เดอโบโน: แนวความคิดใหม่เพื่อเตรียมรับสหัสวรรษใหม่ หรือขายหมวกใบเก่า ๆ กันแน่?


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน เจ้าพ่อแห่งความคิดสร้างสรรค์ จะนำเรื่องหมวก 6 ใบ มาใช้เป็นใบเบิกทาง หรือแม้แต่เป็นกุญแจไขปริศนาความ คิดที่ถึงทางตัน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่การที่เดอ โบโน ใช้การคิดแบบหมวก 6 ใบ เป็นธีมของการบรรยายภายใต้หัว ข้อเรื่อง New Thinking for the New Millennium ในห้วงเวลาใกล้จะสิ้นสุดปี ค.ศ. 1999 นั้น* เป็นการเลือกใส่หมวกผิดใบอย่างแน่แท้

แนวคิดแบบหมวก 6 ใบที่ว่านี้ เดอ โบโนเขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ Six Thinking Hats ซึ่งสรุปสั้นๆ คือ การพยายามแยกแยะวิธีการคิดให้ง่ายขึ้น โดยการแบ่งขบวนการคิดเป็น 6 แบบ ให้รหัสแบบละสี ซึ่งเป็นที่มาของหมวก 6 ใบ 6 สี และให้คิดทีละแบบเท่านั้นห้ามนำมาปะปนกันการใช้คำว่า "ใส่หมวกสี..." ที่จริงก็หมายความว่าให้เตรียมคิดแบบสีนั้นๆ อันได้แก่

* สีขาว : ข้อมูล ตัวเลข ข้อ ( เท็จ )จริง

* สีแดง : อารมณ์ ความรู้สึก "gut feeling"

* สีดำ : ความระมัดระวัง การ ประเมินความเสี่ยง

* สีเหลือง : โอกาส การมองโลกในแง่ดี * สีเขียว : ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ๆ ความเป็นไปได้ทาง เลือกต่างๆ

* สีฟ้า : การควบคุม การคิดว่าควรจะคิดอย่างไร (ต่อไป)

สิ่งที่เดอ โบโนได้นำเสนอเป็นเรื่องใหม่และสร้างสรรค์เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว เป็นพัฒนาการต่อเนื่องมาตลอด ในการที่จะชี้แนะให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า การคิดคือ ทักษะอย่างหนึ่ง ซึ่งแน่นอนย่อมฝึกหัดกันได้ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถเปลี่ยนแนวคิดแบบ เดิมๆ ได้ ทำอย่างไรจึงจะสามารถมองปัญหาหรือสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในแง่มุมอื่นได้บ้าง

เดอ โบโน ชี้นำผ่านหมวก 6 ใบ โดยให้ใส่ทีละใบ และจัดลำดับการใส่หมวกก่อนหลัง หรือจะใส่ซ้ำก็ได้ วิธีการหรือขบวนการที่ว่านี้ คือ การคิดแบบสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว

แม้ว่าเดอ โบโน จะได้แตะเรื่อง Simplicity ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มก่อนเล่มล่าสุดของเขาอย่างผิวเผิน และขยาย ความวิธีการฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์ (ซึ่งก็อยู่ในหนังสือของเขาอีกเล่มหนึ่งชื่อ Lateral Thinking)โดยให้ดูบทบาทของอารมณ์ขัน การท้าทายแนวคิดเดิมๆ ตลอดจนการปฏิเสธข้อเท็จจริง หรือปัญหาที่มีอยู่ แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ "ปรมาจารย์ทางด้านความคิดสร้างสรรค์" -สมญานามที่สื่อมวลชนบางคนยินดีมอบให้เขา-กลับไม่ยอมพูดถึงหรือให้ความเห็นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือให้ข้อคิดใหม่ๆ ในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโลกในอนาคต ซึ่งมีตัวแปรที่น่าตระหนักถึงหลายประการ เป็นต้นว่าความรวดเร็วของการสื่อสารโทรคมนาคม และปริมาณข้อมูลมากมายที่เราอาจเข้าถึงได้ทุกเมื่อ

น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่เดอโบโน

มิได้ถ่ายทอดแนวคิดของเขาคุ้มกับค่าของเงินที่ผู้ฟังจำนวนมากจ่ายไปเป็นตัวเลขหลักพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไทยและในภูมิภาคนี้ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าใดนัก เขาใช้เวลาเกิน หนึ่งในสี่พูดถึงแต่ตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรต่างๆ ที่นำวิธีการคิดแบบหมวก 6 ใบไปใช้ และเป็นเรื่องที่เสียความรู้สึกอย่างมากเมื่อพบว่า เจ้าพ่อแห่งความคิดผู้นี้สามารถบรรยายได้ดี และชัดเจนกว่าภาษาที่เขาใช้เขียนในหนังสือกว่า 50 เล่มของเขา แต่วิธีการคิดแบบต่างๆ ที่เขาเขียนอธิบายด้วยความยากลำบากนั้น เราอาจหาอ่านได้อีกต่อหนึ่งในภาษาเขียนที่ง่ายกว่า กระจ่างกว่า ในหนังสือเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เช่น Aha! โดย Jordan Ayan ซึ่งผู้บริหารบริษัทโค้ก อินเตอร์ แนชั่นเนล แทบทุกคนใช้อ้างอิงในระยะหนึ่ง และ how to be better at ... creativity โดย Geoffrey Petty ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเสนอโดยสมาคมอุตสาหกรรมของอังกฤษ เป็นต้น จึงเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องความคิดสร้างสรรค์ แต่มิได้มีโอกาสไปฟังเอ็ดเวิร์ด เดอโบโน เพราะสาระที่ฟังได้นั้นสามารถหยิบฉวยได้ในราคาถูกกว่าถึง 10 เท่า นั่นคือทักษะทางการคิดที่เราท่านทั้งหลายฝึกได้เอง

*บรรยายเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2542 ที่โรงแรม โอเรียนเต็ล จัดโดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งเอเซีย วรนาถ อนุสสรนิติสาร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.