9 ปีในเก้าอี้ผู้ว่ากสท.ที่เงียบที่สุด เขา เป็นผู้ว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) ที่นั่งอยู่ในเก้าอี้นี้ได้ยาวนานถึง 9 ปีเต็ม หลังจากเป็นรองผู้ว่ากสท.มา
13 ปี อัศวินจึงเป็นคนหนึ่งที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแวดวงโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ถูกจัดเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี เช่นเดียวกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) ที่ทำรายได้ให้กับรัฐบาลเป็นจำนวนมหาศาล รัฐวิสาหกิจทั้งสอง จึงเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล
และการให้สัมปทานแก่เอกชนจำนวนมาก ที่สร้างตัวและเติบโตได้จากธุรกิจผูกขาด
ย่อมหนีไม่พ้นการแย่งชิงอำนาจ และถูกแทรกแซงจากการเมืองและเอกชน
แต่รัฐวิสาหกิจทั้งสองก็มีบุคลิกที่ต่างกัน ในขณะที่ทศท.มีขนาดใหญ่กว่า
ผลประโยชน์มากกว่า เรื่องราวขององค์กรนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีสีสัน การแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย
การโจมตีกันของฝ่ายตรงข้าม ตรงกันข้ามกับ กสท. ที่มีบุคลิกเงียบขรึม น้อยครั้งที่ข่าวคราวจะเล็ดลอดออกมาจากหน่วยงานแห่งนี้
จนถูกตั้งฉายาว่าเป็นแดนสนธยา
แม้กระทั่งตัวผู้ว่ากสท.ผู้ซึ่งปิดปากเงียบ ไม่เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเลยมาตลอดที่เขานั่งอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา
9 ปีเต็ม
และก่อนที่เขาจะอำลาจากเก้าอี้ เบอร์ 1 ในกสท. เป็นครั้งแรกที่ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์
ก่อนการเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมนี้ และเป็นคำตอบที่ทุกคนรอคอยมาถึง
9 ปี
อัศวิน เริ่มบทสนทนาในวันนั้น หลังเกษียณอายุแล้ว เขาจะวางมือจากวงการนี้ไปเลย
ไม่ไปเป็นทั้งที่ปรึกษา เป็นกรรมการบริษัทใดทั้งสิ้น เป็นอันจบชีวิตการทำงานของเขาลงอย่างสิ้นเชิง
วิธีการทำงานที่ผ่านมา มีแนวการบริหารงานอย่างไร
การทำงานของผมจะไม่แยกด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ จะมีผมเป็นประธาน จะมีรองผู้ว่าฯ
จะมีส่วนร่วมในการพิจารณาต่างๆ ร่วมกัน ไม่จำกัดว่าด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ
ทุกคนต้องรับรู้เรื่องต่างๆ ให้ข้อคิดเห็น และจากประสบการณ์ของผม คนที่มองจากสายตาที่ชัดเจนหรือดีกว่า
และได้รับการ ยอมรับ อันนี้เป็นวัฒนธรรมของกสท. ที่มีการทำงานเป็นทีม อย่างเวลาต้องไปประชุมที่กระทรวงคมนาคม
เขาบอกว่า จะส่งคนที่มีอำนาจการตัดสินใจ ผมก็เรียนกลับเลยว่า รองผู้ว่าที่ไปมีอำนาจ
ในการตัดสินใจ ก่อนจะไปเรามีการประชุม และปรึกษาหารือกันก่อน ถ้ารองผู้ว่าที่ไปตัดสินใจยังไง
ก็ตัดสินใจตามนั้น ผมพูดได้เลยว่า คนที่ไปจากกสท.สามารถตัดสินใจได้เลย ซึ่งบางหน่วยงานอาจไม่มีอำนาจเลย
แต่ไม่ใช่กสท.
ส่วนคนที่ทำงาน ถ้าใครอยากประจบผม ต้องประจบด้วยการทำงาน ผมมีวิธีเช็ก
อย่างเวลาประชุม ผมจะรู้เลยว่า คนไหนเตรียมเรื่องมา หรือพิจารณาโดยใช้สามัญสำนึก
ผมเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นคร่อมกันได้ บางคนอาจไม่เตรียมงาน ไม่ได้ศึกษา
ผมดูแม้กระทั่งรายงานที่เจ้าหน้าที่เขียนขึ้นมา ผมดูละเอียดมาก
เตรียมกำหนดอนาคตกสท.ไว้อย่างไร
เราตั้งคณะกรรมการมากำหนดอนาคตกสท.ว่าควรเป็นไปอย่างไร อะไร เป็นจุดเด่น
อะไรเป็นจุดด้อย คำนึงถึงสภาพการแข่งขัน ทั้งที่จะมีในอนาคต สภาวะแวดล้อมความโน้มเอียงต่างๆ
ว่ามีอะไรบ้าง และจะนำไปสู่อะไรบ้าง และกสท.จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ทั้งการจัดองค์กร
การจัดระบบงาน และ ที่สำคัญคือการฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้า ที่ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง
คิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นและจุดด้อยกสท. และจะปรับให้สอดคล้องในอนาคตอย่างไร
จุดเด่น ก็คือ ความสามัคคีของคนในองค์กร การร่วมมือร่วมใจกันทำงาน การไม่แตกแถว
เมื่อเรากำหนดเป้าหมายไว้แล้ว ทุกคนก็จะพยายามช่วยกันทุ่มเททำงาน กสท.ได้รับเลือกให้เป็นรัฐวิสาหกิจดีเยี่ยมติดกันมาแล้ว
2 ปี 2539 และ 2540 ในการประเมินผลที่ผ่านมา เราก็มุ่งมั่น และปรากฏว่าทุกฝ่ายทุกระดับตั้งแต่ระดับบริหารลงไปถึงระดับปฏิบัติ
จุดด้อย กสท. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภารกิจที่กสท.ได้รับมอบหมาย ให้บริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
และในประเทศ ยกเว้นโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งถ้าเปิดเสรีทั้งหมดให้ทุกหน่วยงานทำได้เต็มที่
ฟังดูก็สวยงามดี ในแง่ประชาชนผู้ใช้บริการจะมีโอกาสได้เลือกมาก อัตราค่าบริการจะต่ำลงจากการแข่งขัน
อันนี้สวยหรู แต่ถ้ามองจุดของกสท.เอง เราไม่มีโทรศัพท์ในประเทศ เราก็ต้องคำนึงถึงการลงทุนว่าต้องมีอะไรมาเกี่ยว
ข้อง ต้องลงทุนเป็นเงินจำนวนมากใช้เวลานานแค่ไหน แต่ถ้าคนอื่นเข้ามาทำโทรศัพท์ระหว่างประเทศแล้วใช้เงินทุน
และเวลาไม่มาก กสท.จะเสียเปรียบอัน นี้คือจุดด้อยของกสท.
มีแนวทางการบริหารงานอย่างไร ที่ทำ ให้พนักงานกสท.ไม่แตกเป็นก๊กเป็นเหล่า
พยายามวางตัวเป็นกลาง ต้องดูทั้งสองด้าน ด้านไหนถูกต้องก็ต้องสนับสนุน ด้านไหนไม่ถูกต้องก็ต้องกล้าที่จะบอกว่าผิด
มีหลักการบริหารงานอย่างไรให้คนในก็รักด้วย และคนนอกก็ไม่กล้าทำอะไร
ผมไม่ได้สุงสิงกับใคร คือ ถ้าเป็นเรื่องงานผมเต็มที่ ถ้านอกเหนือจากงาน
ผมทำไม่เป็น
มีวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบทางการเมืองได้อย่างไร ในขณะที่องค์การโทรศัพท์เองก็เปลี่ยนผู้อำนวยการไปหลายคน
แต่ผู้ว่ากสท.กลับอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ถึง 9 ปี คิดว่าเป็นเพราะอะไร
อันนี้ไม่รู้จริงๆ เคยพูดบอกว่า มีหนังสมัยเก่าเรื่องหนึ่ง เขาบอกว่า
sombody up there like you คือ ใครที่อยู่เบื้องบนชอบ แต่จริงๆ ผมไม่ทราบว่าเพราะอะไร
การไม่ให้ข่าวมันเป็นผลดีที่ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ไม่มา
กระทบกับเรา
ใช่ ถ้าทำตัวเด่นก็จะมีปัญหา และผมไม่สุงสิงกับใคร ไม่ฝักใฝ่กับฝ่ายไหน
ผมไม่ยุ่งกับใคร
แต่การเมืองก็ต้องมายุ่ง
ถ้าเราไม่ยุ่งกับเขา เขาก็ไม่มายุ่ง มีบางคนบอกไม่เคยเห็นหน้าผู้ว่ากสท.
คนที่นั่งอยู่ข้างๆ เขาก็จะบอก เขาเป็นอย่างนี้เอง คนอื่นที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นหน้าเขาเหมือนกัน
ทุกคนก็จะรับรู้ ทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับตัวเราเอง จะให้ไปเข้าหาคนนั้นคนนี้ผมทำไม่ได้
คิดว่าแบบของตัวเองทำให้ประสบความสำเร็จด้วยหรือไม่
ก็อาจจะใช่
ต้องประนีประนอมด้วย
มีการตรวจสอบจากที่ต่างๆ ดังนั้นคนที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังในการดำเนินการ
มีคนกล่าวเสมอว่า กสท.เป็นแดนสนธยา เป็นรัฐอิสระที่ไม่ขึ้นตรงกับใคร รู้สึกยังไงกับคำกล่าวนี้
แดนสนธยาคืออะไร แดนสนธยาอย่างเดียวของที่นี่คือ ผู้ว่าไม่ให้สัมภาษณ์
เคยมีหัวหน้าข่าวบอกว่า ถ้านักข่าวคนนั้นได้สัมภาษณ์ผู้ว่าจะให้พักร้อนเลย
ผมมองว่า การให้สัมภาษณ์คือการสร้างตัวให้เด่น และการให้สัมภาษณ์ลักษณะอย่างนั้นมีผลกระทบที่ทำให้เกิดสิ่งไม่ดี
ด้วยเหตุผลอย่างนี้ เมื่อการจะให้ข้อมูลข่าวสาร สามารถทำได้แบบอื่น ยกเว้นที่ตัวผม
ไม่ใช่ไม่พูดเลยหลายครั้งก็พูดแต่ไม่ให้เปิดเผย
ผมบอกได้เลยว่า ผมไม่เคยกลัวสื่อมวลชน เพียงแต่ว่า ช่วงนี้เราควรจะทำยังไง
แต่ละคนมุมมองแต่ละแบบ ผมยกตัวอย่าง เรื่องที่ไม่ควรเปิดเผย ยังไม่ควรเปิดเผย
และเรื่องนั้นอาจไปปิดทางของคนที่เขากำลังพิจารณา เรื่องอยู่ ซึ่งเขาอาจมีความเห็นอย่างอื่น
ฉะนั้นเรื่องบางเรื่องเมื่อเปิดเผยก่อนเวลาอันควรทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ
เพราะฉะนั้นยังไม่ถึงเวลาก็ไม่เปิด แต่ส่วนใหญ่นักข่าวอยากรู้ก่อน
ทำอย่างไรไม่ให้กสท.มีข่าวฉาวโฉ่เหมือน กับที่องค์การโทรศัพท์ฯ
ผมไม่ให้ข่าวมาก
ทำไมผู้ว่าฯ ซึ่งต้องดูแลรับผิดชอบหน่วย งานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการถึงไม่ให้ข่าวนักข่าวเลย
ผมไม่รังเกียจเรื่องข่าวที่จะออก เพราะเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ
แต่การให้ข่าว ทำได้หลายรูปแบบ ออกไปจากวารสาร ใบแจ้งข่าว จัดนิทรรศการ ซึ่งกองประชาสัมพันธ์ทำอยู่
ความโปร่งใสในด้านการตั้งกองข้อมูลข่าวสารก็มี ติด ต่อขอมาทางอินเตอร์เน็ต
เสียงตามสายของพนักงานก็มี อันนี้เป็นทางหนึ่งในการให้ข่าว ยกเว้นตัวผมเอง
ซึ่งผมไม่อยากจะทำตัวเด่น แต่ละคนก็แต่ละแบบ บางคนเห็นสื่อมวลชนเหมือนกับมีแม่เหล็กพอเห็นสื่อมวลชนก็จะรีบเข้าไป
แต่ผมไม่ใช่อย่างนั้น
ผู้ว่าฯ เห็นนักข่าวแล้วรู้สึกอย่างไร
เฉยๆ ไม่รู้สึกอยากให้ข่าว ผมไม่เกลียดสื่อมวลชน คุณพ่อผมเป็นนักหนังสือพิมพ์
เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร พิมพ์ไทย ชื่อ สมัคร เสาวรส เท่ากับว่าผมก็สืบสายเลือดมาจากหนังสือพิมพ์
ไม่มีความรังเกียจนักข่าวเลย ผมเคยเห็นบางคนให้ข่าวแล้ววันรุ่งขึ้นต้องไปแก้ข่าวกับรัฐมนตรี
ที่ให้ข่าวไปทำให้ท่านไม่พอใจ แล้วทำไมต้องทำอย่างนั้น เพราะเมื่อให้ข่าวผมจะพูดตรงๆ
ก็อาจจะขัดกัน ทางที่ดีที่สุดคือ ให้ข้อมูลข่าวสารด้านอื่น สำหรับตัวผมไม่ต้องการทำตัวเด่น
ซึ่งจริงๆ กสท.มีทรัพยากรมากมาย ที่ส่งเสริมให้ตัวเองอยากเด่นขึ้นมาได้ แต่ผมไม่ชอบแบบนี้
คิดอย่างไรกับการที่คนพูดเสมอถึงสัมพันธ์ของยูคอมที่มีในกสท.
มีคนพูดยิ่งกว่านั้นอีกว่า เขาเรียก UCOM เป็น UCAT ก็เป็นเพราะธุรกิจเขาเกี่ยวข้องกับเราหลายด้าน
ทั้งโทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ อีก ขึ้นอยู่กับความกว้างใหญ่ของบริษัท บางแห่งมีบริการเดียว
บางแห่งมาร่วมทุนหลายบริการ การพบปะหรือสนทนาย่อมมาก กว่าเป็นธรรมดา จำนวนครั้งที่กสท.ต้อง
ติดต่อกับบริษัทมีมากกว่า
แต่หลักการการพิจารณาเรื่องต่างๆ เราต้องวางตัวเป็นกลาง ต้องมีฐาน ที่เท่ากัน
เราจะไปให้สิทธิพิเศษกับใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เขาจะอ้างกันอยู่ตลอดเวลาว่าใครเสียเปรียบได้เปรียบ
และสิ่งที่เราสบายใจที่สุดคือ ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เช่นนั้นเราจะหาคำตอบไม่ได้
เหมือนอย่างสมัยก่อนเราไปถือหุ้นโครงการสื่อสารผ่านดาวเทียมไอโค ของบริษัทชินวัตร
ก็มีคำถามว่าทำไมต้องไปถือหุ้นร่วมกับชินวัตร ก็เพราะชินวัตรเป็นบริษัทเดียวที่มีโครงการดาวเทียมอินมาร์แซท
และอันนั้นเราจำเป็นต้องเอาชินวัตร แต่จริงๆ แล้วอยากให้กสท.เข้าไปถือหุ้นแต่ทำไม่ทัน
เพราะกสท.ลงทุนเกิน 5 ล้านบาทต้องขอความ เห็นชอบจากครม.เพราะฉะนั้นระยะเวลาที่จำกัด
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อะไรเป็นเรื่องที่หนักใจมากที่สุด
ทุกเรื่อง กสท.มีคน 25,000 คน มีคนทุกระดับ การทำงานวิชาชีพการทำงานที่แตกต่างกัน
ตั้งแต่บุรุษไปรษณีย์จนถึงดอกเตอร์ ความต้องการแตกต่างกัน ลักษณะงานแตกต่างกัน
ผลประโยชน์แตกต่างกัน ทางด้านฝ่ายโทรคมนาคม เทียบกับองค์การโทรศัพท์ฯได้ประโยชน์มาก
แต่โทรคมนาคมของ กสท.รวมกับไปรษณีย์ โบนัสที่มาต้องแบ่งทั้งโทรคมนาคม และไปรษณีย์
ซึ่งไปรษณีย์มีคนมาก ผลก็คือ โทรคม-นาคมได้รับโบนัสน้อยลง เนื่องจากต้องไปแบ่งให้ไปรษณีย์
โชคดีที่ว่าพูดกันจนฝ่ายบริหารเข้าใจว่า ไปรษณีย์ต้องแยกออกจากโทรคมนาคม
ต้องช่วยพวกเรากัน ความเข้าใจอันนี้เป็นสิ่งลำบาก ที่จะทำความเข้าใจประสานทั้งสองด้าน
ทำไมถึงประกาศที่จะไม่เลือกทำงานกับบริษัทเอกชน หรือองค์กรไหนอีกเลย
อยากให้เวลากับตัวเอง ที่แล้วมาต้องทำงานตลอด ตัวผมถ้าทำอะไรจะทุ่มเต็มที่
ผลก็คือไม่ได้พัก อยากจะเอาเวลาที่เหลืออยู่ไปทำที่น่าสนใจหลายๆ ด้าน เช่น
อ่านหนังสือ ชอบอ่านทุกประเภท เล่มที่โปรดคือ ฤทธิ์มีดสั้น เพราะมีอะไรหลายอย่างที่เป็นความจริง
พุทธทาส ธรรมกาย ปรัชญา บูทแคมป์ของอารียา อ่านหมด ปลูกต้นไม้ เลี้ยง ปลา
มีหลายอย่างที่มีความสุขได้
ปกติตีกอล์ฟหรือไม่
ไม่ เป็นความตั้งใจส่วนตัว ผมเข้ามาทำงานใหม่ๆ ตอนนั้นเป็นนักกีฬา คุณอัมพร
ตันธวิจิตร เคยเป็นรองนายกสมัยรัฐบาลธานินทร์ เคยจะซื้อชุดกอล์ฟให้ แต่พอมาคุยกันเพื่อนๆ
บอกว่าจะก้าวหน้าต้องเล่นกอล์ฟ จะได้รู้จักผู้ใหญ่ ผมเลยบอก ในชีวิตนี้ผมจะไม่เล่นกอล์ฟ
ผมมีเพื่อนเป็น president ของเทเลคอมสิงคโปร์ เขาก็ถามทำไมไม่เล่นกอล์ฟ เพราะเวลานี้ก็ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหา
แต่ผมก็บอกเลยว่า ผมตั้งใจแล้วว่าจะไม่เล่น
วาดภาพการสื่อสารหลังเปิดเสรีอย่างไรบ้าง
ไม่วาดภาพ จบก็ต้องจบ ให้ผู้ว่าคนใหม่ทำต่อไป
ผู้ว่าหนักใจอะไรมากที่สุด และอยากจะฝากอะไรบ้าง
มันหนักหลายๆ เรื่อง ถ้าเราอยากทำงานให้ดี แต่ละเรื่องก็หนัก แต่ฝากงานนั้นผมคิดว่าไม่สมควรจะพูดว่า
ควรจะทำยังไง ให้คนที่มาใหม่เขาเป็นคนตัดสินใจพิจารณาเอง