ตลาดสด "ยิ่งเจริญ" บนถนนพหลโยธิน ของตระกูลธรรมวัฒนะ เป็นเรื่องที่พูดกันสนั่นเมืองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
หลายคนอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าตลาดนี้ยิ่งใหญ่อย่างไร ถึงทำเงินได้มูลค่ามหาศาลปานนั้น
จากการบริหารด้วยระบบของ "คุณนายสุวพีร์" ที่อดีตเป็นเพียงแม่ค้าขายผักเรียนจบเพียงแค่ชั้น
ป.4 ก้าวสู่การบริหารแบบ "มืออาชีพ" ของนพดลลูกชายคนที่ 4 ที่มีปริญญาทางด้านการบริหารจากอเมริกาเป็นเครื่องการันตี
ทำให้ตลาดสด แห่งนี้กลายเป็นที่มาของมรดกมรณะนับหมื่นล้าน วันนี้ขุมทรัพย์ก้อนใหญ่มีรายได้ลดน้อยถอยลงตามภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน
เม็ดเงินต่อเดือนของมันจึงไม่ได้มากมายตาม "กระแสข่าว" ที่กระพือรายวันแน่นอน "คุณนาย"
หรือสุวพีร์ ธรรม-วัฒนะ เป็นผู้ก่อตั้งตลาดแห่งนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม
พ.ศ.2498 ตามฤกษ์ "โสเภณี" ที่หลวงปู่บุ่ง วัดใหม่ทองเสนให้มา อายุของตลาดที่มากกว่า
4 ทศวรรษ นั้นเก่าแก่พอๆ กับตลาดปากคลองตลาด เลยทีเดียว หากจะเทียบความกว้างใหญ่
กับตลาดอ.ต.ก.ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกว่า บอกได้คำเดียวว่าตลาดอ.ต.ก. เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวเดียวของตลาดยิ่งเจริญเท่านั้น
จากพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ขยายใหญ่เพิ่มเป็น 43 ไร่ มีแผงให้เช่ากว่าพัน
แผง มีอาคารพาณิชย์รอบๆ กว่า 100 ยูนิต มีเจ้าหน้าที่ในออฟฟิศไม่ต่ำกว่า
10 คนที่คอยเก็บเงินค่าเช่าแผงตั้งแต่เช้า จรดเย็นของแต่ละวัน
และที่สำคัญได้กลายเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ในการเอาไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ
ของสุวพีร์ จนมีมูลค่าเพิ่มเป็นนับหมื่นล้านบาทในเวลาต่อมาและกลายเป็นมรดกมรณะของตระกูลไปในที่สุด
ในยุคบุกเบิกของตลาดนั้น สุวพีร์ เป็นเพียงผู้หญิงแม่ลูกอ่อนที่มีลูกตัวเล็ก
ตัวน้อยในเวลานั้นถึง 6 คน และตนเองก็จบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป.4 เท่านั้น
ย้อนกลับไปในวันเวลาที่เต็มไปด้วยความ ลำบากยากจนในวัยเด็กของสุวพีร์ เธอเป็นบุตรคนที่
3 จากบุตรทั้งหมด 4 คนของครอบครัวนายเอ็ง นางเลี้ยง แซ่ลี้ เมื่อ จบ ป.4
ที่โรงเรียนประชาบาลวัดสังฆราชา แล้ว ก็เริ่มทำการค้าด้วยตัวเอง โดยพาย เรือเป็นแม่ค้าขายผักในย่านลาดกระบัง
แต่งงานครั้งแรกมีลูกชายคนหนึ่งชื่อเทอดชัย หรือผู้ใหญ่แดง เมื่ออายุ
ได้ 22 ปี ได้แต่งงานใหม่กับอาคม ฉัตร-ชัยยันต์ มีลูกชาย 3 คน หญิง 6 คนคือ
ห้างทอง, กุสุมา นพดล, มัลลิการ์, คนึง- นิตย์, นฤมล, นัยนา, ปริญญา, และนงนุช
ช่วงหนึ่งของชีวิตย้ายไปเปิดปั๊มน้ำมันเล็กๆ อยู่ที่วัดสามพระยาเขตบางขุนพรหม
แต่รายได้ไม่พอจุนเจือครอบ ครัว จึงไปเปิดร้านอาหารศรีฟ้า ที่สี่แยกเกียกกาย
เพื่อจำหน่ายอาหารให้กับทหาร ของกรมป.ต.อ. ซึ่งอยู่ในละแวกนั้น ทำ ให้มีโอกาสรู้จักกับนายทหารอาวุโสหลาย
ราย ซึ่งมีบทบาททางการบ้านการเมืองใน ระยะเวลาต่อมา
ข้อมูลจากหนังสืองานศพของสุวพีร์ที่ลูกๆ ช่วยกันบันทึกเกี่ยวกับการ
เข้ามาทำตลาดสดยิ่งเจริญมีว่า "คุณพ่อในขณะนั้นมีกิจการโรงฆ่าสัตว์ และธุรกิจ
ด้านบริการ เช่นโรงไฟฟ้า โรงประปา และ สัมปทานเดินรถเมล์ ระหว่างสะพานใหม่
ลำลูกกา จากที่ได้ไปลำลูกกากับคุณพ่ออยู่บ่อย ทำให้คุณแม่ไปชอบใจที่ดินย่าน
นั้นขึ้นมา แต่ไม่สามารถหาเงินมาซื้อที่ดิน แปลงนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ได้ คุณแม่ได้ดิ้น
รนทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ที่ดินแปลงนี้ แม้จะถูกคัดค้านจากทุกคนในเวลานั้นก็ตาม
เนื่องจากเป็นที่ห่างไกลความเจริญและเป็นเพียงทุ่งนาเท่านั้น
ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง คุณแม่ได้กู้ยืมเงินจากหลายสถาบันเพื่อซื้อที่
ดินแปลงนี้ โดยกู้จากสำนักพระคลังข้างที่ นายเธียร นางทรัพย์ เขียวขำแสง
ธนาคาร กรุงไทย และนายสุขุม นวพันธ์ นายยัส-ปาลกอร์ และอีกหลายท่าน"
สุวพีร์ต้องการพลิกฟื้นที่ดินแห่งนี้ ให้เป็นตลาดสดเหมือนบางลำพู แต่ก็ไม่
ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะที่ดินผืนที่เธอชอบนั้น มีอาณาเขตติดกับรั้วของทหารอากาศ
การขออนุญาตให้สร้างตลาดก็เลยเป็นเรื่องลำบาก แต่ด้วยความเพียรพยายาม ขอหลายครั้ง
จนกระทั่งจอมพลฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหาร อากาศสมัยนั้นยินยอม
ตลาดยิ่งเจริญ จึงเกิดเมื่อปี 2498 ซึ่งขณะนั้นสุวพีร์มีอายุประมาณ 30 ปีเท่านั้นเอง
ในช่วงแรกของการเปิดกิจการ ไม่ง่ายอย่างที่คิด หลังจากที่เธอลงทุนซื้อ ที่ดิน
ปรับปรุงที่ สร้างแผง แต่กลับไม่มี คน ทำเลที่ยังห่างไกลจากชุมชนเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างมากๆ
ส่งผลกระทบให้รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ไม่พอกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจนทำให้เป็นหนี้สินที่ลูกหนี้รุมเร้าจนถูกศาลบังคับให้
ขายทรัพย์สินทอดตลาด เพื่อนำเงินมาใช้ หนี้หลายครั้ง ตลาดยิ่งเจริญในสมัยนั้นดูมืดมนทำท่าจะไปไม่รอดจนได้ชื่อใหม่จากชาวบ้านว่า
"ตลาดขี้เถ้า" แทน
แต่ด้วยความใจเด็ดและไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เธอจำนำทรัพย์สินทุกอย่างที่มี
อยู่รวมทั้งกู้เงินหลายคนเพิ่มจนในที่สุดก็เก็บรักษาตลาดไว้ได้ 10 กว่าปีต่อมาตลาดแห่งนี้จึงค่อยๆ
มองเห็นอนาคต เพราะความเจริญที่ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ถนนพหลโยธินอย่างรวดเร็วและที่สำคัญ
ยังมีแหล่งชุมชนใหญ่ซึ่งเป็นหน่วยงานและที่อยู่อาศัยของกองทัพอากาศที่อยู่รวมกันที่นั้นและเป็นกลุ่มลูกค้าที่แน่นอน
ตายตัวนาน
"การตั้งตัวของแม่ตั้งขึ้นมาได้อย่างไร ก็จงเอาไข่ไก่มาทดลองตั้งดู"
สุวพีร์เคยเล่าถึงความลำบากในการตั้งตัว ของเธอให้ลูกๆ ฟัง
การวางรากฐานครั้งสำคัญของตลาดยิ่งเจริญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อนพดลลูกชายคนที่
4 ซึ่งจบการศึกษาด้านการบริหารจากอเมริกาเข้าไปช่วยงาน
"พ.ศ.2517-2522 ซึ่งเป็นช่วงที่นพดลได้เข้ามาช่วยบริหารงานอย่าง เต็มตัว
ทำให้คุณแม่มีโอกาสมากขึ้น ประกอบกับที่ท่านเป็นคนมองการณ์ไกล จึงได้ใช้เวลาว่างในช่วงนี้
เริ่มหาซื้อที่ดินไว้ครอบครอง ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อไว้ในแถบจังหวัดปทุมธานี
พอในปี 2518 ก็สามารถปลดเปลื้องหนี้สินที่กู้ยืมได้เกือบหมด "
นพดลเข้าไปเริ่มงานด้วยการเป็น พนักงานเก็บเงิน ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่ง
เป็นผู้จัดการทั่วไป จากรากฐานอันมั่นคง ที่สุวพีร์ทำไว้ประกอบกับฝีมือการบริหาร
สมัยใหม่ของนพดล และความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามาทำให้ตลาดเริ่มมีรายได้เป็นกอบเป็นกำเพิ่มขึ้นๆ
ทุกวันๆ พร้อมๆ กับโฉนดที่ดินในกำปั่นเซฟของคุณนายก็ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน
ลักษณะการสะสมทุนของสุวพีร์น่าจะมีรูปแบบเดียวกันกับเศรษฐีที่ดินอีกหลายคนคือซื้อที่ดินเก็บไว้เมื่อตอนราคาถูก
และปล่อยขายไปเมื่อได้กำไรดีๆ เช่นในช่วงยุคทองของที่ดินเมื่อประมาณ ปี 2530
รวมทั้งการเป็นเจ้าหนี้เงินกู้นอก ระบบ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นคือที่มาของมรดก
จำนวนมหาศาล นอกเหนือจากตัวตลาด ยิ่งเจริญเอง
หลังจากคุณนายถูกลอบยิงในปี 2522 จนต้องย้ายไปอยู่ที่อเมริกากับ
นพดล โดยปล่อยให้กุสุมาลูกสาวคนโตเป็นผู้เก็บเกี่ยวดูแลผลประโยชน์แทน แต่เมื่อกุสุมาถูกคนร้ายยิงตายเมื่อปี
2525 นพดลจึงได้กลับมาดูแลตลาดแทน อีกครั้ง และในปีนั้นเองที่เขาได้เอาวิชาความรู้ทางด้านการบริหารมาปรับปรุง
แผงลอย ในตลาด มีการขึ้นค่าเช่า พร้อมๆ กับวางแผนทางด้านโปรโมชั่นตลาด เอาระบบการลด
แลก แจก แถม จาก อเมริกามาใช้ ทำให้รายได้จากตลาดไหล เข้าบ้านมากมายขึ้น
ต่อมานพดลได้แยกออกมาทำธุรกิจเสื้อผ้า แบรนด์เนมดังของเด็กเช่น เช่น
มิกกี้เมาส์ และเสื้อสำเร็จรูป BODY GLOVE รวมทั้งกิจการของทอง 99% โกลด์มาสเตอร์แต่ได้กลับเข้าไปช่วยดูแล
ตลาดอีกครั้งเมื่อสุวพีร์เสียชีวิตในปี 2533 แต่เมื่อมีกิจการส่วนตัวมากมายที่ดำเนิน
อยู่ทำให้คนึงนิตย์น้องสาวเป็นผู้รับผิดชอบดูแลตลาดแทน
ปัจจุบันตลาดแห่งนี้จึงดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมีการแบ่งประเภทของ สินค้าอย่างชัดเจนไม่ปะปนกัน
มีคนงาน กวาดตลาด ยาม และเจ้าหน้าที่ประจำออฟฟิศรวมประมาณ 100 คน และยังจัดให้มีที่จอดรถ
3 ชั่วโมงแรกฟรี จำนวน หลายร้อยคันทั้ง 2 ฝั่งตลาด การมีที่จอด รถสะดวกสบาย
เป็นจุดขายที่สำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาจับจ่ายซื้อ ของในตลาดแห่งนี้
พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่ากทม.ยืนยัน ความจริงในข้อนี้ได้เพราะเมื่อเร็วๆ
นี้ตลาดยิ่งเจริญได้รับรางวัลชนะเลิศจากกทม.ในฐานะที่เป็นตลาดที่สะอาด และเป็นระเบียบที่สุดของกรุงเทพมหานคร
ในปี 2542
ตลาดยิ่งเจริญเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญทั้งในยุคเศรษฐกิจรุ่งโรจน์ และเพิ่มความสำคัญมากขึ้นในยามธุรกิจตกต่ำของบรรดาเหล่าพี่น้องตระกูลธรรม-วัฒนะ
ในแต่ละวันจะมีรายได้ประจำจาก การเก็บค่าเช่าแผงซึ่งในสัญญาจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน
แต่ในเมื่อแต่ละแผงเริ่มเช่าไม่พร้อมกัน เจ้าหน้าที่ก็เลยต้องนั่งเก็บเงินเป็นรายวัน
ซึ่งค่าเช่าแผงแต่ละแผงก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประเภทของ สินค้า และทำเล
แต่จะเริ่มจากแผงละ 4 พันบาท 7.5 พัน 1.2 หมื่น ถึง 1.5 หมื่นบาท
ดังนั้นรายได้ต่อเดือนของตลาดสดแห่งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงไม่น่า
ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน สกู๊ปข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่
10 กันยายนเองก็เคยระบุว่าหลังจากคุณนายเสียชีวิตเมื่อปี 2533 ก็ได้มีการตั้งบริษัท
สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (1990) เป็นผู้บริหารดูแลกิจการของตลาดยิ่งเจริญโดยที่มีลูกๆ
ทั้ง 9 คนถือหุ้น เฉลี่ย แล้วรายได้ตกคนละประมาณ 1 ล้านกว่า บาทต่อเดือน
มันคือ แหล่งรายได้ที่สำคัญของ ทุกคนในตระกูลมาโดยตลอดก็จริง แต่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักนี้
รายได้ของตลาดแห่งนี้จะลดลงหรือไม่ ? "โอ๊ยรายได้ของตลาดทุกวันนี้มัน
ไม่ได้มากมายอย่างที่หนังสือพิมพ์เอาไป เขียนข่าวกันหรอก เดือนละ 20 ล้าน
30 ล้าน มันไม่ใช่หรอก มากไป" แหล่งข่าวคนหนึ่งยืนยันกับ "ผู้จัดการ"
พร้อมทั้งบอกว่าทุกวันนี้วันหนึ่งๆ เฉลี่ยแล้วปิดบัญชีประมาณ 2-3 แสนบาทเท่านั้น
บาง วันปิดแค่หลักหมื่นยังเคย ดังนั้นรายได้ที่แท้จริงในช่วงปี 2 ปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ
5 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น
มันเป็นตัวเลขที่ลดลงจากเดิมกว่าครึ่ง สาเหตุก็เพราะว่าเมื่อบรรดาเหล่า
พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน ในขณะที่ราคาค่าเช่าเท่าเดิม ลักษณะของการจ่ายเงินก็คือการผัดผ่อนยังไม่ยอมจ่าย
หรือทยอยการจ่ายแทน
"บางเดือนขายไม่ดี ก็ต้องผ่อนจ่าย แต่เขาก็ไม่ได้คิดดอกเบี้ยหรอก"
แม่ค้าขายผักคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ซึ่งตรงกับที่แหล่งข่าวคนเดิมที่บอกว่า
การบริหารการเงินของตลาดรุ่นลูกไม่ได้เด็ดขาดมากนัก บางคนค้างค่าเช่าแผงรวมเป็นเงินนับแสนบาทก็ยังอยู่ได้
พร้อม ทั้งบอกว่าสมัยคุณนายเข้มงวดกว่านี้มาก มายนัก ข่าวคราวของความใจเด็ดของคุณนายที่เก็บค่าเช่าแม้แต่คนแก่ขายผัก
หรือบรรดาขอทาน จึงเป็นเรื่องที่พูดถึงอยู่เนืองๆ
แต่ด้วยบุคลิกของความเด็ดขาด เข้มแข็งของผู้หญิงอย่างเธอนี้เอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณนายสามารถบริหารตลาดจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ
กลายเป็นแหล่งหมุนเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ จนกลายเป็นเศรษฐี ชื่อดังแห่งเมืองปทุมธานี
ในพินัยกรรมฉบับแรกของเธอ (ไทยรัฐ 10 กันยายน 2542) ระบุไว้ว่าเธอมีที่ดินที่จังหวัดปทุมธานี
ฉะเชิงเทรา และในต่างประเทศประมาณ 500 โฉนด มีเงินสดประมาณ 5 พันล้านบาท
แต่มรดกก้อนนี้จะจำหน่ายจ่ายโอนได้ก็ต่อเมื่อเธอเสียชีวิตไปแล้วครบ 20 ปีซึ่งก็หมายความว่า
อีก 9 ปีข้างหน้าทายาทของเธอจึงจะมีสิทธิ์ในกองมรดกนี้
และจากเม็ดเงินดังกล่าวนี้เอง ที่ ทำให้เธอสามารถส่งเสียลูกชายหญิง
9 คน ยกเว้นกุสุมาให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจนจบทุกคน เริ่มตั้งแต่ผู้ใหญ่แดง
ลูกชายคนโต ห้างทอง จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส จบปริญญาโททางด้านวิศวกรรมศาสตร์
จากสถาบัน AIT นพดล จบบริหารธุรกิจ จากอเมริกา มัลลิการ์ จบปริญญาตรีจาก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปจบปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย คนึงนิตย์
จบปริญญาตรีที่มช. แล้วไปเรียนต่อปริญญาโททางด้าน GEOGRAPHY ที่ CAL STATE
UNIVERSITY NORTHBRIDGE ปริญญา จบอนุปริญญาด้านสถาปัตย์จาก SAN BERNARDINO
COLLEGE และได้ไปศึกษาต่อในด้านเพชรพลอยที่ GEMOLOGICAL INSTITUTE OF AMERICA
ส่วนลูกสาวคนสุดท้องจบอนุปริญญาจาก ABAC แล้วเปลี่ยนเข็ม มาเรียนทางด้านเพชรพลอยแทนที่สถาบันเดียวกับปริญญาจนจบ
(ข้อมูลจากเอกสารในวันแถลงข่าวของตระกูลธรรมวัฒนะ ที่โรงแรมแชงกรีลาเมื่อวันที่
6 มิถุนายน 2533)
รวมทั้งเม็ดเงินที่ได้จากตลาดยังทำให้ลูกๆ ของเธอเป็นเจ้าของคฤหาสน์หลังใหญ่ในพื้นที่กว่า
10 ไร่ริมถนนพหล-โยธินติดกับบริเวณที่จอดรถของตลาดยิ่งเจริญ ซึ่งภายในตกแต่งอย่างหรูหราคลาสสิกในสไตล์หลุยส์ที่
16 ด้วยฝีมือการออกแบบจากบริษัทสถาปนิก A.49 มูลค่าบ้านพร้อมที่ดินว่ากันว่าไม่ต่ำกว่า
400 ล้านบาท
ในขณะที่คนบางกลุ่ม เล่าขานกัน ว่า คุณนายบริหารตลาดด้วยความเป็นคนเด็ดขาด
และเข้มงวดนักไม่ยอมผ่อน ปรนให้กับผู้เช่ารายไหนเลย เก็บค่าที่แม้ แต่กับขอทาน
แต่กับคนอีกกลุ่มหนึ่งนั้น ยกย่อง กันว่า คุณนาย เป็นบุคคลตัวอย่างของสังคมที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้จากความ
เป็นคนจน
สุวพีร์ล้มป่วยและเสียชีวิตในปี 2533 โดยทิ้งมรดกเป็นที่ดินไว้หลายพันไร่
ส่วนตลาดสดยิ่งเจริญทุกวันนี้ประเมินกันว่าตลาดแห่งนี้มีมูลค่าประ มาณ 3,000
ล้านบาท แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินเขตบางเขนยืนยันกับ "ผู้จัดการ"
ว่า ตัวเลขนี้ไม่น่าจะเกินจริง เพราะราคาประเมิน ณ ปัจจุบันบนที่ดินติดถนนพหลโยธินบางแปลงซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาด
นั้นตกประมาณตารางวาละ 8 หมื่นบาท โดยราคาจะลดหลั่นลงไปตาม ระยะที่ห่างจากถนน
แต่อย่าลืมว่าราคาประเมินที่ว่า นั้นเป็นราคาที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจบูม
สูงสุดที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงใหม่ ปีหน้า เขตบางเขนจะทำการประเมินราคาที่ดินครั้งใหม่ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่มีใครรู้
เช่นเดียวกับราคาประ เมินที่ดินใหม่ของบรรดาที่ดินมรดกในจังหวัดปทุมฯ รู้เพียงแต่ว่าในช่วงเศรษฐ-
กิจดิ่งลงเหวเช่นทุกวันนี้หากเอาที่ดินแปลงเหล่านั้นมาขายก็ไม่มีทางที่จะได้ราคาสูงเท่าราคาประเมินแน่นอน
ความสำคัญของตลาดยิ่งเจริญวันนี้ ก็คือ ความเป็นจริง ความเคลื่อนไหว
พัฒนาการของธุรกิจครอบครัวของ ตระกูลธรรมวัฒนะ อันเป็นพื้นฐานใน การอรรถาธิบายหรือทำความเข้าใจปัญหา
จากตระกูลนี้ ซึ่งได้รับความสนใจของสาธารณชนอย่างมาก