วรศักดิ์ วรภมร ออดิโอเท็กซ์ โอกาสของเถ้าแก่ใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

สัมปทานขนาดย่อมอย่างบริการออดิโอเท็กซ์ได้กลายเป็นโอกาสใหม่ของผู้ที่อยากเป็นเถ้าแก่สื่อสาร แต่มีเงินทุนไม่มาก

วรศักดิ์ วรภมรก็เช่นกันหลังจากวิชัย มาลีนนท์ ตัดสินใจปิดฉากธุรกิจโทรคมนาคม วรศักดิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมงานที่ดูแลการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมของช่อง 3 ก็หันหลังชีวิตลูก จ้างมาเริ่มต้นชีวิตการเป็นเถ้าแก่เต็มตัว

อันที่จริงแล้ว วรศักดิ์ คร่ำหวอดอยู่ในวงการโทรคมนาคมมาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เขาเคยเป็นลูกจ้างไทยคนแรกของบริษัทแปซิฟิกเทเลซิส ที่บินข้ามฟ้ามาลงทุนธุรกิจวิทยุติดตามตัว "แพ็คลิงค์" เป็นรายแรกของเมืองไทย ที่มีดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย แต่หลังจากร่วมทุนกันได้ไม่นาน ดร.ทักษิณถอนหุ้นไปขอสัมปทานวิทยุติดตามตัวจากองค์การโทรศัพท์ฯ เอง และกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของแพ็ค ลิงค์ในเวลาต่อมา

หลังจากต้องฝ่ามรสุมการแข่งขัน วรศักดิ์ลาออกไปด้วยปัญหาสุขภาพ และหายหน้าหายตาไปจากวงการหลายปี ก่อนจะกลับมาร่วมงานกับช่อง 3 จากการชักชวนของประชา มาลีนนท์ มาเป็นหัวหน้าที่บุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคม ให้กับช่อง 3 ที่กำลังต้องการแตกไลน์ขยายทางด้านนี้ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจนี้กำลังเติบโตอย่างเต็มที่ ช่อง 3 เริ่มต้นธุรกิจนี้ด้วยการเป็นตัวแทนขายคอมพิวเตอร์ แต่มีเป้าหมายอยู่ที่การลงทุนธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอายุยืนยาว หลายปีมานี้วรศักดิ์ใช้เวลาศึกษาโครงการขนาดใหญ่หลายโครง การให้ช่อง 3 แต่โอกาสไม่เอื้ออำนวย แต่เมื่อฟองสบู่แตก ตัวเลขการลงทุนจาก 15,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 30,000 ล้านบาท ช่อง 3 จึงต้องตัดสินปิดฉากธุรกิจนี้ลง

วรศักดิ์อำลาจากช่อง 3 พร้อมกับ บริษัทไทยออดิโอเท็กซ์ เซอร์วิส ที่ขอรับสัมปทานออดิโอเท็กซ์จากองค์การ โทรศัพท์ฯ ที่ซื้อต่อจากช่อง 3 เพื่อมาเป็นเถ้าแก่เต็มตัว

บริการออดิโอเท็กซ์ ที่เป็นการให้บริการข้อมูลทางโทรศัพท์ อายุสัมป-ทาน 15 ปี ที่ผู้สนใจขอสัมปทานจะต้อง แลกมาด้วยการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับทศท. 40% ของรายได้รวม และจ่ายค่าขอใช้โครงข่าย 1 ล้านบาท และเป็นค่าเชื่อมโยงโครงข่ายอีก 1 ล้านบาทต่อปี เพื่อที่ว่าบริษัทจะสามารถนำเลขหมาย 10 หลักขึ้นต้นด้วย 1900 ไปให้บริการแก่ลูกค้า

นอกจากนี้ บริษัทจะต้องเป็นผู้ลงทุนอุปกรณ์ออดิโอเท็กซ์ เซิร์ฟเวอร์ที่จะบรรจุข้อมูล และซอฟต์แวร์ ไว้ให้บริการแก่ลูกค้า ตกตัวละ 2 ล้านบาท

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า บริการออดิโอเท็กซ์ ของวรศักดิ์จะต้องเปิดให้บริการภายใน 3 เดือนนับจากวันเซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2542 ซึ่งหากเลยกำหนดจะต้องถูกปรับวันละ 1.8 แสนบาท

เงินทุน 20 ล้านบาท จะเป็นเงินก้อนแรกที่วรศักดิ์ประเมินว่าต้องใช้สำหรับบริหารงาน และภายใน 7 ปีจะต้องใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท

วรศักดิ์ ไปดึงเอาหุ้นส่วนที่เป็นบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ออดิโอเท็กซ์ จากฝรั่งเศสมาร่วมลงทุนในสัดส่วน 60:40 บริษัทต่างประเทศนอกจากจะขายซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทเพื่อใช้ในโครงการ จะมีหน้าที่ทางด้านการดำเนิน ธุรกิจ ตั้งแต่การติดตั้งระบบ จนถึงเรื่อง การตลาดจะเป็นหน้าที่ของบริษัทจากฝรั่งเศส ส่วนเรื่องจัดการด้านการเงิน และติดต่อธุรกิจจะเป็นหน้าที่ของวรศักดิ์

บริการนี้นอกจากมีไว้สำหรับให้บริการข้อมูลผ่านคู่สายโทรศัพท์ เช่น หมอดู สอบถามข้อมูลต่างๆ ที่ผู้โทรจะต้องเสียเงิน 9 บาทต่อนาที ออดิโอเท็กซ์ ถูกกำหนดให้ใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับรายการโทรทัศน์ และวิทยุของช่อง 3 ที่จะเป็นพันธมิตรในเรื่องของข้อมูลให้

"กรณีของวิทยุ จะสอดแทรกลงไปได้ว่า ให้ดีเจโต้จะใช้เล่นสนุกกับผู้ฟังที่บ้าน เช่นเดียวกับโทรทัศน์ที่จะใช้ทำกิจกรรมร่วมกับคนดูทางบ้าน ให้โทรกลับมา เช่น ใช้โปรโมตละคร หรือ รายการใหม่"

เขาประเมินมูลค่าตลาดออดิโอเท็กซ์ จะมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านบาท จะขึ้นไปถึง 5,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐ กิจที่จะต้องเอื้ออำนวยแล้วเช่นกัน

ไทยออดิโอเท็กซ์ ไม่ใช่รายเดียว ในตลาด ก่อนหน้านี้ พ้อง ชีวานันท์ ก็ได้ร่วมกับกลุ่มคิงส์พาวเวอร์ขอสัมป-ทานไปแล้วก่อนหน้านี้ไม่นาน

เพราะนี่คือโอกาสเดียวของเถ้าแก่ใหม่ ในสนามสื่อสารที่ง่าย และกินเวลาน้อยที่สุด ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูล และการหาโอกาสทางการตลาดของแต่ละราย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.