จุลจิตต์ บุณยเกตุ "ภาระกิจผมจบแล้ว"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

"ภารกิจผมจบแล้ว"หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2542 ได้อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างหนี้บริษัทไทยออยล์แล้วนั้น จุลจิตต์ บุณยเกตุ ก็ถือว่าภาระหน้าที่หลักของเขาในการแก้ไขปัญหาหนี้ของไทยออยล์ และปรับโครงสร้างการบริหารงานเพื่อกอบกู้กิจการโรงกลั่นน้ำมันที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ยุติลงแล้ว อย่างไรก็ดี ในส่วนของไทยออยล์นั้นยังมีเรื่องใหญ่ๆ รออยู่เบื้องหน้าคือการควบรวมกิจการเข้ากับหน่วยการตลาดของปตท. ซึ่งจุลจิตต์ก็ค่อยๆ ปรับองค์กรเพื่อรองรับแผนการควบรวมฯ ด้วยแล้ว ในเบื้องต้นอาจจะมีการทำงานร่วมกันในแบบ alliance ก่อน เพื่อรอให้ผ่านแผนการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะรู้ผลได้ภายใน 15 ตุลาคม อันเป็นวันที่เจ้าหนี้ต้องลงมติ ว่าจะรับหรือไม่รับแผนฯ ฉบับนี้

เรื่องโดย ภัชราพร ช้างแก้ว

e-mail : patcharaporn@manager.co.th

การเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้มูลค่ากว่าเจ็ดหมื่นล้านบาทของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด มีความคืบหน้าไปมากในตอนนี้ คาดว่าจะมีการจัดให้เซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กันได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากใช้เวลาเจรจากันมา 9 เดือนเต็ม ด้านไทยออยล์ได้สถานการณ์ ราคาน้ำมันเป็นใจ หลังจากที่ราคาน้ำมัน ดิบในตลาดโลกตกต่ำสุดมีราคาบาร์เรลละไม่ถึง 10 เหรียญเมื่อตอนต้นปี แต่เวลานี้กลับมีราคาสูงกว่า 23-24 เหรียญ ต่อบาร์เรลแล้ว ช่วยให้สภาพคล่องทาง การเงินของไทยออยล์ดีขึ้นมาก ล่าสุดคาดว่าปตท.ใส่เม็ดเงินแค่ 300 ล้านเหรียญเพื่อการเพิ่มทุน ก็น่าจะเพียงพอ ซึ่งมีผลทำให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนในสัดส่วนเท่ากันลดลงด้วย

จุลจิตต์ บุณยเกตุ กรรมการอำนวยการ ลูกหม้อไทยออยล์ที่อยู่กับองค์กรนี้มากว่า 30 ปีให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับการเจรจากับเจ้าหนี้ไทยออยล์ว่ามีการพูดคุยกันทุกวัน เพราะ แผนการดำเนินงานปรับโครงสร้างได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีมาแล้ว

แม้ว่าสถานการณ์น้ำมันเริ่มกระเตื้องขึ้นแล้วในช่วงนี้ เหตุเพราะน้ำมันดิบมีราคาปรับตัวสูงขึ้นบวกกับสถาน การณ์การเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศช่วยให้อัตรากำไรขั้นต้นที่ได้รับต่อบาร์เรลน้ำมันดิบ (ค่า GRM) เพิ่มสูง ขึ้น จากปีที่แล้วมีอัตราแค่ 1.89 เหรียญ ต่อบาร์เรล และกระเถิบมาเป็น 2 เหรียญ ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี มาในช่วงไตรมาส 3 นี้เคยเขยิบขึ้นได้ถึง 4 เหรียญต่อบาร์เรลในบางขณะ ซึ่งทำให้ในแผนปรับโครงสร้างหนี้ของไทยออยล์ ใช้ GRM 3 เหรียญต่อบาร์เรลเป็นอัตราเฉลี่ยเพื่อการชำระหนี้ที่มีการขยายอายุออกไปเป็น 12 ปี

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่สถาน การณ์ดีมานด์น้ำมันจะกระเตื้องขึ้นจนทำให้บรรดาโรงกลั่นทั้งหลายเริ่มหายใจคล่องขึ้นได้นั้น ไทยออยล์ประสบปัญหา การขาดสภาพคล่องเหมือนกับโรงกลั่นอื่นๆ แต่ไทยออยล์มีปัญหาแตกต่างออกไปตรงที่บริษัทมีโครงสร้างของทุนประกอบด้วยส่วนของทุนต่ำและส่วนของภาระหนี้สูง (จากเงินกู้และดอกเบี้ยจ่าย) ซึ่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2542 บริษัทไทยออยล์มีทรัพย์สินรวม 93,798 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 83,128 ล้านบาท และมีภาระหนี้รวม 2,170 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท

นอกจากนี้ไทยออยล์ยังมีโครงการลงทุนในบริษัทในเครืออีกรวม 7 แห่ง ที่สำคัญและได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดสภาพคล่องของไทยออยล์ที่ขอพักการชำระหนี้ (standstill) ไปเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2541 ที่ผ่านมาคือโครง การไทยพาราไซลีน จำกัด (TPX)

โครงการ TPX มีมูลค่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทไทยออยล์ร่วมทุนกับบริษัทมิตซูบิชิ โฮลดิ้ง (ประ-เทศไทย) จำกัด (MOC) ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 62 และร้อยละ 38 ตามลำดับ โครงการประสบปัญหาการก่อสร้างที่ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 70 ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากไทยออยล์ไม่สามารถชำระเงินเพิ่มทุน และ TPX ไม่สามารถเบิกเงินกู้ได้ ทำให้ค้างชำระค่าก่อสร้างผู้รับเหมา JGC Corporation เป็นเงินประมาณ 94 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไทยออยล์และ MOC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท มิตซูบิชิออยล์ คอมพานี ประเทศญี่ปุ่น ได้ขอให้ปตท. พิจารณาเข้าร่วมทุนใน TPX เพื่อช่วยเหลือให้โครงการ TPX ดำเนินการต่อไปได้ โดยปตท.และไทยออยล์จะร่วมกันถือหุ้น แต่ลดสัดส่วนลงเหลือร้อยละ 51 ขณะที่ MOC และผู้ร่วมทุนใหม่จากญี่ปุ่นจะเพิ่มทุนและเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น จากร้อยละ 38 เป็นร้อยละ 49

นั่นเป็นแนวทางการแก้ปัญหาบริษัทในเครือคือ TPX ที่ปตท.และไทยออยล์ตัดสินใจที่จะคงสัดส่วนการถือหุ้นไว้ ขณะที่กิจการอื่นๆ บางแห่งบริษัท ตัดสินใจขายออกให้ผู้ลงทุนที่สนใจ

แนวทางแก้ไขปัญหาของปตท.

ในการประชุมครั้งที่ 6/2542 คณะกรรมการปตท.มีมติให้ปตท. ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทไทยออยล์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

- วัตถุประสงค์การแก้ไขปัญหาของไทยออยล์คือ ให้เป็นการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ (One Time Solution) เพื่อให้ไทยออยล์สามารถดำเนิน ธุรกิจต่อไปได้ โดยต้องมีการปรับโครงสร้างเงินทุนให้มีสัดส่วนหนี้สินที่เหลือต่อทุน ในอัตราที่เหมาะสมใกล้เคียงกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนี้ปตท.จะดำรงสัดส่วนการถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49.99 ปตท.และผู้ถือหุ้นที่ลงเงินใหม่ต้องได้รับผลตอบแทน ในระดับที่เหมาะสม และเพื่อแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับปตท .และสถาบัน การเงินผู้ให้กู้ รวมทั้งแสดงเจตนารมณ์ที่ดีในการแก้ปัญหาธุรกิจในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อธนาคาร ต่อเจ้าหนี้ที่ทำธุรกิจด้วยกันในปัจจุบันและที่อาจจะมีในอนาคต (ดูล้อมกรอบ มติที่ประชุมคณะรัฐมน-ตรีเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้บริษัท ไทยออยล์ จำกัด และบริษัทในเครือไทยออยล์)

- การปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท

ในส่วนของฝ่ายจัดการนั้น ได้มีการดำเนินงานหลายอย่างเพื่อประสิทธิ ภาพการกลั่น การปรับลดค่าใช้จ่ายอย่าง เข้มงวดและเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร เพื่อยืดเวลาการเดินเครื่องจักรระหว่างการหยุดซ่อมบำรุง ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 600 ล้าน บาทต่อปี

นอกจากนี้ได้มีการทำ Com-bustion Management ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานและทำให้ GRM เพิ่ม ขึ้นประมาณ 0.10-0.15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

มีการลดจำนวนพนักงาน โดยให้มีปัญหาการบริหารงานน้อยที่สุด ซึ่ง นับตั้งแต่เกิดวิกฤตได้ปรับลดพนักงานจากจำนวน 1,054 คน (ณ มกราคม 2541) เหลือประมาณ 775 คน (ณ กันยายน 2542) เฉพาะที่สำนักงานใหญ่ซึ่งเคยมีพนักงานที่เป็น non-technical ประ-มาณ 154 คนนั้น เวลานี้ปรับลดลงเหลือแค่ 49 คนเท่านั้น

จุลจิตต์เล่าว่า "งบประมาณที่จ่ายให้แก่คนที่ออกไป มีการ pay out หลายรูปแบบ แต่จ่ายไม่เกิน 2 ปีหรือ 20-22 เดือน สำหรับคนที่ออกไปประมาณ 300 กว่าคน งบประมาณทั้งหมดที่เราจ่าย compensation ให้ไม่เกิน 80 ล้านบาท"

นอกจากนี้ มีการดำเนินการยกเลิกการเช่าสำนักงานในกรุงเทพฯ และย้ายไปอยู่ที่โรงกลั่นทั้งหมดตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2542 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีสำนักงานประสานและติดต่อ (Liaison office) โดยมีห้องทำงาน 2 ห้อง(สำหรับจุลจิตต์และชายน้อย เผื่อน โกสุม รองกรรมการอำนวยการ และห้องประชุม ทั้งนี้เพราะยังต้องมีการเจรจาเป็นประจำกับคณะกรรมการเจ้าหนี้

ในด้านของบริษัทในเครือนั้น ได้มีการกำหนดนโยบายเพื่อลดขนาดการลงทุนของบริษัทไทยออยล์ โดยพิจารณาเสนอขายบริษัทในเครือทั้ง หมดหรือบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ไม่มีผลกระทบโดยตรงหรือไม่ได้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อโรงกลั่น เพื่อให้มีเม็ดเงินใหม่เพิ่มเติมเข้ามาแก้ไข ปัญหาโรงกลั่น (ดูตารางแนวทางแก้ไขปัญหาบริษัทในเครือ)

ด้านของผู้ถือหุ้น เนื่องจากสัญญาเงินกู้ของไทยออยล์ ไม่มีภาระผูกพันต่อผู้ถือหุ้นทุกราย ผู้ถือหุ้นคือเชลล์และคาลเท็กซ์ไม่มีความประสงค์ที่จะเพิ่มทุนในไทยออยล์อีกต่อไป เนื่องจากผู้ถือหุ้นทั้งสองรายมีโรงกลั่นที่สร้างเสร็จแล้วเป็นของตัวเอง

จุลจิตต์เล่าว่า "เชลล์กับคาลเท็กซ์ เขาบอกว่าเขาไม่ขัดขวาง เขาคงไม่เพิ่มทุนเพราะเขามีโรงกลั่นของเขาเอง ปัญหา ที่เราต้องจัดการคือเรื่องการรับซื้อน้ำมันในส่วนที่เขาจะช่วยรับซื้อเราโรงละประมาณ 10% เราขายปตท.ประมาณ 50%-60% ส่วนที่เหลือเราจะขายเองให้พวก independence และบางส่วนก็อาจจะ export ออกไป คือให้เขาซื้ออย่างที่เคยซื้อ ก็คงต้องให้รับซื้ออยู่ช่วงหนึ่ง ต้องมีสัญญากัน ไม่ใช่ให้รับซื้อตลอดไปหรอก เพราะน้ำมันเราจะ ba-

lance ในปี 2004-2005 นี่แหละ คือให้ซื้อสัก 4-5 ปีข้างหน้านี้ อันนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่ปตท.ต้องเจรจาช่วยผม"

ส่วนผู้ถือหุ้นเอกชนคือกลุ่มนาย เชาวน์ เชาวน์ขวัญยืน ไม่ต้องการจะเพิ่มทุนและมีความประสงค์จะขายหุ้น ดังนั้น ปตท.จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ในไทยออยล์

จุลจิตต์ให้ความเห็นว่า "เมื่อคุณเชาวน์ไม่เพิ่มทุน ก็ต้องจ่ายชดเชยให้เขา ให้เขาอย่ามา block อะไรต่างๆ ซึ่งนี่ก็อยู่ในแผนการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยเราบอก lenders ไปแล้ว ถึงเวลาเป็นเรื่องที่ lenders ต้องคุย อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของผม เขาจะมาเสียเวลาต่อสู้ในศาลก็คงต้องใช้เวลานาน หากข้อเรียกร้อง เขาเป็นสิ่งที่ lenders รับได้ก็น่าจะ ตกลงกันได้ อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของผม เป็นเรื่องของปตท.กับ lenders เขาคุยกัน ผมไม่เกี่ยว ผมเป็นเพียงผู้บริหาร เราบอกเรื่องนี้ให้ lenders ฟังอยู่ในแผนว่าเรื่องปัญหา 25% ของคุณเชาวน์ต้องมีการพูดคุยกันว่าจะทำความตกลงกันอย่างไร ระหว่าง lenders กับกลุ่ม คุณเชาวน์เราและปตท.ทำหน้าที่ประสาน ทำความเข้าใจให้กับ lenders"

ปตท.ในฐานะผู้ถือหุ้นรายเดียวในไทยออยล์ ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐได้กำหนดเงื่อนไขการดำเนินการร่วมกับเจ้าหนี้บริษัทไทยออยล์คือ จะดำรงสัดส่วนการถือหุ้นในไทยออยล์ไม่เกิน 49.99% และพร้อมจะเพิ่มทุนเป็นเงินประมาณ 350 ล้านเหรียญสหรัฐหรือตามความจำเป็นและเหมาะสมนอก จากนี้จะต่อสัญญารับซื้อผลิตภัณฑ์กับบริษัทไทยออยล์ (Product Supply Agreement) ประมาณร้อยละ 50 ของ ปริมาณการผลิต เมื่อสัญญาเดิมสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 และจะช่วยเจรจาให้เชลล์และคาลเท็กซ์พิจารณาต่อสัญญารับซื้อผลิตภัณฑ์ออกไปอีกประมาณ 1-3 ปี

ปตท.ยังพิจารณาเรื่องการร่วมทุนใน TPX โดยยึดหลักความสมเหตุสมผลในทางการค้า ซึ่งปตท.ได้วิเคราะห์หลักเศรษฐศาสตร์ของโครงการและพบว่ามีผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ (Internal Rate of Return หรือ IRR) เท่ากับ 13.10%

ด้านของเจ้าหนี้ ถูกขอร้องให้สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ดังนี้ คือ ให้แปลงหนี้เป็นทุนประมาณ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหนี้มีสัดส่วนการถือหุ้นในไทยออยล์ร้อยละ 49.99 แต่เนื่องจากเจ้าหนี้ในกลุ่มสถาบัน การเงินไม่มีนโยบายที่จะถือหุ้นในอุตสาหกรรมการกลั่น เนื่องจากไม่ใช่ธุรกิจหลักของสถาบันการเงิน ดังนั้น ปตท.จะ ร่วมหารือพิจารณาแนวทางการขายหุ้นให้แก่ผู้ที่สนใจในอนาคตต่อไป (ดูล้อมกรอบ ว่าด้วยเจ้าหนี้สถาบันการเงินของไทยออยล์)

นอกจากนี้ก็ขอให้เจ้าหนี้ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปเป็นประมาณ 10-15 ปี พร้อมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ย ให้สอดคล้องกับประมาณการกระแสเงินสดรับ

ปตท.ควบรวมไทยออยล์

(การตลาด+การผลิต=คุมตลาดน้ำมัน)

หากแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่นำเสนอต่อเจ้าหนี้ครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งได้มีการนำเสนอไปเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ภายในวันที่ 25 กันยายน ตัวแทนกลุ่มเจ้าหนี้จะเสนอแผนปรับ ปรุงแผนปรับโครงสร้างหนี้ที่ยื่นไปนั้น ยื่นกลับมา และเจ้าหนี้ต้องลงมติภาย ในวันที่ 15 ต.ค. ว่ารับได้หรือไม่ได้ แต่ หลังจากนั้นแล้ว เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ที่จะขอยืดเวลาจากนั้นแล้ว ต้องลงมติ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของบริษัทอาจจะขอ CDRAC ยืดเวลาได้อีก 2 เดือน ถ้าเกิดบริษัทกับเจ้าหนี้ไม่สามารถ ตกลงกันได้ คือหลังจากนั้นแล้วเจ้าหนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมายแล้ว คือฟ้องร้องบริษัท ฟ้องล้มละลายอะไรก็แล้วแต่

"ถ้าพูดไป เราก็คิดว่าภายใน 15 ต.ค.นี่จะจบ แต่หากไม่จบ มันก็ต้องรู้ภายในสิ้นปี คือ 15 ธ.ค. คือก่อนปีใหม่นี่ต้องรู้ว่าจะได้เป็นของขวัญหรือเปล่า" จุลจิตต์กล่าวอย่างมีความหวังเต็มที่

ทั้งนี้หลังจากปรับโครงสร้างหนี้เรียบร้อย แผนการดำเนินงานต่อไปของ ไทยออยล์คือการควบรวมกิจการกับปตท. โดยแนวทางการควบรวมกิจการด้านการตลาดหรือการค้าปลีก (การจำหน่ายน้ำมันผ่านปั๊ม) ของปตท.เข้ากับ โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์นั้นเป็นหลักการที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐ-มนตรีตั้งแต่เมื่อ 29 กันยายน 2541 ซึ่งถือว่านี่เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหากล่มธุรกิจการกลั่นของปตท. โดยให้ปตท.ดำรงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ไทยออยล์ จำกัดไม่เกินร้อยละ 49 และลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด จากร้อยละ 36 เหลือประมาณไม่ต่ำกว่าร้อย ละ 10 หรือตามความเหมาะสม

นั่นเท่ากับจะทำให้ปตท.มีโรงกลั่นไทยออยล์เป็นโรงกลั่นที่ปตท.มีอำนาจการควบคุมเป็นแหล่งผลิตหลัก โดยปตท.สามารถกำหนดนโยบายทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อความมั่นคงทางด้านการจัดหาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทน้ำมันต่างชาติได้เต็มรูปแบบและครบวงจรยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในส่วนของไทยออยล์ จุลจิตต์ได้ดำเนินการเตรียมควบรวมคืบหน้าไปมากด้วยการปรับลดขนาดกิจ การลง จุลจิตต์เล่าว่า "แผนที่ชัดเจนอีกอย่างคือเราจะมีการควบรวมกิจการกับปตท.ในส่วนของกิจการน้ำมัน ซึ่งในส่วนของเรานั้นเราพร้อมแล้ว"

ไทยออยล์ดำเนินการ down-sizing ปิดสนง.ใหญ่ อีกประมาณปี กว่า พนักงานไทยออยล์จะเหลือไม่เกิน 700 คน จากการเกษียณโดยธรรม ชาติ คือเมื่อเกษียณไป 2 คนบริษัทฯ จะ replace แค่ 1 คนเท่านั้น เป็นต้น เป็นการลดกำลังคน แม้จะจบแผนแล้วก็ยังทำอย่างต่อเนื่องเพราะในอนาคตนั้นธุรกิจการกลั่นจะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพราะว่า supply ยังล้นอยู่

"เราต้องพยายามทำ cost ของเราให้ต่ำ และอีกอย่างเมื่อเราควบรวมแล้ว บริษัทน้ำมันต่างชาติไม่ได้สนใจแค่เรื่องโรงกลั่น เมื่อเป็นกิจการที่ควบรวมแล้ว เขาจะมี share ในกิจการที่ ใหญ่ขึ้น เป็น integrated operation และเขาสามารถจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นผ่าน ตลาดได้ มี capital gain จากตรงนั้นได้ "จุลจิตต์ชี้ให้เห็นความน่าสนใจของกิจการที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวม ซึ่งอาจจะทำให้มีพันธมิตรธุรกิจรายใหม่ๆ เข้ามาร่วมลงทุนด้วยง่ายขึ้น

ด้านผลประโยชน์จากการควบรวมกิจการที่จะตกแก่ประเทศชาตินั้น จุลจิตต์มองว่า "ก็อาจกล่าวได้ว่าเราสามารถสร้าง benchmark price ในเรื่องราคาให้ตลาดได้ แม้รัฐบาลไม่ได้แทรกแซงราคา แต่ในท้ายที่สุดมันเป็นโรงกลั่นของรัฐ รัฐอาจจะขอให้ชะลอกการขึ้นราคาได้โดยไม่ได้แทรกแซง อย่าง คราวที่แล้วปตท.ชะลอการขึ้นราคาไปหนึ่งอาทิตย์นี่ บริษัทน้ำมันต่างชาติโวยวาย เราก็ว่าไม่ได้แทรกแซง เราเพียงแต่ช่วยประชาชนโดยกำไรของเราลดลง ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการแทรกแซง แต ่เป็นการช่วยประชาชนต่างหาก มัน peak กันอยู่เราก็ต้องลด เวลาบริษัทน้ำมันต่างชาติ dump ราคาเรายังไม่เห็นบ่นเลย มันเป็นยุทธศาสตร์ทางด้าน การค้า เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจมาก กว่า ถ้าลดมากเขาก็ตีตลาดเอามาร์เก็ตแชร์ได้มากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม แผนการควบรวมฯ นี้ไม่ว่าแผนปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นอย่างไร แผนควบรวมก็ต้องเดินหน้าต่อไป โดยแนวคิดของจุลจิตต์ตอนนี้คือควรจะมีหน่วยงานใหม่ขึ้นมา แล้วเอากิจการโรงกลั่นของไทยออยล์กับกิจการด้านการตลาดของปตท.เข้าไปอยู่ภายใต้องค์กรใหม่นี้

"การควบรวมนี้ตามไอเดียผมน่าจะเป็น body ใหม่ แล้วเอาสองส่วนนี้คือทั้งส่วนการผลิต หรือ manu-facturing และฝ่ายการตลาดหรือ marketing ไปอยู่ข้างใต้ under one roof มี one single board เหมือนกับเอสโซ่

มันต้องเป็น body ใหม่ เพียงแต่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม มันต้องเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ National Oil company อะไรก็ว่าไป" ซึ่งในส่วนของ ไทยออยล์นั้น จุลจิตต์พร้อมรับมือแผนควบรวมแล้ว

หลังจากปตท.เข้าถือหุ้นในไทยออยล์ 49.99% และมีการควบรวมกิจ การโรงกลั่นกับการตลาดเข้าด้วยกันดังที่กล่าวมาแล้ว ภาพอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศจะเปลี่ยนไปมากเพราะเท่า กับเกิดลักษณะเป็น major oil company ขึ้นใหม่ในเมืองไทย คือองค์กร ใหม่นี้กลายเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยกำลัง การผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่มากที่สุดในเมืองไทยเหล่านี้ (ปตท.มีส่วนแบ่งตลาดการจัดจำหน่ายผ่านปั๊ม 26% ส่วนไทยออยล์มีกำลังการผลิต 220,000 บาร์เรลต่อวัน)

แต่ในส่วนขององค์กรนั้น จุลจิตต์มองว่า "ภาพไม่เปลี่ยนแปลง" เพราะ หน่วยผลิตและหน่วยการตลาดยังแยกหน่วยงานอยู่ เพียงแต่ว่ามีบอร์ดเดียว กัน มีทอปแมนคนเดียว

"เผอิญผมมาลดขนาดองค์กร เมื่อก่อนเรามีทางด้าน business development อะไรต่างๆ ทีนี้เราค่อนข้างชัดเจนว่าการพัฒนาธุรกิจเราจะยึดอยู่กับ 2 ตัวนี้ และผมลดจำนวนคนที่เป็น non-technical ไปเยอะแล้ว ดังนั้นการควบรวมกิจการนี่มันง่ายมากผม ว่าง่ายมากเลยนะ เพราะว่าผู้บริหารระดับสูงนี่เข้าใจกัน และผมนั่งอยู่ในบอร์ด ปตท.ด้วย อดีตผู้ว่าปตท.คือคุณพละ สุขเวช ก็นั่งเป็นประธานอยู่ในไทยออยล์ด้วย ผมว่าการควบรวมนี่จะง่ายมาก"

แผนการควบรวมฯครั้งนี้ ปตท. มอบให้ Boston Consultant เป็นคนศึกษา ซึ่งก็ทำเสร็จแล้ว เพียงแต่ตอนนี้ต้องทำแผนการควบรวมเฉพาะในเรื่องของไทยออยล์แยกออกมา เพื่อให้เจ้าหนี้ญี่ปุ่นได้พิจารณาชัดเจนว่าเขามีแนวทางถอนการลงทุนได้อย่างไร หากจะมีการแปลงหนี้เป็นทุนในแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่กำลังพิจารณาอยู่

"เมื่อก่อนนี่แผนของเรารวมอยู่ในแผนแปรรูปอันใหญ่ ทีนี้ส่วนของเราต้องการทำออกมาก่อน ก็ต้องมาศึกษาก่อน ผมก็ว่าเร็ว ที่จะหนักก็คือการหาคนมาทำ due diligence เรื่องการตีราคาสินทรัพย์ ซึ่งต่างคนต่างรู้ book กันอยู่แล้ว มันจะเป็นการควบรวมที่ง่ายในความเห็นของผมนะ" จุลจิตต์กล่าว

 

หาพันธมิตรร่วมทุน

แนวคิดเรื่องพันธมิตรร่วมทุนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทั้งนี้เพราะในระยะหลังที่มีพัฒนาการของการเจรจาหนี้ไปมากพอสมควร ก็ทำให้เกิดความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ เช่น รัฐบาลโอมานให้ความสนใจในกิจการไทยออยล์มาก โดย รมต.ของโอมานได้เดินทางมาเยี่ยมไทยออยล์ และอยากเห็นว่าแผน debt restructure ของบริษัทผ่านไปได้เรียบร้อย

"หากแผนฯ จบได้ ก็จะได้นั่งคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวในเรื่องของแผนลงทุน ด้าน (Coastal) ก็กลับมาอีก ก็มาคุยเพราะว่าสนใจที่จะทำโรงไฟฟ้า สนใจที่จะทำน้ำมันเตาเป็น zero fuel oil เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่จะใช้ gas มากขึ้น มีความสนใจและรอดู และอยากให้เรา keep เขา up to date ในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ว่าไปถึงไหน หลังจากที่มีการเซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วเราก็คงจะมีการคุยกันมากกว่านี้" จุลจิตต์เล่าความคืบหน้าของผู้ที่สนใจลงทุนที่เข้ามาติดต่อพูดคุยกรุยทางกันไว้

ในส่วนของประเทศโอมานนั้น ก็มีการสร้างโรงกลั่นและรมต.น้ำมันของเขาติดใจความสามารถของวิศวกรไทยว่าเก่งมาก และเผอิญผู้จัดการโรงกลั่นของไทยออยล์จบการศึกษาจาก Imperial College และรมต.น้ำมันโอมานก็เป็นนักเรียนเก่า Imperial College เหมือนกัน

จุลจิตต์เล่าว่า "เขาเคยเป็นโปรเฟสเซอร์มาก่อนหน้า แล้วอยู่ๆ กษัตริย์ของเขาเลือกเขาเป็นรมต. ก็เลยคุยกันถูกคอมาก เขาให้เราไปช่วยฝึกหัด คนงานของเขาที่โน่น ตอนนี้เราพัฒนาเรื่องการฝึกอบรมมาก เมื่อเร็วๆ นี้เราก็ฝึกอบรมให้กับเปโตรนาส 30-40 คนเมื่อเดือนที่แล้ว เทรนแล้วแจกประกาศ นียบัตรเลย เราพัฒนาเรื่องนี้มาก ตอนที่เชลล์และคาลเท็กซ์เขาเริ่มดำเนินงาน เราก็เทรนคนให้เขา เพราะเรากลัวว่าเขาจะมา pirate คนของเรา มีการทาบทามแล้ว ผมบอกอย่ามาเอาคนของผมไป ผมจะเทรนให้ไม่คิดกำไร คิด at cost เท่านั้น"

จุลจิตต์ยังมีแผนพัฒนาความสัมพันธ์กับโอมานมากขึ้น "นี่ก็กำลังคิดจะส่งคนไปโอมาน ไปช่วยเขาวางแผนเรื่องวิศวกรอะไรต่างๆ คือเราก็เป็นลูกค้าในการใช้น้ำมันดิบของเขาอยู่แล้ว ที่ปตท.ซื้อขายกันนี่ รู้สึกเขาให้โควตาเรามากขึ้น คงมีการพัฒนาในเชิงของการประสานงานติดต่อทางเทคนิคมากขึ้น เขา พอใจเรามาก และขณะเดียวกันก็อาจจะมีการพัฒนาไปสู่เรื่องการเป็นพันธมิตร ร่วมทุนเมื่อแผนปรับโครงสร้างหนี้จบ"

ดูเหมือนไทยออยล์จะมีอนาคตที่ดีรออยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็นการควบ รวมกิจการกับปตท. การหาพันธมิตรร่วมทุน หากสามารถผ่านการยอมรับแผนปรับโครงสร้างหนี้โดยเจ้าหนี้ได้ ไทยออยล์จะกลับมาผงาดในตลาดน้ำมันได้อีกครั้ง และแข็งแกร่งกว่าเดิมด้วยการครองตำแหน่งทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่สุดในประเทศ!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.