เขาอยู่กับชินคอร์ปมาปีนี้เป็นปีที่
8 แล้ว และเป็นผู้บริหารที่ร่วมกับชินคอร์ปนับเป็นเวลายาวนานที่สุด เมื่อเทียบกับผู้บริหารคนอื่นๆ
ของชินคอร์ป
ดร.ดำรงค์ เป็นผู้บริหารระดับสูงไม่กี่คนที่ไม่ได้เข้าร่วมก๊วนกอล์ฟในหมู่ผู้บริหารของชินคอร์ป
การที่อยู่สหรัฐอเมริกามายาวนานถึง 17 ปี ทำให้เขาปรับตัวเข้ากับสังคมไทยไม่ง่ายนัก
การพักผ่อนของเขาหากไม่ไปต่างจังหวัด ที่ดร.ดำรงค์ซื้อบ้านพักเอาไว้ในหลายจังหวัดแล้ว
ส่วนใหญ่จะอยู่กับครอบ ครัว
"ผมมีเพื่อนเยอะ แต่เพื่อนที่สนิทมากๆ ไม่มี ผมเป็นคนค่อนข้างไม่ยุ่งกับใคร
ไม่ได้สนิทกับใครเป็นพิเศษ เพราะทางธุรกิจทำแบบนั้นไม่ได้ ลูกน้องถือเป็นเพื่อน
เป็นแบบฝรั่ง กลับบ้านอยู่กับครอบครัว" ดร.ดำรงค์บอกถึงบุคลิกส่วนตัวของเขา
ดร.ดำรงค์เป็นหนึ่งในสมองไหลที่ไปใช้ชีวิตในเมืองนอกมานานถึง 17 ปีเต็ม
เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงที่สอบชิงทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่
5 จากโรงเรียนสวนกุหลาบ ไปเรียนระดับไฮสคูล 3 ปี ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเขาใช้เวลาเพียง
4 ปี ใช้ระยะเวลาศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก สาขาวิศวะไฟฟ้า ที่สถาบัน
M.I.T. จากนั้นก็ใช้ชีวิตทำงานที่สหรัฐอเมริกาอีก 10 ปี
ประสบการณ์ทำงานส่วนใหญ่ของ ดร.ดำรงค์จะเริ่มตั้งแต่วางโครงการ และบริหารจนโครงการเดินได้ก็จะส่งมอบให้ลูกค้า
เช่นที่เขาทำให้กับเจนเนอรัล อิเล็กทริกส์ และโครงการ Integrated of knowledge
เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไอบีเอ็ม เอทีแอนด์ที ฮันนี่เวล
ดร.ดำรงค์บินกลับเมืองไทยมาในยุคที่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในไทยกำลังเริ่มต้น
และเป็นช่วงเวลาเดียว กับการได้สัมปทานใหม่ของทักษิณ
เป้าหมายแรกของงานปักหลักทำงานในไทยของ ดร.ดำรงค์ คือ โครงการดาวเทียมไทยคม
แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปดูไอบีซี ซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องขาดทุน
"ผมย้ายไปดูไอบีซี เพราะตอนนั้นเขากำลังเดือดร้อน ไฟไหม้อยู่ ถูกสั่งให้ไปดับไฟ
ไปทำมา 3 ปีครึ่งก็ย้ายมา ดาวเทียม ไฟก็ไหม้ไอบีซีต่อ จนเรียบ"
การลดบทบาทของทักษิณออกจากชินคอร์ปในช่วงหลายปีมานี้ และเปิดทางให้มืออาชีพเข้ามาบริหารงาน
ดร.ดำรงค์เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่มีโอกาสสร้างระบบจัดการสมัยใหม่ให้กับชินคอร์ป
จากโอกาสที่เปิดกว้างเหล่านี้ด้วย
เขาเป็นคนเดียวที่มีความเห็นที่แตกต่างไปจากบุญคลีหลายเรื่อง แต่สิ่งที่เขาพยายามก็คือ
การสร้างการจัดการเป็นทีมงานที่โปร่งใส และทำให้ความแตกต่างดำรงอยู่ได้ ภายใต้การจัดการที่อยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวกัน
ดร.ดำรงค์เชื่อว่าเคเบิลทีวี ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ยังมีอนาคตโอกาสรอดยังมี
เพียงแต่ต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของรายการภายในประเทศ และต้องจริงจังกับการแก้ปัญหา
"ผมเสียดายไอบีซี ตรงที่ว่าต้องออกมาในช่วงองค์กรยังไม่เข้มแข็ง พอเปลี่ยนผู้บริหารมั่นล่มเลย
คือ ทีมงานไม่พร้อม แต่อยู่ที่ชิน แซทเทลไลท์ ผมมีเวลาถึง 5 ปี คนก็ต่างกัน
คนที่นี่มีความเชื่อมั่นสูงมาก คนที่นี่มีอิสระ เราต้องให้โอกาสเขาด้วย ระดับผู้จัดการฝ่ายเขาไม่ต้องมาถามผม
เขาตัดสินใจได้เลย" ดำรงค์บอกถึงสไตล์การบริหาร
ดร.ดำรงค์ไม่เชื่อในเรื่องของหลักสูตรฝึกอบรมของผู้บริหารระยะ สั้นๆ
2-3 เดือน แม้จะเป็นสถาบันการศึกษาดังๆ ในต่างประเทศ และถึงแม้ว่าในระหว่างที่เขาทำงานที่บริษัท
Rock- well ในสหรัฐอเมริกา ดำรงค์เองก็ศึกษาต่อสาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยา-ลัย
UCLA มาแล้วก็ตาม
เขาไม่เห็นด้วยที่ผู้บริหารบินไปเรียนหนังสือเมืองนอก 3 เดือน ในช่วงที่ชินคอร์ปอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลัง
จากที่ปรับโครงสร้างมาได้แค่ครึ่งปี
แต่เขาก็เป็นหนึ่งใน "ซีพียู" ตาม ทฤษฎีที่ว่าด้วย Distributed
ของบุญคลี ที่ถูกส่งไปเป็นประธานกรรมการบริหารในบริษัทลูก ชิน แซทเทลไลท์
นอกเหนือจากภารกิจการสะสางกิจการลงทุนในต่างประเทศของชินวัตร อิน-
เตอร์เนชั่นแนล
หลังจากหมดภาระในงานหินอย่างไอบีซี ดร.ดำรงค์กลับมาเริ่มต้นกับธุรกิจดาวเทียมไทยคมอีกครั้ง
ในปี 2537 ซึ่งเป็นช่วงเวลาและดาวเทียมไทยคม 1 และ 2 เริ่มเปิดให้บริการ
และเป็นช่วงเดียวกับที่ชินวัตรแซทเทลไลท์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าก่อนหน้านี้เพียงปีเดียว
ในช่วงปี 2538 ชินคอร์ปได้ปรับโครงสร้างการบริหารงาน ยกเลิกตำ-แหน่งกรรมการผู้อำนวยการ
กำหนดให้มีตำแหน่งรองประธานบริหารขึ้นมาแทน 2 ตำแหน่ง บุญคลีได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานบริหาร
ควบคุมดูแลสายธุรกิจทั้ง 5 สาย ส่วนดร.ดำรงค์ เป็น รองประธานกรรมการบริหาร
ดูแลด้าน นโยบายของกลุ่มชินวัตร
ดร.ดำรงค์ได้สร้างระบบการจัดการขึ้นภายในชิน แซทเทลไลท์ ให้อยู่ภายใต้รูปแบบมาตรฐานของมืออาชีพ
ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เริ่มแรก การคัดเลือกคนที่จะมาร่วมงาน ประสบการณ์ที่ต้องมาร่วมกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งดร.ดำรงค์ก็เชื่อในการบริหารแบบกระจายอำนาจ
"เด็กทำงานที่นี่จะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ใช่ทุกครั้งที่เจอลูกค้าที่เป็นVice
President แล้วเราต้องเอา Vice President ไปชน ตอนไปตกลงกับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของลาว
เขมร ก็เป็นระดับผู้จัดการฝ่าย ไปตก ลงได้เลย ยกเว้นแต่ต้องการเชิญไปเป็นหน้าตา
เราไม่มีการแบ่งขั้นตอนการทำงาน แต่เราทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้า ของ"
นับตั้งแต่ วันที่ 11 กันยายน 2542 จะเป็นวันที่ไทยคม อายุคุ้มครองดาวเทียมหมดลง
และจะเป็นวันที่ดาวเทียมไทยคมจะต้องลงสนามแข่งขันอย่างแท้จริง
ดร.ดำรงค์ใช้ไทยคม 3 ในการสร้างประสบการณ์ และการเรียนรู้ในการแข่งขันระดับภูมิภาค
เป็นบทแรก ตัวเลขยอดรายได้ 35% ในปี 2541 ที่ได้มาจากลูกค้าต่างประเทศเป็นการันตีแรกของความพร้อมในการแข่งขันบนน่านฟ้า
นอกเหนือจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ด้วยการขายแบบครบวงจร Turnkey
Project แล้วนั้น มาตรฐานไอเอสโอ มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจการรับมือกับตลาดเสรี
หลังวันที่ 11 กันยายน 2542
และบทพิสูจน์รอบใหม่ของดร. ดำรงค์ก็จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง