ลมหายใจของนิวยอร์ก เมืองสำคัญของโลก ที่ที่กำหนดทิศทางของสังคมโลก จึงน่าสนใจ
เรื่องราวเหล่านี้มาจากอดีตนักข่าว "ผู้จัดการ" ที่ระเหเร่ร่อนไปอยู่ที่นั่นหลายปี
จากมุมมองของคนที่มีความคิดและประสบการณ์จับกระแส อรรถาธิบายปรากฏการณ์ ย่อมจะทำให้เรื่องน่าสนใจขึ้นอีก
ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange-NYSE) หรือชื่อเล่นๆ
ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนบอร์ดสตรีท ติดกับถนน วอลล์สตรีท
เป็นตลาดเก่าแก่คู่กับความ เจริญของนครนิวยอร์ก และความเจริญ ของสหรัฐอเมริกา
ถนนวอลล์สตรีท ที่ถูกเรียกเป็นชื่อตลาดนั้น ถือเป็นถนนโรยหินสายแรก
ของนครนิวยอร์ก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1685 ก็คือกว่า 300 ปีมาแล้ว ปัจจุบันถนนนี้กลายเป็นถนนสายเล็กๆ
สั้นๆ ที่มีตึกใหญ่แน่นสองข้างทาง อยู่แถวย่านปลายเกาะ หรือ Lower Manhattan
ย่านนี้ถือเป็นย่านดีที่สุดย่านหนึ่ง ของเมืองนิวยอร์ก เริ่มต้นจากบริเวณตึกสวยๆ
อย่างซิตี้ ฮอลล์ หรือศาลาว่าการเมือง ซึ่งเป็นอาคารทรวดทรงสวยงามและเก่าแก่
โครงสร้างภายนอกของตึกจึงยังมีอิทธิพลของสถาปัตยกรรม คลาสสิกจากยุโรป ที่นี่กลายเป็นตึกสวย
ที่หาได้น้อยแห่งในนิวยอร์กซิตี้ เพราะ ตึกอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นแบบ "อเมริกัน"
คือแท่งสี่เหลี่ยมน่าเกลียด ไม่มีขอบ ไม่มีคิ้ว ไม่มีมุข แม้แต่ตึกเอ็มไพร์สเตรท
ถ้ายืนหน้าอาคาร ก็จะเห็นว่าเป็นตึกหนึ่งที่รูปทรงน่าเกลียด
บริเวณแมนฮัตตันล่าง ยังเป็นที่ตั้งของสะพานบรู๊คลิน ซึ่งเป็นสะพานที่โครงสร้างสวย
นอกจากเป็นสะพานดาราที่มีอดีตตำแหน่งยาวอันดับหนึ่งของ โลกสะพานแขวนติดตัว
เวิลด์เทรด เซ็น เตอร์ ซึ่งเป็นตึกดาราโลกเหมือนกัน และเวิลด์ ไฟแนนเชี่ยล
เซ็นเตอร์ ซึ่ง เป็นตึกสมัยใหม่ที่มีบริษัทบิ๊กๆ ของอเม-ริกาเช่าทำสำนักงานใหญ่
โบสถ์ไทรนิตี้ ซึ่งเป็นโบสถ์ที่เก่าที่สุดในนิวยอร์ก และ "สวย" ที่สุดในนิวยอร์ก
ตามทัศนะของผู้เขียนเอง
รวมถึง แบตเตอรี่ พาร์ค ซึ่งเป็นหนึ่งในสามพาร์คใหญ่ของนิวยอร์ก และเป็นพาร์คที่สวย
ร่มรื่น มีสวนจัด สรรเล็กๆ และมองไกลๆ เห็นเทพีเสรี ภาพยืนอยู่
ย่านแมนฮัตตันล่าง ถือเป็นย่าน ความเจริญย่านแรกของนิวยอร์ก เพราะ แต่ก่อนใครๆ
ก็อพยพมาขึ้นเหนือแถวนั้น การทำมาค้าขายจึงเริ่มกันที่นั่น สำหรับวอลล์สตรีท
ปีนี้ก็อายุ 207 ปี แล้ว ได้กลายเป็นตลาดหุ้นที่สำคัญที่สุดของโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่
1 เมื่อสหรัฐอเมริกากลายเป็นเจ้าหนี้สงครามรายใหญ่ ตลาดลอนดอนที่ เคยมีความสำคัญกว่า
ก็ตกระดับลงไป
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากวอลล์สตรีท ได้ขึ้นเป็นดารานำของโลกแล้ว
นิวยอร์กก็ได้รับตำแหน่งดารานำอันทรงเกียรติ คือเมือง "มหานคร" แห่งแรกของโลกที่มีประชากรขึ้นถึง
10 ล้าน คน ข้อมูลปี 1990 ตัวเลขประชากรนิวยอร์กอยู่ที่ 16.4 ล้าน ครองแค่ตำแหน่ง
4 ของโลก เป็นรองเม็กซิโกซิตี้ โตเกียว นครเซาเปาโล และนิวยอร์กมีแนวโน้มตกอันดับเรื่อยๆ
เพราะอเมริกาคุมการกำเนิดของประชากรได้ดีกว่า
ตลาดวอลล์สตรีทเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1792 หรือเมื่อ 207 ปีก่อน โดยนายหน้าและพ่อค้า
24 คน ได้ร่วมลงนามในสัญญา Buttonwood Agreement ที่ใต้ต้นฝ้าย ตรงข้ามปากทางถนนวอลล์สตรีท
เพื่อทำการซื้อขายหุ้นธนาคาร 5 แห่ง โดยมีหุ้น Bank of New York เป็นหุ้นตัวแรก
จากนั้นจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังสงครามในปี 1812
เหตุการณ์สำคัญที่บันทึกไว้ เริ่มเมื่อปี 1817 ซึ่งมีการตั้ง New York
Stock Exchange Board ขึ้นที่เลขที่ 40 ถนนวอลล์สตรีท เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหุ้น
จนถึงปี 1835 ได้เกิดไฟไหม้ใหญ่ และมีการย้ายตลาดหุ้นไปในบริเวณใกล้ๆ
ปี 1857 เกิดภาวะตลาดหุ้นตกหนักเป็นครั้งแรก เมื่อบริษัท Ohio Insurrance
& Trust ล้ม ทำให้มูลค่าหุ้นรวมตกถึง 45% และหุ้นทุกตัวราคาตก 8-10%
ปี 1863 มีการเปลี่ยนชื่อตลาดเป็น New York Stock Exchange เฉยๆ และในปี
1865 ตลาดมีการปิดตัวนานกว่าสัปดาห์ หลังอับราฮัม ลินคอล์น ถูกลอบสังหาร
ต่อมาในปีนี้ ตลาดหุ้นยังได้ย้ายไปอยู่ที่ 10-12 Broad Street และมีความสำคัญขึ้นมาในฐานะศูนย์กลางการเงินของอเมริกา
ปี 1873 เกิดภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กตกหนักเป็นครั้งที่สอง เมื่อบริษัท
Jay Cooke & Company แห่งฟิลาเดลเฟียล้ม ทำให้ตลาดต้องปิดทำการถึง 10
วัน
ราวปี 1900 มีการกำหนดดัชนีดาวโจนส์ขึ้น ถือเป็นดัชนีหุ้นตัวแรกของโลกเลยทีเดียว
เรื่องเริ่มจากความคิดของนายชาร์ลี ดาวโจนส์ อดีตบรร-ณาธิการหนังสือพิมพ์พรรครีพับลิกัน
ในรัฐแมสซาชูเสตต์ซึ่งเข้ามาคลุกคลีวงการหุ้นวอลล์สตรีทอยู่พักหนึ่ง ก็ตั้งบริษัท
"ดาวโจนส์" ขึ้น ทำการผลิตหนังสือพิมพ์ "วอลล์สตรีทรายวัน" ตั้งแต่ปี
1900 เป็นต้นมา ตัวนายชาร์ลี ตอนแรกเป็นบรรณาธิการเอง พร้อมทั้งเขียนบทความวิเคราะห์เรื่องหุ้นและเสนอทฤษฎีต่างๆ
หลังจากดัชนีดาวโจนส์ประสบความสำเร็จอย่างดีในการเป็นตัวชี้ชัดความเป็นไปของตลาดหุ้น
ตั้งแต่ช่วงต้น ศตวรรษที่ 20 การคำนวณหาค่าดัชนีหุ้น สำคัญ ก็เกิดตามมาในตลาดหุ้นทั่วโลก
อาทิ ดัชนีฮั่งเส็ง ปี 1969
ปี 1903 มีการย้ายตลาดหุ้นมาที่เลขที่ 18 ถนน Broad Street ซึ่งเป็นที่ทำการปัจจุบัน
ปี 1907 เกิดวิกฤติตลาดหุ้นนิวยอร์กอีกครั้ง เมื่อมีข่าวลือว่า Knickerbocker
Trust ล้ม
ปี 1914 ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม มีการปิดตลาดนานถึงสี่เดือนครึ่งเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่
1 แต่เมื่อสงครามยุติในปี 1918 วอลล์สตรีทก็ขึ้นมามีความสำคัญเหนือตลาดหุ้นใดในโลก
ปี 1924 เกิดเหตุการณ์ Black Thursday เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ดัชนี
หุ้นตกหนัก และมีการซื้อขายมากถึง 13 ล้านหุ้น จากนั้นในอีก 5 วันต่อมา มีหุ้นตกอีก
16 ล้านหุ้น เหตุการณ์ครั้งนี้กินเวลานานถึง 39 ปีกว่าที่ตลาดจะฟื้นคืนสภาพปกติได้
ปี 1987 เกิดเหตุการณ์ Black Monday ขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม ดัชนีหุ้นตกถึง
508 จุด และมีมูลค่าซื้อขายถึง 604 ล้านหุ้น เหตุการณ์ยังต่อเนื่องถึงวันที่
20 ตุลาคม ซึ่งมูลค่าซื้อขายมีถึง 608 ล้านหุ้น เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดฮวบในช่วงสัปดาห์นั้น
ล่าสุดเมื่อปี 1997 วันที่ 27 ตุลา-คม เกิดเหตุการณ์ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ตกถึง
554 จุด ทำให้ต้องปิดทำการ ตลาดตั้งแต่ 15.30 น. เพื่อเลี่ยงภาวะหุ้นตกที่รุนแรงขึ้น
ปัจจุบันมีหุ้นของบริษัทใหญ่ๆ 3,066 แห่งจากทั่วโลก ลงทะเบียนซื้อขายในตลาดนิวยอร์ก
และจำนวนหุ้นในตลาดทั้งหมดถึง 1.2 พันล้านหุ้น โดย ดัชนีหุ้นกลุ่มดาวโจนส์มีฐานที่
10,000 จุด และดัชนีล่าสุดอยู่ที่ 10,417.00 จุด ณ วันที่ 12 เดือนตุลาคม
2542
ข้อมูล ณ เดือนกันยายนที่ผ่านมา จำนวนบริษัททั้งหมด มีบริษัทต่างชาติอยู่
382 บริษัท ที่เหลือเป็นบริษัทอเมริกัน ซึ่งมีสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทมหาชนอเมริกันทั้งหมด
มูลค่าหุ้นของทุกบริษัทรวมกันมีมูลค่า 15 พันล้าน ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย
ณ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อยู่ที่วันละ 276.7 ล้านหุ้น มูลค่าการซื้อขายตกวันละ
11.8 พันล้านดอลลาร์
10 บริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เรียงตามลำดับดังนี้ General
Electric (GE ), International Business Machines (IBM), Wal-Mart (WMT),
Lucent Technologies (LU), Exxon Corp. (XON), Merck & Co. (MRK), Citigroup
(C), AT&T Corp.(T), Pfizer, Inc. , American International Group (AIG)
ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมการดำเนินกิจการฟรี ในช่วงเช้าของทุกวันทำการ
จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของนิวยอร์ก
ใกล้ๆ ตลาดวอลล์สตรีท มีตลาดปลาเก่าแก่ที่เคยมีความสำคัญมาก ขนาดที่ว่ารายได้จากตลาดนั้น
เคยสร้างเมืองนิวยอร์กขึ้นมาทีเดียว แต่ต่อมาธุรกิจอื่นๆ ที่มีทุนหมุนเวียนมากกว่า
ได้ท่วมท้นนครนิวยอร์ก จนธุรกิจปลากลายเป็นเพียงกลไกย่อยๆ ที่หลบเร้น อยู่บริเวณซอกเดียวของเมือง
แม้แต่คนที่ไปเที่ยวหรือไปอยู่นิวยอร์กมาแป๊บๆ ก็อาจไม่เคยได้กลิ่นคาวปลาของเมืองนี้
ทั้งที่ธุรกิจนี้อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานถึงกว่า 300 ปีเหมือนกัน
ตลาดปลา ตั้งอยู่ใกล้บริเวณท่าเรือใต้ หรือ South Seaport ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นศูนย์การค้าริมแม่น้ำ
คับคั่งด้วยร้านอาหาร และท่าเรือ ท่องเที่ยว แต่ธุรกิจปลายังดำเนินต่อไปในบริเวณห่างกันแค่บล็อกเดียว
เป็นที่ตั้งของ Fulton Market ซึ่งมีการนำส่งปลาเข้า-ออก ถึงปีละ 2,000 ล้านดอลลาร์
และเป็นตลาดกลางราคาปลาของ อเมริกาเหนือ ตัวเลข 2,000 ล้านดอลลาร์ของตลาดปลาแห่งนี้เจ้าเดียวมากขนาดไหนนั้น
อาจเทียบได้กับตัวเลข 10,000 ล้าน ซึ่งเป็นมูลค่าตลาดรวมต่อปีของการบริโภคนมทั่วอเมริกา
คิดดูว่าบ้านไหนๆ ก็กินนม ยังมีตัวเลขแค่ 5 เท่าของตลาดปลาแห่งเดียว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฟูลตัน มาร์เก็ต มีการซื้อขายน้อยลงเรื่อยๆ กลิ่นคาวปลาแถวนั้นเลยค่อยๆ
จางแต่ คาวเงินที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทกลับแรงขึ้นทุกขณะ