สามารถกรุ๊ปเกิดใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

สามารถคอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัท สื่อสารโทรคมนาคมอีกรายที่ประสบปัญหากับวิกฤติเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทลอยตัว อันเป็นผลมาจากโครงสร้างธุรกิจสื่อสารของเมืองไทย ที่ไม่มีเทคโนโลยีของตัวเองต้องซื้อจากต่างประเทศ มาใช้งาน

วันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เป็นคราวของสามารถกรุ๊ปได้ฤกษ์จรดปากกาเซ็นสัญญาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด 19 ราย ที่มี Credit Lyonnais เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ที่เป็นเจ้าของหนี้ 40% ของมูลหนี้ทั้งหมด 7,700 ล้านบาท

ที่มาของคะแนนเสียง 84% ที่เจ้าหนี้ยอมให้การประนอมหนี้ผ่านไปได้ ก็ต้องอาศัยกลยุทธ์เข้าช่วย เพราะต้องหยั่งเชิงเจ้าหนี้ทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะรายใหญ่อย่าง Credit Lyoannais เพราะ หากรายนี้อนุมัติให้แผนประนอมหนี้ผ่าน แล้ว ที่เหลือก็ง่ายขึ้น

"เวลาเราจะโหวตเสียง เราต้องมั่นใจก่อนว่าสถาบันการเงินไหนจะยอมโหวตให้เรา ต้องให้โหวตก่อน ส่วนที่ไม่แน่ใจ หรือไม่โหวตให้ต้องไปไว้ทีหลัง เพราะตามวิสัยของคน ถ้าเห็นคนแรกไม่อนุมัติ คนหลังก็เริ่มไม่แน่ใจแล้ว โดยเฉพาะเจ้าหนี้ญี่ปุ่น จะไม่ยกมือเลย แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่ให้ผ่าน เขาก็ยอม" ทอม เครือโสภณ ผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการประนอมหนี้ในครั้งนี้ แต่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเล่า

เงื่อนไขของการประนอมหนี้ของสามารถกรุ๊ป ก็คือการที่เจ้าหนี้ยอมยืดเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 7 ปี มีระยะเวลาปลอดหนี้ถึง 30 มีนาคม 2001 จาก นั้นจึงเริ่มทยอยใช้หนี้ และจะต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 3% ของหนี้ทั้งหมด โดยจะพิจารณาจากสภาพกระแสเงินสดของสามารถกรุ๊ปเป็นสำคัญ คือจะต้องเก็บไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 20% และไว้ชำระหนี้ 80%

ทอมบอกว่าการที่เจ้าหนี้ยอมประนอมหนี้ในครั้งนี้ เป็นเพราะความเชื่อมั่นในแผนธุรกิจของสามารถกรุ๊ป เพราะการประนอมหนี้ในลักษณะนี้ เท่ากับว่าเป็นการที่แบงก์ยอมลงเงินเพื่อซื้ออนาคตกับสามารถอีกครั้ง และเป็นสาเหตุที่สามารถไม่เลือกวิธีการลดหนี้ (haircut) เพราะสามารถเองก็ยังต้องการเงินทุนจากสถาบันการเงินเหล่านี้มาใช้ลงทุนในระยะยาว

"สิ่งที่แบงก์ต้องการจากเราคือ ความสามารถในการทำกำไร ซึ่งก็มาจาก แผนธุรกิจของเรา ที่จะมาจากธุรกิจที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นสามารถเทลคอม โครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท เพจเจอร์"

แม้การประนอมหนี้ในครั้งนี้จะทำให้สามารถกรุ๊ปปลดภาระอันหนักหน่วงไปได้เปลาะหนึ่งเท่านั้น แต่ปัญหาของสามารถกรุ๊ป คือ การที่ต้องปรับตัวให้ทันกับการแข่งขัน โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ดิจิตอลโฟน ที่แม้จะถูกแยกออกจากการลงทุนของสามารถคอร์ปอเรชั่น คือไม่รวมอยู่ในหนี้เงินกู้ 7,700 ล้านบาทนี้

"เราแยกดิจิตอลโฟนออกมาจากสามารถคอร์ปอเรชั่นตั้งแต่แรกแล้ว เพราะต้องใช้เงินลงทุนเยอะ เราไม่อยาก ให้เป็นภาระกับบริษัทแม่ และอนาคตลูกคนนี้ก็อาจจะใหญ่กว่าแม่ก็ได้"

แต่ปัญหาของดิจิตอลโฟนนั้น ไม่ใช่เรื่องเงินกู้ เพราะเงินที่ใช้ในการขยายส่วนใหญ่มาจากซัปพลายเออร์ แต่ปัญหาคือ คุณภาพของการให้บริการ ที่ยังเป็นปัญหาตลอด เพราะที่ผ่านมาดิจิตอลโฟนก็ใช้วิธีการโรมมิ่งใช้เครือ ข่ายของแทค ยังไม่มีการลงทุนขยายเครือข่ายของตัวเองเท่าไหร่

การได้นอร์ทเทิร์นเทเลคอม หรือ นอร์เทลมาเป็นซัปพลายเออร์รายใหม่ ที่ให้ซัปพลายเออร์เครดิตเกือบ 100% และการหันมาใช้อุปกรณ์ของนอร์เทลนี้เอง ทำให้สามารถเชื่อมั่นกับอนาคตที่ฝากไว้กับซัปพลายเออร์รายนี้ หลังจากที่สถานีฐานทั้ง 260 เปลี่ยนมาใช้ของนอร์เทลจะทำให้สถานการณ์ในด้านบริการของดิจิตอลโฟนกระเตื้องขึ้น

"ปลายปีนี้ถ้าสถานีเครือข่ายเสร็จ แต่เรายังไม่ดีขึ้น เราก็ตาย" คำกล่าวสั้นๆ ของทอม

สามารถกรุ๊ปก็เหมือนกับอีกหลายบริษัท ที่ได้รับบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ การขาดโครงสร้างการจัดการที่ดี และความพร้อมของบุคลากรไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายบริษัทไปไม่รอดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทิศทางใหม่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ

"เมื่อเรามีรถแล้ว มีน้ำมันแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือ คนขับ ถ้าคนขับไม่ดีรถก็วิ่งไม่ได้"

ความหมายของทอมก็คือ ทิศทางของธุรกิจ ไม่ใช่เป้าหมายของสามารถกรุ๊ปเพราะหากพนักงานไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีโครงสร้างการจัดการที่ดีแล้ว ธุรกิจก็ไม่สามารถเดินไปได้แม้ ว่าทิศทางของธุรกิจจะดีแค่ไหนก็ตาม

การก้าวไปสู่การจัดการบุคลากรที่เป็นมาตรฐานสากล กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของสามารถกรุ๊ปมากกว่าทิศทางธุรกิจ

ระบบการจัดการบุคลากรของคอมแพค และนอร์เทล เป็นส่วนหนึ่งของต้นแบบของสามารถกรุ๊ปที่จะใช้ในการวางรากฐานโครงสร้างการจัดการทาง ด้านบุคลากร รวมถึงการดึงเอามืออาชีพ สกลวรรณ ค้าเจริญ อดีตผู้บริหารของบริษัทโค้กที่สามารถดึงมาเพื่อวางแผนปรับปรุงเรื่องการฝึกอบรมบุคลากรโดยเฉพาะ

"ต่อจากนี้ไปพนักงานของสามารถกรุ๊ป จะต้องผ่านการฝึกอบรม หลักสูตรมินิเอ็มบีเอให้ผู้บริหารเข้าเรียน หรือพนักงานของสามารถทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมการส่งอีเมล" ศิริชัย รัศมีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าว

และนี่ก็คือ ส่วนหนึ่งในการปรับตัวของธุรกิจโทรคมนาคม (Telco) หลัง วิกฤติเศรษฐกิจ และเตรียมรับมือกับอนาคตข้างหน้า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะตอบโจทย์และเรียนรู้การแก้ปัญหาได้เร็วกว่ากัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.