ไม้สัก เป็นเศรษฐกิจกระแสหลักของเชียงใหม่ และหัวเมืองภาคเหนือมายาวนานกว่า
100 ปี นับจากการที่มีบริษัททำไม้ต่างชาติเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องมาถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่
2 ไม้สัก เป็นตัวการเปลี่ยนโฉมหน้า ของเชียงใหม่อย่างขนานใหญ่ในแทบทุกมิติ
นับตั้งแต่ด้านการเมือง ที่ผูกกับการดึงอำนาจในการจัดการผลประโยชน์ตัวนี้จากเจ้าผู้ครองนคร
เข้าสู่อำนาจส่วนกลางในสมัยร.5 และก็มีการให้สัมปทาน กับบริษัทชาติตะวันตก
เช่น อี๊สต์เอเชีย-ติ๊ก และบอมเบย์เบอร์ม่า จนแม่ปิงฝั่งตะวันออกกลายเป็นเขตที่คนต่างชาติทั้งฝรั่งและจีนมาปักหลักกันในยุคนั้น
ไม้สักนำมาซึ่งการพัฒนาด้านสังคม เช่น โรงเรียนและโรงพยาบาล จาก มิชชันนารีอเมริกันที่ปักหลักอยู่ระหว่างบริษัทของกลุ่มพ่อค้าไม้อังกฤษ
โดยมีเรื่องเล่ากันว่าทั้งสองฝ่ายไม่ค่อยชอบหน้ากันเท่าใดนัก
ต่อมาก็เริ่มเปิดสัมปทานป่าให้กับ ทุนจีน แต่น่าเสียดายที่ตระกูลทุนจีนทำไม้ยุคแรกๆ
ไม่มีตกทอดหรือปักหลักกัน ในเชียงใหม่เลย เช่น ตระกูลโสภโณดร ของนายอากรเต็ง
"เตียอูเต็ง" หรือ หลวง อุดรภัณฑ์พานิช เขาเป็นจีนที่ผูกขาดทั้งการค้าและทำไม้ในภาคเหนือในกำมือในช่วงดังกล่าว
แต่อากรเต็งและทายาทก็เลือกจะปักหลักในเมืองหลวงมากกว่าจะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ
(อ้างอิงจากประยุทธ์ สิทธิพันธ์, คนหมายเลขหนึ่ง, พิบูลย์การพิมพ์ 2507 )
ผลประโยชน์จากไม้สัก เริ่มกระจายจากมือฝรั่งหลังจากสงครามโลก ครั้งที่
2 มาสู่ทุนท้องถิ่น เป็นตำนานการ เกิด "พ่อเลี้ยงไม้" หลายตระกูลในยุคต่อมา
และยังเชื่อมโยงกับการสร้างกระแสเศรษฐกิจใหม่ทางการเกษตรคือ ใบยาสูบ ให้กับทุนท้องถิ่นกลุ่มนี้อีกทางหนึ่ง
โดยยาสูบเริ่มเป็นพืชเศรษฐกิจให้กับภาคเหนือหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองไม่นานนัก
อย่างไรก็ตาม ไม้สัก ได้กลายเป็น อดีตของกระแสเศรษฐกิจหลักของเชียงใหม่และภาคเหนือจากนโยบายปิดป่า
เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง เหลือเพียงทุนขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเพียง
กลุ่มเดียวคือ ยาสูบ ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ภาย ใต้การควบคุมของโรงงานยาสูบ กระ-ทรวงการคลัง
ปริมาณที่เหลือจากโควตา รับซื้อจะถูกส่งออก และเป็นผลประโยชน์ ปีละนับพันล้านบาทให้กับกลุ่มผู้ค้าใบยา
หมดจากยุคไม้สัก การค้าได้กลายเป็นเศรษฐกิจกระแสหลักของทุนรุ่นใหม่ พัฒนาการของเศรษฐกิจเมือง
เชียงใหม่ในยุคต่อมา มีรากฐานมาจากการค้าของพ่อค้าชาวจีน จากภาคกลางที่ เริ่มเข้ามาบุกเบิกก่อสร้างตัวหลังจากการ
ปฏิรูปการปกครอง และชาวจีนกลุ่มนี้เอง ที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในช่วง
50 ปีหลัง
แท้จริงแล้วที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเหมาะสมของเมืองเชียงใหม่ เป็นศูนย์
กลางตามธรรมชาติต่อการค้าเชื่อมโยงกับพื้นที่ต่างๆ ตอนในไม่ว่าจะเป็น พม่า
หรือ จีนตอนใต้ ก่อนหน้าที่จะมีการค้าขายทาง เรือกับศูนย์อำนาจกรุงเทพฯ ช่วงรัชกาลที่
5 และ 6 ได้มีคาราวานสินค้าเรียกว่า ขบวนวัวต่าง โดยชาวฮ่อ และเงี้ยว ค้าขายเชื่อมโยงกันภายในพื้นที่เป็นระยะ
เวลานานมากแล้ว
ชาวจีนอพยพยุคแรก เลือกใช้การ เดินทางค้าขายด้วยเรือ เรียกว่าเรือแม่ปะ
หรือ หางแมงป่อง ล่องค้าขายกับกรุงเทพฯ และหัวเมืองรายทาง จนกระทั่ง ทางรถไฟสายเหนือได้เชื่อมมาถึงสถานี
เชียงใหม่ในพ.ศ. 2464 ยิ่งกลายเป็นปัจจัย เร่งอย่างรุนแรงต่อการเติบโตทางการค้า
และการสร้างตัวของทุนจีนในยุคต่อมา
ปลายอ้อ ทองสวัสดิ์ ได้ศึกษาภาวะขยายตัวของทุนจีนในเชียงใหม่หลัง จากที่ทางรถไฟมาถึง
ในวิทยานิพนธ์เรื่อง นายทุนพ่อค้ากับการก่อและขยายตัวของ ระบบทุนนิยมในภาคเหนือ
(2464-2523), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพบว่าการ สะสมทุนจากการค้าในกลุ่มชาวจีนที่เพิ่ง
เข้ามาในเชียงใหม่เป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากการค้าข้าว และนำเครื่องอุปโภคบริโภคเข้ามาจำหน่ายในเชียงใหม่
คนกลุ่มนี้กลายเป็นธุรกิจหลักที่สร้างเมืองเชียงใหม่ในเวลาต่อมา
รูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเชียงใหม่กับศูนย์อำนาจเศรษฐ-กิจในกรุงเทพฯ
ถือเป็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ก่อรูปอย่างต่อเนื่อง
แต่กรอบของความสัมพันธ์ในทางการค้าระหว่างหัวเมืองใหญ่กับศูนย์ กลางกรุงเทพฯ
ยังเป็นไปในรูปของการพึ่งพิงที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวแบบของการพึ่งพิงของธุรกิจหัวเมืองกับอำนาจส่วนกลางนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวแต่การเติบโตของธุรกิจหัวเมืองนั้น
มีการพึ่งพิงอำนาจทางการเมืองควบคู่กัน ไปด้วย
กลุ่มธุรกิจที่สำคัญของเชียงใหม่ ในยุคการขยายตัวทางการค้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี
เช่น
กลุ่มชินวัตร โดยเริ่มจากอากร-เส็ง ต้นตระกูลชินวัตรที่อพยพมาจากจันทบุรี
จากการเป็นนายอากรแต่มีเหตุการณ์ขัดแย้ง จนเห็นช่องทางของการค้าผ้าไหม จึงอพยพครอบครัวไปปักหลักที่สันกำแพง
ในพ.ศ.2453 ซึ่งยุคนั้นเป็นชุมชนใหญ่ด้านตะวันออกที่ห่างไกลเชียงใหม่พอสมควร
เติบโตมาจากการค้าผ้าไหม ลูกหลานรุ่นต่อมาของ ชินวัตรแม้ว่าส่วนหนึ่งจะแยกไปประกอบ
อาชีพอื่น แต่กิจการสำคัญคือผ้าไหมยัง เป็นหลักอยู่
กลุ่มชุติมา-นิมมานเหมินท์ เริ่มต้นจากหลวงอนุสารสุนทร (ซุนฮี้ แซ่ฉั่ว)
ที่มีความผูกพันกับอำนาจรัฐเป็นนายอากรหมาก และสะสมทุนจากที่ดินเป็นเจ้าของตลาดสดใหญ่ๆ
และร้านค้าชื่อ ชัวย่งเส็ง
ลูกหลานของตระกูลนี้มีบทบาท อย่างมากในเชียงใหม่ยุคพ.ศ.2500 เป็นต้นมา
เริ่มบุกเบิกกิจการค้าใหม่ๆ ให้ กับเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ
สร้างโรงแรมชั้นหนึ่งแห่งแรกคือ โรงแรม รินคำ เพื่อรองรับอนาคตทางการท่องเที่ยวที่ก่อนหน้านี้คนเชียงใหม่ยังมองไม่
ออกว่าการท่องเที่ยวจะเป็นเศรษฐกิจหลักของเมืองได้อย่างไร
กลุ่มตันตรานนท์ การค้าปลีกของ ตระกูลตันตรานนท์ ภายใต้ชื่อ "ห้างตันตราภัณฑ์"
ได้กลายเป็นตำนานการค้าของเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์ไปแล้ว ภายหลังที่ต้องสูญเสีย
"ยี่ห้อ" ให้กับกลุ่มเซ็นทรัล-โรบินสัน เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ก็ยัง คงมีกิจการค้าปลีกของตนในรูปของ
ซับแอเรียไลเซนส์ ร้าน 7-อีเลฟเว่น และ ริมปิงซุปเปอร์สโตร์
ตัวแบบของการค้าที่เริ่มต้นจากร้านของชำ สั่งสินค้าจากต่างประเทศและ ของอุปโภคบริโภคมาจำหน่าย
ขยายมาสู่ห้างสรรพสินค้าประเภท Department Store แห่งแรกในภูมิภาค แต่ก็ทนแรงเสียดทานของการแข่งขันในธุรกิจนี้ที่
เน้นทุนเป็นหลักไม่ได้
นอกจาก 3 กลุ่มซึ่งเป็นที่รู้จักกัน ในระดับประเทศ ก็ยังมี ตระกูลศักดาธร
เจ้าของบริษัทนิยมพานิช ผู้เติบโตจากการ เป็นเอเยนต์จำหน่ายสินค้าตั้งแต่รถยนต์
มอเตอร์ไซค์ เครื่องไฟฟ้า มาจนถึง คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่ปัจจุบันมีสาขาในภาคเหนือตอนบนหลายจังหวัด
ตระกูล เลียวสวัสดิพงษ์ ซึ่งต้นตระกูลเติบโตมาจากการค้าทางเรือ มีธุรกิจที่หลากหลายตั้งแต่เป็นตัวแทนขาย
รถยนต์ เครื่องไฟฟ้า และทำร้านอาหารที่โด่งดังที่สุดในเชียงใหม่เพราะได้ต้อนรับ
แขกระดับ เมดเดลีน อัลไบรต์ กับ มาดามคลินตัน มาแล้ว
สุดท้ายของกลุ่มธุรกิจที่เติบโตอย่างชัดเจนในยุคของการค้าคือ ตระกูลกิตติบุตร
เจ้าของเชียงอินทร์พลาซ่า ย่าน ไนท์บาร์ซ่าเป็นกลุ่มที่สะสมทุนจากการค้า
ทางเรือเช่นเดียวกัน
กรอบธุรกิจการค้าแบบเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า หรือการต้องพึ่งพิงส่วนกลาง
เริ่มจะกลายเป็นปัญหาให้กับธุรกิจในยุคการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ อันสืบเนื่องมาจากความซับซ้อนทางการตลาดที่มากขึ้น
กรณีการดึงอำนาจในการจัดซื้อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์รวมระหว่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น
กับกลุ่มตันตราภัณฑ์เจ้าของซับแอเรียไลเซนส์ เมื่อช่วงปีที่ผ่าน มาเสมือนกับการลดอำนาจต่อรองของกลุ่มในการสั่งสินค้าจากซัปพลายเออร์สำหรับกิจการค้าปลีกของตัวเองไปในตัว
การเปิดเสรีทางการตลาดสินค้ารถยนต์ ทำให้เอเยนต์ หรือดีลเลอร์รายเดิม
ไม่สามารถที่จะผูกขาดการขายสินค้า เฉพาะในพื้นที่ได้อีกต่อไป ลักษณะเช่นนี้ไม่จำกัดเฉพาะสินค้ารถยนต์เท่านั้น
เหล่านี้เป็นตัวอย่างของข้อจำกัดเรื่องเพดานการเติบโตของธุรกิจที่เป็นตัวแทนจำหน่าย
ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจของ หัวเมืองมาแต่เดิม
แม้ว่าในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู ทุน ท้องถิ่นในยุคการค้าได้ขยายไลน์ธุรกิจออกมาอย่างกว้างขวางและหลากหลาย
เช่น โรงแรมและการบริการ หรืออสังหา-ริมทรัพย์ แต่ทว่าธุรกิจกลุ่มนี้จะมีปัจจัย
สำคัญที่บ่งชี้การอยู่รอดหรือเติบโตในอนาคต นั่นคือ ทุนที่มากเพียงพอ ซึ่งธุรกิจในพื้นที่ส่วนใหญ่ล้วนแต่มีข้อจำกัด
เรื่องนี้แทบทั้งสิ้น
ยุคที่ 3 ของเชียงใหม่
ทางออกของรายย่อย
ยุคการค้าของธุรกิจเชียงใหม่ เฟื่องฟูที่สุดในระยะก่อน พ.ศ.2530 เล็ก
น้อยต่อเนื่องมาจนถึงเวลานี้ แต่ในระหว่างนั้นการท่องเที่ยวเริ่มเป็นเศรษฐ-กิจหลักอีกขาหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ในช่วง
10 ปีที่ผ่านมา สินค้าหัตถอุตสาห-กรรมกลายเป็นสินค้าเพื่อรองรับการท่องเที่ยว
จากเดิมเป็นการผลิตในครัวเรือนเพื่อยังชีพ
บ้านบ่อสร้าง และอำเภอสันกำแพง และขยายตัวเป็นถนนสายการท่องเที่ยว นับจากปี
2520 เป็นต้นมา ในเวลาเดียวกันมีการขยายตัวของธุรกิจ บริการอย่างขนานใหญ่ควบคู่กันไป
กลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ
ตระกูลบูรณุปกรณ์ ที่ปัจจุบันมีกิจการของที่ระลึกและการผลิตหัตถอุตสาห-กรรมตลอดเส้นทางสายนี้
นอกจากนั้นยังมีโรงแรมระดับ 5 ดาว 4 ดาวและ 3 ดาวครบวงจรอยู่ในมือ จนที่สุดนาย
ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็น นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่คนปัจจุบัน
น่าสังเกตว่านายปกรณ์ถือเป็นนายกเทศมนตรีมีฐานของทุนจากภาคการท่องเที่ยวโดยตรง
ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นในยุคก่อนจะมีฐานจากการค้า เช่น นายวรกร ตันตรานนท์
ของ กลุ่มตันตราภัณฑ์ หรือแม้แต่นายณรงค์ ศักดาธร จากนิยมพานิช ในยุคก่อนหน้านั้น
กลุ่มธุรกิจสินค้าหัตถอุตสาห-กรรมอาศัยฐานจากนักท่องเที่ยว ทั้งในและนอกประเทศ
มีพัฒนาการที่น่าจับตามอง ทั้งในแง่กลยุทธ์การตลาด-เทคโนโลยี การปรับปรุงผลิตภัณฑ์
และ การจัดการ สืบเนื่องมาจากการแข่งขันภายใน และส่วนหนึ่งได้รับแรงบีบจากแหล่งผลิตประเภทเดียวกันในต่างประเทศ
ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีมากกว่า 100 รายเฉพาะผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในสมาคมผู้ส่งออกสินค้าหัตถอุตสาหกรรมภาคเหนือ
ล่าสุดมี 67 ราย ซึ่งเป็น กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลัก
ซึ่งตัวเลขผู้ส่งออกที่แท้จริงมีมากกว่านี้เพราะบางส่วนเข้าสังกัดองค์กรอื่นๆ
เช่น สภาอุตสาหกรรม หรือหอการค้า
แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นกิจการประเภทรับจ้างผลิตตามออร์เดอร์ หรือ ตามแบบที่ได้รับมา
โดยอาศัยฐานฝีมือและต้นทุนแรงงาน แต่ก็มีกิจการอีกส่วน หนึ่งที่มีการนำกลวิธีการจัดการสมัยใหม่
ที่น่าสนใจเข้ามา
เช่น ผ้าไหมวิลาสินี ของตระกูลชินวัตรรุ่น 4 สายคงประยูร ที่อาศัยฐาน
ธุรกิจผ้าไหมมาประยุกต์นำวัสดุอื่นๆ มา ทอเข้าด้วยกันกลายเป็นสินค้าผ้ากลุ่มใหม่ที่เน้นไปในงานตกแต่ง
Home Decorate เพื่อตลาดส่งออก เป็นต้น
น่าสังเกตว่า ธุรกิจขนาดย่อมในกลุ่มนี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐมากนัก
โดยเวลานี้ภาครัฐไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับมูลค่าการส่งออกของธุรกิจ กลุ่มนี้
เช่น รายงานประจำปี 2541 ของธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือ ระบุสั้นๆ เพียงว่า
สินค้าที่ส่งออกผ่านท่าเรือกรุงเทพ และแหลมฉบัง ส่วนหนึ่ง ดำเนินการโดยผู้ส่งออกจากส่วนกลาง
แต่ อีกส่วนหนึ่งส่งออกโดยผู้ประกอบการในภาคเหนือ แม้จะไม่มีข้อมูลที่จัดเก็บหรือประมาณไว้
แต่คาดว่ามีมูลค่าในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าภาคเกษตร
ขณะที่ น.ส.กาญจนา เทพารักษ์ ผ.อ. ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคเหนือ กระทรวงพาณิชย์
ยอมรับว่า ไม่สามารถ หาตัวเลขการส่งออกของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมในกลุ่มหัตถอุตสาห-กรรมได้
เพราะว่าส่วนใหญ่จะส่งโดยทางเรือ ทางสำนักงานทำได้เพียงตัวเลขประมาณการจากสถิติการขอใบแหล่งกำเนิดสินค้า
หรือ ฟอร์ม เอ. แต่ก็เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มที่จะเข้าไปขายในยุโรปและเป็นกลุ่มที่มีกฎให้แจ้งแหล่งกำเนิดสินค้า
อย่างไรก็ดี ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ภาวะการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก
กลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ ที่อาศัยฐานการผลิตดั้งเดิมที่เป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่
อาทิ กลุ่มไม้แกะสลัก เซรามิก ผ้าไหมและผ้าฝ้าย ไปจนถึงสินค้ากลุ่มเกษตร
ที่ อาศัยลักษณะภูมิประเทศเทือกเขาสูง เช่น ส้มที่อำเภอฝางได้สร้างกระบวนธุรกิจรูป
แบบใหม่ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ
ที่สำคัญคือเป็นรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังเศรษฐกิจจากส่วนกลาง
เช่น รูปแบบการค้าลักษณะตัวแทน ขายในอดีต