร์ค ก่อนจะบินไปหาประสบการณ์ในงานด้าน Network Marketing อยู่ที่บริษัท Bigplanet เครือของนูสกิน สหรัฐอเมริกา และทำให้ได้สัมผัสเรื่องราวของการนำอี-คอม เมิร์ซมาใช้ในธุรกิจ ก่อนจะบินกลับเมืองไทยและได้รับว่าจ้างจากสามารถไซเบอร์เน็ตให้มาเป็น Prettyman ในงานสัมมนาเกี่ยวกับอี-คอมเมิร์ซในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

แรงบันดาลใจของมาร์คเกิดมาจากอัตราค่าบริการอินเตอร์เน็ตในไทยมีราคาแพง และราคาก็มักจะถูกกำหนด มาจากผู้ให้บริการ ในทางกลับกันถ้าให้ผู้ซื้อกำหนดราคาเอง และช่องทางที่จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันได้ก็คืออินเตอร์เน็ต มาร์คทดสอบแนวคิดของเขาด้วยการไปติดต่อกับผู้บริหารสามารถไซเบอร์เน็ต

"เขามาพูดคุยกับผม ถามว่าถ้าเขาหาลูกค้าอินเตอร์เน็ตได้จำนวนมาก จะคิดราคาค่าอินเตอร์เน็ตลง ผมก็บอกถ้าเขาหาสมาชิกได้ 1,000 คน ผมจะคิดค่าบริการแค่ 900 บาท ซึ่งปกติคิดอยู่ 999 แบบใช้ไม่จำกัด" หลังให้คำตอบแก่มาร์ค ทอม เครือโสภณ ผู้บริหารหนุ่มของสามารถกรุ๊ป ก็บินไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาตลาด และติดต่อพันธมิตรมาทำธุรกิจอินเตอร์เน็ต และเกือบจะลืมเรื่องนี้ไปแล้ว หากไม่เป็นเพราะมาร์คทำได้ตามนั้นจริงๆ

หลังจากได้คำตอบจากกลุ่มสามารถ มาร์คก็เขียนข้อความหาผู้สนใจจะมาร่วมใช้อินเตอร์เน็ตราคา 900 บาทต่อเดือน ให้มาลงชื่อฝากไว้ที่อีเมล darthmao.yahoo.com ซึ่งข้อความนี้ไป Post ไว้ในเว็บไซต์ของ pantip. com, hunsa.com

ถัดจากนั้นไปแค่ 2 อาทิตย์ ปรากฏว่ามีผู้ตอบรับสมัครผ่านมายังอี-เมล เป็นจำนวนเกือบ 700 ราย ซึ่งเท่ากับว่าข้อพิสูจน์ของมาร์คเป็นจริง และสามารถกรุ๊ปก็ต้องหันมาศึกษากรณี นี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ด้วยการจัดงานปาร์ตี้ชุมนุมสมาชิกที่หาได้จากอินเตอร์ เน็ตเหล่านี้

ข้อต่อความสำเร็จในครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่เงินค่าตอบแทน 200 บาทต่อสมาชิก 1 ราย ที่มาร์คได้รับจากสามารถไซเบอร์ เน็ต ซึ่งคิดเป็นเงิน 2 แสนบาท หรือ การที่สามารถไซเบอร์เน็ตได้ยอดสมาชิก เพิ่มขึ้นมาทันที 1,000 ราย ภายใน 2 อาทิตย์เท่านั้น

แต่ทั้งมาร์คและสามารถกรุ๊ปได้พบการตลาดแนวใหม่ ที่อาศัยศักยภาพ ของอินเตอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญเป็นช่องทางการตลาดที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับช่องทางแบบเดิม

ก่อนหน้านี้สามารถไซเบอร์เน็ตเพิ่งจัดงานที่เซ็นเตอร์พ้อยต์ สยาม

สแควร์ หมดเงินไปล้านกว่าบาท ได้สมาชิกมาแค่ 600 ราย เทียบไม่ได้กับวิธีของมาร์ค สามารถเสียค่าใช้จ่ายไปแค่แสนเดียวสำหรับงานปาร์ตี้ ที่ได้ยอดสมาชิกมาทันทีเกือบ 1,000 ราย

ทอม เครือโสภณ ผู้บริหารหนุ่มประจำค่ายสามารถกรุ๊ป ที่เพิ่งกลับจากบินไปสหรัฐอเมริกา เพื่อไปศึกษาตลาดและหาผู้ผลิตหรือซัปพลายเออร์ทางอิน เตอร์เน็ตเพื่อมาเป็นพันธมิตรกับสามารถกรุ๊ปที่กำลังวางทิศทางธุรกิจใหม่บนรากฐานของอินเตอร์เน็ต เขาคิดไปถึงขั้นที่ว่า ในอนาคตสามารถอาจจะเลิกระบบดีลเลอร์ และหันมาใช้วิธีนี้แทน และไม่ใช่แค่การหายอดสมาชิกไซเบอร์ เน็ตเท่านั้น แต่จะเป็นสินค้าอื่นๆ ที่จะขายผ่านระบบนี้ด้วย

"ต่อจากนี้ผมไม่ต้องพึ่งดีลเลอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ยังไม่รู้เลยว่ามีกี่ราย มันเยอะมาก และต้องเสียค่าคอมมิช ชั่นหัวละ 300 บาท และยังต้องเสียเงิน ลงโฆษณา เสียค่าการตลาดอีกมากมาย แต่วิธีนี้ผมเสียเงินค่าคอมมิชชั่น 2 แสนบาท ค่าจัดงานอีกแค่ 1 แสนบาท คุ้มกว่ากันเยอะ" คำกล่าวของทอมที่ทำเอาดีลเลอร์ต้องสะเทือน

มาร์คเอง งานนี้นอกจากได้เงินค่าหัวคิว 200 บาทแล้วจากสมาชิกต่อหัวเขาได้ฐานข้อมูลลูกค้าไปพร้อมกับไอ-เดียธุรกิจใหม่ ที่จะเปิดเป็นเว็บไซต์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายตามแนวทางของเขา ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทอม เครือโสภณ จดทะเบียนเอาไว้ ชื่อว่า "sara-pad.com"

เว็บไซต์ สารพัด.คอม จะเป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย ที่ให้ผู้ซื้อที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการที่เหมือนกันในราคาใกล้เคียง มาพบกับผู้ขายสินค้าและบริการที่ต้องการขายสินค้าตามที่ได้รับเสนอมา ซึ่งสินค้าและบริการนี้จะทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะของสามารถกรุ๊ปเท่านั้น และด้วยแนวคิดนี้เอง คอมแพคคอมพิวเตอร์ ก็ได้รับติดต่อให้มาขายด้วยการตลาดแนวใหม่ ที่คอมแพคก็ให้ข้อเสนอราคา ที่จะลดลงไปตามจำนวนยอดคนซื้อที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งโทรทัศน์ยี่ห้อโตชิบา ที่จะถูกเสนอขายด้วยวิธีการตลาดแนวใหม่นี้เช่นกัน

"วิธีที่ถูกคือ มาร์คจะต้องไม่มาผูกติดกับสามารถเจ้าเดียว เขาจะต้องไปหาสินค้าหรือบริการทั่วไป ที่เป็นกลางมา Post ในอินเตอร์เน็ต และให้คนที่อยากขายในราคานี้เสนอเข้ามา"

จะว่าไปแล้วช่องทางตลาดผ่านอินเตอร์เน็ต ที่มาร์คทำขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในสหรัฐอเมริกา ก็มีเว็บไซต์ทำนองนี้เกิดขึ้นมา เช่น price line. com เว็บไซต์ ที่ให้ลูกค้ามาเสนอซื้อของในราคาที่ตัวเองกำหนดไว้ และให้ผู้ขายที่ต้องการขายเสนอราคาเข้ามา

แต่วิธีการทำตลาดบนอินเตอร์ เน็ตของมาร์ค ยังเป็นแบบลูกผสมระหว่างออนไลน์ และออฟไลน์ ยังไม่เป็นอี-คอมเมิร์ซเต็มรูปแบบ เป็นเพียงช่องทางที่ให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาได้เอง ส่วนกระบวนการชำระเงินยังเป็นเรื่องที่ต้องมาทำนอกเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งตรงนี้ทอมมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกแล้วสำหรับอินเตอร์ เน็ตในไทย ที่ยังมีข้อจำกัดอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นคนใช้บัตรเครดิต

แต่ทั้งมาร์คและทอมก็เชื่อว่า อีกไม่นาน อินเตอร์เน็ตในไทยจะเติบโต และก้าวกระโดดไปแบบสหรัฐอเมริกา เมื่อทุกอย่างเริ่มพร้อม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.