คลังอาวุธสมอง บุญคลี ปลั่งศิริ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

"ในวงการโทรคมนาคม ทุกคนใหม่หมด ผมจะถามจากใคร ผมต้องอ่านในตำรา"

เหตุผลสั้นๆ ที่ทำให้บุญคลีกลายเป็นหนอนหนังสือตัวยง ที่ให้ความสำคัญกับการหาความรู้ผ่าน "ตำรา" มากที่สุดคนหนึ่งของชินคอร์ป และเต็มไปด้วยความกระหายใคร่รู้

การที่โทรคมนาคมเป็นธุรกิจใหม่ที่มีอายุเพียงแค่ 10 กว่าปี การหาบทเรียน หรือตำนานในอดีต จึงไม่มีเหมือนกับธุรกิจอื่นที่มีอายุยืนยาว อีกทั้งธุรกิจนี้ก็เป็นการอาศัยเทคโนโลยีของโลก ตำราเหล่านี้ จึงใช้อ้างอิงความคิดอ่านให้ถูกต้องมากขึ้น

เพราะนี่คืออาวุธลับสำหรับเขาในการวางโครงสร้างในการบริหารองค์กร ที่เขามักจะได้มาจากตำราเหล่านี้

ของฝากที่บุญคลีและผู้บริหารชินคอร์ปมักจะได้จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างทักษิณ ที่จะหาซื้อมาฝากอยู่เป็นประจำ ก็คือ ตำราและหนังสือทั้งหลายที่เกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร ที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะถ่ายทอดแนวหรือวิธีคิดได้อย่างดีที่สุด

การปรับโครงสร้างธุรกิจ และการบริหารงานล่าสุดของชินคอร์ป ที่มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2541 ที่ผ่านมา บุญคลีก็เอาตำราของ Brouze Allen บริษัทการเงิน ที่มีชื่อว่า The centerless corporation

หนังสือเล่มนี้ถูกนำมาเป็นแนวทาง ยืนยันแนวคิดของเขา ที่เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างองค์กรให้ไปสู่มาตรฐานสากล เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาอยู่นิ่งไม่ได้ และยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารองค์กรของชินคอร์ป ที่นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และมากที่สุดนับตั้งแต่มีมา

สิ่งที่บุญคลีได้จากตำราเล่มนี้ ก็คือ การจัดโครงสร้างในลักษณะองค์กรแบบไร้หัว (Decenterize) ความหมายในที่นี้ก็คือ การกระจายอำนาจให้กับบริษัทลูก ที่เคยขึ้นตรงกับบริษัทแม่ มีโครงสร้างธุรกิจใหญ่โต ให้กระจายออกไปมีระบบการบริหารงานแบบอิสระ บริษัทแม่เพียงแค่ทำหน้าที่ลงทุน

ความที่มีพื้นความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้บุญคลีเรียนรู้จากตำรานี้ได้อย่างรวดเร็ว คำว่า Distributed สอดคล้องกับเทคโนโลยีคำว่า Distribute ในความหมายของคอมพิวเตอร์ก็คือ การทำงานของเครื่องเซิร์ฟ เวอร์ กับลูกข่ายคอมพิวเตอร์

การสร้างฐาน Data warehouse ที่จะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ สำหรับโครงสร้างใหม่นั้นก็มาจาก Management Challenges for the 21 Century ของ Peter F.Drucker

"หนังสือเหล่านี้มันคอนเฟิร์มความเชื่อของผม ในการ centralize ข้อมูลที่จะให้ผู้บริหารแต่ละรายเป็นคนกำหนดเองว่า จะเลือกใช้ข้อมูลอะไรบ้าง"

หนังสืออย่าง Digital Economy หรือแม้แต่ Entertainment economy เป็นหนังสืออีกเล่มที่อยู่ในคลังอาวุธของเขา

บุคลิกที่ประนีประนอมของบุญคลี จึงมักให้ความสำคัญกับการศึกษาคนเป็นอย่างมาก และสิ่งที่เขาค้นพบว่าการบริหารคนที่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอ ที่ต้องรักษาความสัมพันธ์ในระดับปกติ เป็นหลักสำคัญที่เขาใช้ในการบริหารองค์กร ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และความสัมพันธ์ในการติดต่อพันธมิตร เขาก็ได้ตำรามาร์เก็ตติ้งเล่มหนึ่งที่ยืนยันความคิดที่ว่านี้

หนังสือ The Speed of Thought ของบิลล์ เกตต์ เล่มล่าสุด เป็นตัวขับเคลื่อนอีกตัวของการวางโครงสร้างการจัดการของชิน

"Driven system ข้อหนึ่งในนั้นที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ คุณต้องรู้ยอดขายทุกวินาที เปิดจอรู้เลยว่า เซลลูลาร์วันนี้ขายได้เท่าไหร่ ประเทศเรามีข้อมูลดิบอยู่มากเลย แต่ไม่มีใครรวม ไม่มีใครวิเคราะห์ ตรงนี้ต้องใช้มาก ธุรกิจวันนี้เป็นเรื่องของข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ การตลาดก็ไม่ใช่เรื่องชอบไม่ชอบ นี่คือแนวคิดของผม

การอ่านหนังสือของบุญคลี จึงอาจคาดเดาได้ว่า เขากำลังแสวงหาอะไรในการเปลี่ยนแปลงให้กับชิน หรือก้าวต่อไปของชินคอร์ปจะเป็นเรื่อง อะไร

ล่าสุดที่บุญคลีได้มาก็คือ aliance business จะเป็นกระแสผลักดันของโลกาภิวัตน์ที่เกี่ยวกับการหาพันธมิตร

ในบางครั้งบุญคลี ก็ไปได้แง่มุมใหม่ๆ ที่ทำให้โลกในการมองกว้างขึ้น ซึ่งหนังสือเล่มนั้นก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่ก็เป็นบทเรียนที่ให้การมองในอีก แง่มุม

"ตอนนั้นผมไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง บอกถึงมนุษย์พันธุ์ใหม่ว่า ถ้าคุณจะทำความสำเร็จ คุณต้องเอาเปรียบ ซึ่งจริงๆ มันไม่ดีอย่าไปเชื่อ ซึ่งผมก็อ่าน ผมเป็นนักคอมพิวเตอร์ ผมต้องเอามาผสมผสาน ปรับปรุงอำนาจการตัดสินใจและกระบวนการไม่ไปไหน

และสิ่งที่บุญคลีพบมากไปกว่าการหาอาหารสมองให้กับตัวเขา ก็คือ เขาพบว่า ทฤษฎีการบริหารล้วนมาจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างไอบีเอ็ม เยนเนอ รัลอิเลกทริกส์ ฟอร์ด แต่สักวันบุญคลีจะเขียนทฤษฎีการบริหารขึ้นมาบ้าง และนั่นจะทำให้เขาเปลี่ยนจากผู้อ่านมาเป็นผู้เขียนตำราเป็นครั้งแรก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.