Benjamin Graham เอ่ยชื่อของ เบนจามิน เกรแฮม คาดว่านักลงทุนชาวไทยคงไม่รู้จักเลย
อาจมีผู้จัดการกองทุนบางท่านในนี้ที่พอคุ้นเคยรู้จักชื่อของเขาอยู่บ้าง แต่ในสหรัฐฯ
นั้นเรียกได้ว่าเขาเป็นนักลงทุน เป็นผู้จัดการกองทุน และเป็นผู้วางรากฐานการลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์กที่นักลงทุนรุ่นหลังให้การยอมรับนับถือมากที่สุดคนหนึ่ง
จาเน็ท โลว์ เป็นอดีตบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวการเงินรุ่นเก๋าคนหนึ่ง เธอเป็นผู้เรียบเรียงคัดเลือกผลงานของเกรแฮมมาตีพิมพ์ใหม่
เธอเคยเขียนหนังสือเรื่อง "เบนจามิน เกรแฮม : ว่าด้วยการลงทุนในมูลค่า"
ซึ่งคนอ่านมักถามไถ่ตลอดเวลาว่าเธออ้างอิงหรือใช้อะไรเป็นวัตถุดิบในการเขียน
ซึ่งมันก็คือเนื้อหาจากคำบรรยายหรือเลกเชอร์ที่เกรแฮมไปบรรยายที่ นิวยอร์ก
อินสติติวท์ ออฟ ไฟแนนซ์ บ้าง การพูดในที่ต่างๆ และบทความที่เกรแฮมเคยเขียนไว้ตั้งแต่ทศวรรษ
1930 ซึ่งคงจะค้นหายากมากและมีหลายชิ้นที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน โดยเฉพาะที่เป็นจดหมายและคำบรรยาย
ผู้ที่นิยมชมชอบแนวคิดการลงทุนของเกรแฮม รวมทั้งผู้ที่ชื่นชอบลูกศิษย์ของเขาคือวอร์เรน
บัฟเฟตต์ จะพบว่าเครื่องมือการลงทุนของเกรแฮมไม่ได้มีจำกัดอย่างที่หลายคนคิด
เขาเป็นคนแรกๆที่เสนอแนวคิดเรื่องอินเด็กซ์ฟันด์ เรื่อง arbitrage และยังมีวิธีการลงทุนอีกหลากหลายรูปแบบซึ่งจะมีปรากฏในหนังสือเล่มนี้
มีผู้อ่านบางท่านให้ความเห็นว่า"ยิ่งผมอ่านงานของเกรแฮมมากเท่าใด ผมก็ยิ่งเข้าใจว่าทำไมบัฟเฟตต์จึงชอบเขาเสียนัก
ผมหวังว่าผู้อ่านท่านอื่นๆ คงจะมีความรู้สึก เช่นเดียวกับผม"
แนวคิดในเรื่องการวิเคราะห์หลักทรัพย์ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและการลงทุนในมูลค่า
เหล่านี้อาจเป็นเรื่องธรรมดาของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทั่วไปในปัจจุบัน
แต่ใครจะรู้ว่าแนวคิดที่เป็นพื้นฐานของการลงทุนเหล่านี้มีที่มาจากเกรแฮม
ก่อนหน้าเกรแฮมการ วิเคราะห์หลักทรัพย์ไม่ถือว่าเป็นวิชาชีพ เกรแฮมเป็นผู้เรียกร้องให้มีหลักสูตรนี้ขึ้นซึ่งในที่สุดก็มีการออกแบบมาเป็น
Chartered Financial Analyst หรือ CFA ที่เหล่านักเรียน MBA และผู้ที่ทำงานในแผนกวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งหลายต้องไขว่คว้าสอบเอาใบประกาศ
CFA มาห้อยท้ายในนามบัตรให้ได้
เกรแฮมจะพูดสอนให้คนลงทุนซื้อหุ้นบริษัทในราคาที่มีส่วนลดมากๆ โดยให้ดูปัจจัยต่างๆ
เช่น มูลค่าหุ้นตามราคาบัญชี สัดส่วนเงินปันผล และ สัดส่วนราคาหุ้นต่อรายได้หรือ
พีอีเรโช ทั้งนี้ โลว์กล่าวไว้ในบทนำว่า "เกรแฮมยังคงเป็นปราชญ์ด้านการลงทุนที่มีผู้ติดตามแนวทางของเขามากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษนี้"
"ยิ่งผู้อ่านศึกษาหลักการการลงทุนในมูลค่ามากเท่าใด ก็ยิ่งจะมีความภักดีในแนวคิดของเกรแฮมมากเท่านั้น"
ดูเหมือนผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ต่างมีความเห็นสอดคล้องต้องกันในประเด็น
นี้
โลว์เริ่มต้นอารัมภบทหนังสือของเธอว่า"เมื่อวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกได้มีโอกาสให้คำแนะนำด้านการลงทุนแก่บิล
เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ คำแนะนำนั้นก็คือข้อความเดียวกันที่บัฟเฟตต์พร่ำพูดมาหลายปีดีดักให้กับใครก็ตามที่อยากจะฟังเขาพูด
นั่นก็คือ ให้อ่านงานของเบนจามิน เกรแฮม บัฟเฟตต์เป็นคนแรกที่ยอมรับว่าเขาเริ่มต้นการลงทุนจากคำแนะนำของเกรแฮม
คำสอนของเกรแฮม โดยเขาเอามาขยายและเพิ่มเติมเป็นแนวทางของเขาเอง บัฟเฟตต์ยืนยันว่าเบนจามิน
เกรแฮม ซึ่งเป็นบิดาแห่งการลงทุนในมูลค่า ถือเป็นจุดที่ดีที่นักลงทุนควรจะเริ่มต้น
และงานชิ้นคลาสสิกที่บัฟเฟตต์แนะนำให้อ่านก็คือเรื่อง The Intelligent Investor"
เกรแฮมเสียชีวิตเมื่อปี 1976 เขามีงานเขียนเป็นหนังสือเล่มเรื่องการลงทุนรวม
5 เล่ม และมีบทความ คำบรรยาย และบทความในนิตยสารต่างๆ อีกจำนวนมาก บทความของเขามีอิทธิ
พลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นครั้งสำคัญๆ ด้วย อย่างน้อยก็สองครั้งคือหลังตลาดหุ้นตกต่ำครั้งใหญ่ในปี
1929 และหลังช่วงภาวะตลาดหมีที่ยาวนานในทศวรรษ 1970 คำบรรยายของเขาเป็น แนวทางและแรงบันดาลใจให้แก่มืออาชีพในวอลล์สตรีทมาอย่างน้อยก็กว่าครึ่งศตวรรษ