อินเตอร์เน็ต จิ๊กซอว์ที่ยังต่อไม่ครบ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

"อินเตอร์เน็ต เป็นจิ๊กซอว์ที่ผมต้องไป" คำกล่าวสั้นๆ ของบุญคลี ที่กลายเป็นที่มาของโครงการทุนนวัตกรรมไทย หรือ Innovation Venture Capital โครงการนี้จึงถือว่าเป็นการเดิมพันครั้งแรก ที่เกิดขึ้นหลังภายใต้โครงสร้างใหม่ที่เสร็จสมบูรณ์

อินเตอร์เน็ต กลายเป็นเป้าหมาย ของทุกคนในยุคแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ กระแสการตอบรับของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาที่มีต่อหุ้นอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ชินคอร์ปจะต้องหันมามองเครือข่ายนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง บุญคลีเองก็ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งปีไปกับการค้นหาขุมทองที่ซ่อนอยู่ในเว็บไซต์ เหล่านี้

บุญคลีพบว่าธุรกิจบนอินเตอร์

เน็ตแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โมเดลแรก คือ network provider หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตโมเดลที่สอง Media content และโมเดลที่สามจะเป็นข้อมูลที่ให้ดูฟรีบางส่วนและขายข้อมูลบางส่วน ตรงนี้จะเหมือนกับบริการออน ไลน์

"คุณบุญคลีเป็นคนเริ่มไอเดีย และเราก็มานั่งคิดกันหาพาร์ทไหนดีใน 3 พาร์ทนี้ อันไหนรวยกว่ากัน ทุกคนลงความเห็นว่า content รวยที่สุด" จุไร-รัตน์ อุณหกะ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายการบริหารการลงทุน บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของกองทุนนี้

จุไรรัตน์เป็นหนึ่งในผู้บริหารยุคบุกเบิก ที่เข้ามาทำงานกับชินคอร์ปตั้งแต่สำนักงานเล็กๆ แถวราชวัตร จึงเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นทั้งภาพความสำเร็จ และล้มเหลวของชินคอร์ปตลอดหลายปีมานี้

เธอเริ่มงานเป็นผู้จัดการในแผนก บัญชีและการเงินที่ชินวัตรเมื่ออายุเพียงแค่ 22 ปี ทำได้ 2 ปีก็โยกไปดูแลเก็บเงินกับหน่วยงานราชการ จากนั้นไม่นานเมื่อชินคอร์ปได้สัมปทานโทรศัพท์มือถือ และวิทยุติดตามตัว จุไรรัตน์ก็ย้ายมาดูด้านนโยบายและวางแผน ดูแลเกี่ยวกับโครงสร้าง และการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

และเธอเป็นผู้หนึ่งที่เชื่อทฤษฎีการจัดการสมัยใหม่ ความรู้ส่วนใหญ่มาจากตำรา และพบปะกับนักวิเคราะห์ และแบงก์ต่างชาติเป็นประจำ ซึ่งโครงการทุนนวัตกรรมใหม่ ที่ประยุกต์มาจากแนวคิดทฤษฎีของการไปสู่การจัด การองค์กรแบบ network organization ที่ว่าด้วยเรื่องของการแบ่งองค์ กรตามลักษณะของโครงการ

ทีมงานของแอดเวนเจอร์คลับ หรือ นวัตกรรมใหม่ จะมีไม่เกิน 20 คนพนักงานส่วนใหญ่จะเป็นพาร์ทไทม์ ออฟฟิศของที่นี่ก็ถูกแยกออกจากอาคาร ใหญ่โตของชินคอร์ป แต่เช่าอาคารเล็กๆ แถวแจ้งวัฒนะ ซึ่งจุไรรัตน์จะแบ่งเวลามาบริหารงานที่นี่อาทิตย์ละวัน เพราะเธอยังต้องดูแลสายบริหารการลงทุน

จะว่าไปแล้วประสบการณ์ด้านการเงิน และมุมมองในเรื่องการลงทุนก็ลงตัวดีกับโครงการนี้ ที่จะต้องใช้หลักความรู้ทางการเงิน และโครงการมาตัด สินใจการคัดเลือกเป็นหลัก นอกเหนือจากเรื่องของเทคโนโลยี

การมีรากฐานมาจากธุรกิจโทรคมนาคม ชินคอร์ปจึงมีความพร้อมในเรื่องของ network ทั้งโครงข่ายโทร-ศัพท์มือถือ และดาต้าเน็ต รวมถึงธุรกิจไอเอสพีอยู่ในมือ เท่ากับว่าสิ่งที่ชินคอร์ปยังขาดอยู่ก็คือสองส่วนหลัง ก็คือ content และ media ที่จะเป็นส่วนที่มาเสริมให้จิ๊กซอว์ของธุรกิจนี้เป็นภาพที่สมบูรณ์ขึ้น

การลงทุนในอินเตอร์เน็ต จึงไม่ผิดหลักทฤษฎีว่าด้วยการลงทุนบนรากฐานเดิม เนื่องจากชินคอร์ปมีเครือข่าย และทำธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว และการลงทุนบนเว็บ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้เงินจำนวนมากเหมือนกับโครงการสื่อสาร เพราะชินคอร์ปเตรียมเงินทุนไว้สำหรับงานนี้ 200 ล้านบาท

"ถ้าเราตั้งเป็นบริษัทและจ้างผู้บริหารทำก็ไม่ต่างจากพวกเราเท่าไหร่ ซึ่งไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของเราในอนาคต แล้ว แต่เด็กเหล่านี้จะเป็นลูกค้าในอนาคต เขาจะรู้ว่าตัวเขาต้องการอะไร เขาจะทำมาร์เก็ตติ้ง หรือคอนเซ็ปต์ ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเดียวกับเขา"

เพราะนั่นคือ ข้อมูลทางการตลาดในอนาคต ที่ชินคอร์ปจะอ่านได้จากเด็กๆ เหล่านี้ ที่จะเป็นลูกค้าในอนาคต

ชินคอร์ปจึงต้องอาศัยศักยภาพ ที่ตัวเองมีอยู่ทั้งในเรื่องเงินทุน และเครือ ข่ายจัดทำเป็นลักษณะของกองทุน ven-ture capital ให้ทุนสนับสนุนแก่ผู้มีไอเดีย แต่ขาดเงินทุน มาร่วมสร้าง content จะกลั่นมาจากมันสมองของเด็กๆ เหล่านี้

จุไรรัตน์บอกว่า แนวคิดเหล่านี้ได้มาจากซอฟต์แบงก์ของญี่ปุ่น และโครงการ MIT 50 ของสถาบัน MIT ซึ่งเป็นโครงการให้ทุนแก่เด็กนักศึกษาไปทำโครงการ ในขณะที่ซอฟต์แบงก์เป็น การซื้อหุ้นในกิจการอินเตอร์เน็ต ที่มีอนาคตแต่ขาดเงินทุน และเมื่อบริษัทเหล่านี้เติบโตบริษัทจะมีรายได้จากส่วนต่างราคาหุ้น ซึ่งทุกวันนี้ซอฟต์แบงก์ทำเงินได้กับการเข้าไปถือหุ้นอย่าง yahoo. com

สำหรับโครงการทุนนวัตกรรมไทย จะเป็นโครงการลูกผสม ในการควานหา "สมองใหม่" มีเป้าหมายอยู่ที่การลงทุนให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบ การที่มีความรู้ ความสามารถ แต่ไม่มีเงินทุน และไม่มีความรู้ทางธุรกิจมาสมัครเป็นสมาชิก

หากรายใดที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าโครงการ บริษัทจะให้เงินทุนในการจัดตั้งบริษัท ตั้งแต่ 2 แสนถึง 2 ล้าน บาท ซึ่งชินคอร์ปจะถือหุ้น 40% ส่วนอีก 60% จะเป็นเจ้าของโครงการ ด้านเงินลงทุนจะดูตามขนาด และความจำเป็นของโครงการ ซึ่งชินคอร์ปได้ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท

โครงการนี้ไม่ได้จำกัดจะต้องเป็นเว็บไซต์เท่านั้น ยังเปิดกว้างให้กับซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ ที่แปลกใหม่เข้าร่วมโครงการได้ด้วย

ส่วนการคัดเลือกจุไรรัตน์บอกว่า จะดูลักษณะคอนเซ็ปต์โครงการ ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ลักษณะของการเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ถึงกับมีโปรเฟสเซอร์ทางด้านจิตวิทยามาช่วยควานหาเถ้าแก่ใหม่เหล่านี้ด้วย

"เราจะใช้จิตวิทยาเยอะมากดูว่าอดทนพอมั้ย และความรับผิดชอบมาก เพราะลูกน้องจะมีความรับผิดชอบน้อยกว่าเจ้าของ"

เว็บไซต์ที่ได้รับคัดเลือกมีประ-มาณ 6-7 ราย เป็นเด็กอายุตั้งแต่ 16 -22 ปี มีซอฟต์แวร์ 3-4 ราย เป็นฮาร์ดแวร์ 2-3 ราย ซึ่งเป้าหมายของโครงการคือ จะต้องแจ้งเกิดภายใน 3 ปี

"ถ้าเราได้สัก 1 ใน 10 เราก็พอ ใจแล้ว" นี่คือเป้าหมายที่จุไรรัตน์ตั้งไว้

ถึงแม้ว่าใครหลายคนจะมองว่า โครงการนวัตกรรมใหม่นี้ เพื่อชินคอร์ปจะไม่ต้องตกขบวนรถไฟก็ตาม เพราะธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตก็ยังเป็นแค่แสงปลายอุโมงค์ที่ยังไม่เห็นภาพทั้งในแง่ของรายได้จากโฆษณา และอี-คอมเมิร์ซ ชัดเจนนักก็ตาม

แต่จะเป็นยุทธศาสตร์ของการสร้างฐาน "ข้อมูล" ที่จะรองรับกับบริการ และลูกค้าที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต

ชินคอร์ป ก็ได้นำเครือข่ายที่มีอยู่มาสร้างเป็นเครือข่ายอินทราเน็ตภายในประเทศที่ดูได้เฉพาะข้อมูลภาษาไทย ไว้ให้กับผู้ที่สมัครมาใช้ได้ฟรีทดสอบได้ฟรี หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นการสร้างประชาคมบนเว็บ ที่ชินคอร์ปจะใช้สร้าง content และเป็นข้อมูลลูกค้าในอนาคตด้วย

"เราจะอ่านข้อมูลจากเด็กเหล่านั้นได้ และเด็กที่เราเลือกแต่ละคนจะเติบโตเร็วกว่าที่คิด เด็กเหล่านี้จะมีบิล เกตต์ เป็นตัวอย่าง บิล เกตต์ประสบ ความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย เขาก็อยากประสบความสำเร็จบ้าง พูดง่ายๆ ก็คือ เรากำลังงมหาบิล เกตต์ ไทยแลนด์ จุไรรัตน์บอก

ที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ บุญคลีมองไปถึงการที่ชินคอร์ปจะเข้าสู่ธุรกิจสื่อใหม่บนอินเตอร์เน็ต จะเป็นธุรกิจที่ไม่มีสัมปทาน ไม่ต้องเสียค่าต๋งเหมือนในอดีต เพราะบนอินเตอร์ไม่ต้องมีคลื่นความถี่ ซึ่งบรรดาบิล เกตต์ ไทยแลนด์ จะเป็น ผู้สร้าง content ที่จะมาวิ่งบนเครือข่าย อินเตอร์เน็ต

ส่วนฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ จะสามารถอาศัยเครือข่ายของชินคอร์ปที่อยู่ในหลายประเทศ จะช่วยในแง่ของ การนำสินค้าที่คิดค้นมาได้ขายลิขสิทธิ์ต้นแบบออกไป

และนี่ก็จะเป็นจิ๊กซอว์ที่จะต่อภาพอนาคตของชินคอร์ป ที่บุญคลีไม่ยอมพลาด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.