เพลินเพื่อรู้


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

หนังสือเล่มกะทัดรัดจัดพิมพ์ประณีตฉบับนี้ เป็นผลต่อเนื่องจากหนังสือเพลินเล่มโต ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์พัฒนาจากปรัชญาการศึกษาที่สานต่อพระราโชบายของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ทรงเน้นสร้างวิธีคิดแบบพับลิคสกูลขึ้นในประเทศไทยคือ วชิราวุธวิทยาลัย

โรงเรียนวชิราวุธฯ ก็คือสถานที่ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์กำกับดูแลและบริหารอยู่ในตำแหน่งผู้บังคับการ เรียกว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ แต่มีภาระหน้าที่มากกว่าครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนโดยทั่วไป ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึงพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี 2453 ทรงความตอนหนึ่งว่า

"ข้าพเจ้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งเพลิดเพลินสำหรับเด็ก เพื่อว่าในภายหน้าเขาเหล่านั้นจะได้หวนไปรำลึกถึงชีวิตที่ได้ผ่านมาเมื่ออยู่ในโรงเรียนว่าเป็นสิ่งสนุก ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้เอาโรงเรียนของข้าพเจ้าไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนอื่นๆ ซึ่งมีจุดประสงค์ต่างกัน ถ้าข้าพเจ้าต้องการแต่เพียงโรงเรียนประเภทธรรมดาแล้ว ข้าพเจ้าคงจะได้สร้างโรงเรียนเช้ามาเย็นกลับ หาใช่โรงเรียนกินนอนไม่"

ด้วยวิธีคิดตามแนวนี้ บวกกับประสบการณ์ของท่านผู้บังคับการ ซึ่งผ่านการเรียนในวชิราวุธมาก่อนพบว่าลำพังการเรียนเพื่อจำย่อมต่างไปจากเพื่อรู้ และการเรียนควรมุ่งไปยัง "ความรู้ "มากกว่า "ความจำ" ทำให้วิธีคิดของคำว่าเพลิน {มาจาก learn+play=plern (เพลิน)} หมายความว่าการเล่นในโรงเรียนสามารถโยงไปถึงการเรียนได้หมด

ที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน "เพลินเพื่อรู้" ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่หนังสือเล่มนี้เป็นภาคทฤษฎีและการปฏิบัติตามหลักการ "เพลิน" เท่านั้น

แต่เป็นหนังสือที่ก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ กับผู้อ่านได้มาก มีความหลากหลายต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของนักเรียนอย่างลึกซึ้ง

อย่างน้อยการบวกประสบการณ์ สร้างบรรยากาศให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน ได้ตั้งเป็นคัมภีร์มานานแล้วในกระบวนการปฏิรูปการศึกษาไทย แต่ดูเหมือนจะเป็นคัมภีร์หนีห่างความจริงไปมากโรงเรียนในปัจจุบันมีอุปกรณ์การศึกษา ใช้วิดีทัศน์คอมพิวเตอร์ มีเทคนิคการเรียนการสอนพัฒนาไปมาก แต่การวัดผลด้วยความจำการออกข้อสอบทดสอบยังอยู่กับที่

อ.ชัยอนันต์ชี้ว่าเด็กๆ แปรสภาพ เป็นผู้ควบคุมกระบวนการเรียนรู้ได้ และ ด้วยวิธีคิดแนวใหม่นี้ การศึกษาจะเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ที่มีมิติต่างจากความคิดเก่า

การรู้ และความรู้ มีความแตก ต่างกันมาก

การรู้เป็นทักษะอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นทักษะหมายถึงการปฏิบัติ และเมื่อปฏิบัติแล้วเกิดการรู้ตามขั้นตอน เป็นระบบ ทำให้เข้าถึง "ความรู้"

ครูเป็นผู้เปิดทาง เด็กเป็นผู้ค้นหา

การศึกษาเป็นเวทีที่เด็กเข้ามาเรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลิน

การเรียนแบบเดิมมีวิธีการอย่างหนึ่งที่ครูจะ "สั่ง" หมายถึงสั่งให้เรียนสั่ง ให้จำ ทำให้ระบบการสั่งไม่สร้างกระบวน ความคิดที่พัฒนาศักยภาพของเด็ก

นอกจากนี้อาจารย์ชัยอนันต์ชี้ว่าระบบการศึกษาด้านหลัก แยกชั้นตามอายุ ไม่มีการคละเด็ก เว้นแต่กิจกรรมเสริม หรือการเรียนดนตรี และกีฬา

ระบบการศึกษาแบบรวมศูนย์ขาดความยืดหยุ่น

ความรู้กลายเป็นชุดความรู้ ขาดบูรณาการ ไม่เชื่อมโยง

ทั้งหมดทำให้การศึกษาที่วัดผลไม่สามารถสร้างคุณภาพและวัดความสามารถของเด็กได้อย่างรอบด้าน

ความรู้นั้นแยกโดยรายละเอียดเป็นองค์ความรู้หรือตัวความรู้ ปรากฏตามสื่อการสอน แบบเรียน วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารได้

ส่วนการรู้ก็เป็นไปตามวิธีการสอน ซึ่งมีหลายรูปแบบ

อาจารย์ชัยอนันต์อุทิศบทว่าด้วย "อย่างไร" ให้กับยุทธศาสตร์การศึกษาและการคิดแบบพหุวิถี ซึ่งมีความหลากหลาย เพื่อมาแก้ปัญหาความสัมพันธ์ ระหว่างสภาพแวดล้อมกับระบบการศึกษาให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้

ยุทธศาสตร์การคิดแบบพหุวิถก็คือสร้างแนวทางไว้หลากหลาย และปฏิบัติการได้หลายชุดตามสภาพแวดล้อมมากกว่ามุ่งไปด้านเดียว

ส่วนสำคัญที่สุดก็คือส่วนปฏิบัติการจากทฤษฎีที่เรียกว่า บันทึกประสบ การณ์ ประกอบด้วยการใช้ทฤษฎีคอนสตรัคชั่นนิซึมมาใช้ในห้องเรียนโดย ม.ล.อาภาวดี จรูญโรจน์ การสอนให้เด็กสร้างรายการวิทยุมีส่วนระดมสมอง การเตรียมคิดทำรายการ ส่วนรายการโทรทัศน์ เด็กๆ ได้โจทย์ให้คิดเองทำเอง เช่น สารคดี เกมโชว์ หรือรายการสยองขวัญ รวมถึงการโฆษณา นี่สำหรับเด็ก ป.6

ส่วนวิชาใหม่ Design + Technology โดยศราวุธ กัญญาพันธุ์เป็นพื้นวิชาในวชิราวุธ ให้รู้พื้นฐานกระบวนออกแบบและสุนทรียศาสตร์ ซึ่งใช้พื้นฐานด้านไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์

มีบทเรียน, ตัวอย่างจริงๆ อย่างหลากหลาย แม้กระทั่งวิชาภาษาอังกฤษ วรนาถ อนุสสรนิติสาร ให้เด็กเลือกสิ่งที่อยากจะเรียน เด็กไม่เลือกศัพท์ง่าย แต่เลือกศัพท์น่าสนใจแม้จะยาก

เด็กเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากสิ่งที่ชอบ เรียนรู้เรื่องชนชาติต่างๆ มีโครงการแม้กระทั่งระดมความเห็นเกี่ยวกับอาหาร

การสอนอย่างเพลิดเพลิน เช่น วิชาการละคร ส่วนหนึ่งของความเชื่อมั่นและการแสดงออก

ทั้งหมดในภาคทฤษฎี และบทบันทึกประสบการณ์ทำให้หนังสือเล่มเล็กนี้เป็นเสมือนตัวแทนของปริมณฑลใหม่แห่งการเรียนรู้

และบทเรียนเหล่านี้นำไปใช้ได้ในการปรับปรุงวิธีคิด การเรียนรู้ ไม่แต่ในโรงเรียน แต่ใช้ได้ตั้งแต่โรงงานไปถึงห้องปฏิบัติการทางวิชาชีพ รวมทั้งการบริหาร และสร้างวิธีมองปัญหาอย่างสร้างสรรค ์ในรูปแบบของการเตรียมพร้อมให้องค์กรทางธุรกิจรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เมื่อก้าวย่างของสหัสวรรษใหม่มาถึง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.