วิสูตร พูลวรลักษณ์ หัวใจที่รักหนังไทย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2541 ภาพยนตร์เรื่อง "อันธพาลครองเมือง" ของค่ายไทเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่มี วิสูตร พูลวรลักษณ์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง ทำรายได้ลบสถิติของหนังไทยทุกเรื่องโดยทำรายได้ถึง 75 ล้านบาท

ปี 2542 นางนาก จากค่ายเดียว กันทำรายได้ดับเบิ้ลเป็นเท่าตัว 150 ล้าน บาท ลบคำปรามาสที่ว่าหนังไทยไม่มีทางชนะหนังดังจากฮอลลีวูดลงได้ และเมื่องานประกวดภาพยนตร์ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ภาพของชาวต่างประเทศที่ยืนเข้าคิวยาวเพื่อคอยซื้อตั๋วดูหนังเรื่องนี้ท่ามกลางอุณหภูมิที่เหน็บหนาว เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจและคิดไปไม่ถึงเหมือนกัน

"ความฝันที่สูงสุดของคนสร้างหนังก็คือ การที่หนังของคุณมีโอกาสได้ฉายไปทั่วโลก ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสอย่างนี้ ไม่ภูมิใจก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว แต่ถ้าจะให้สุดยอดจริงของมันเลยก็คือ

1 ใน 5 ของรางวัลออสการ์ ซึ่งในเอเชียเคยมีแต่หนังฮ่องกง จีนแดง และอิน-เดียเท่านั้น" วิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้อำนวยการสร้างหนังวัย 40 ต้นๆ เอ่ยกับ "ผู้จัดการ" แล้วกล่าวถึงความในใจต่อ

"ผมก็ไม่รู้ว่าผมจะเป็นตัวแทนของคนไทยที่จะไปอยู่ตรงนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ได้ ผมก็หวังว่าคนในรุ่นต่อๆ ไปน่าจะทำได้สำเร็จ"

วิสูตรตั้งความหวังไว้กับเรื่องนี้ มันจะเป็นความฝันที่ไกลไปหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่เมื่อมีการสร้างภาพยนตร์ไทย เรื่องแรกคือ นางสาวสุวรรณ เมื่อ 76 ปีก่อนนั้น ก็ไม่มีใครคาดคิดเหมือนกันว่าในอนาคตจะมีหนังไทยอย่างนางนากไปโด่งดังในต่างประเทศเช่นกัน

ธุรกิจของการทำหนังไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยน แปลงอีกครั้งโดยมีวิสูตรและทีมงานของเขามีส่วนอย่างยิ่งในการจุดประกาย

วิสูตรเป็นลูกชายของเจริญ ประธานบริษัทโกบราเดอร์ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงหนังมานานกว่า 40 ปี เป็นพี่ของวิชัยผู้บริหารโรงภาพยนตร์ในค่าย EGV ซึ่งปัจจุบันเป็นค่ายเจ้าของโรงหนังที่มากที่สุดในประเทศไทย เป็นพูลวรลักษณ์อีกคนหนึ่งที่ชีวิตในวัยเด็กคลุกคลีมากับโรงหนัง "ทั้งขายตั๋ว ขายน้ำ เมื่อก่อนช่วงตรุษจีนทีผมดูหนังวันละประมาณ 5 เรื่องและดูหนังวนเวียนอยู่อย่างนั้น" วิสูตรเล่า

จนกระทั่งเขาจบการศึกษาจากโรงเรียนสหคุณศึกษา หลังจากนั้นก็มารับหน้าที่ทำอาร์ตเวิร์กเป็นฝ่ายศิลป์ให้กับโรงหนังของครอบครัว ส่วนใหญ่ในช่วงนั้นหนังจีนบูมมากทำโฆษณาหนังจีนไปประมาณ 200 เรื่อง และในช่วงเวลานั้นก็ยังได้มีโอกาสเดินทางไปฮ่องกง ไปไต้หวันบ่อยๆ เพื่อไปซื้อหนังเข้ามาฉายในเมืองไทย

อิทธิพลต่างๆ ของการที่มีโอกาส ดูหนังมากกว่าคนอื่นๆ ได้ซึมลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของวิสูตรตั้งแต่วัยเด็กมาโดยไม่รู้ตัวบวกกับประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับในการทำงานที่เกี่ยวกับธุรกิจของหนังอีก 7 ปี มีส่วนอย่างมากที่ทำให้วิสูตรมีความมุ่งมั่น ในการที่จะทำหนังเอง ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก

"สมัยเรียนมัธยม ผมก็เคยบอกเพื่อนว่าเมื่อเรียนจบจะไปทำหนัง เพื่อนๆ ฟังแล้วยังหัวเราะ"

และในระหว่างที่ทำงานให้กับโรงหนังของครอบครัวนั่นเอ ทำให้เขาได้รู้จั และสนิทสนมกับ "ปี๊ด" ธนิตย์ จิตต์นุกูล และ "อังเคิ่ล" อดิเรก วัฎลีลา ซึ่งสองคนนี้รับทำใบปิดให้กับโรงหนังของโกบราเดอร์ ทั้ง 3 คนมีความใฝ่ฝัน ในเรื่องเดียวกันคืออยากทำหนังไทยที่ตัวเองอยากดู ไม่ทำหนังผู้ใหญ่และไม่ทำหนังตามกระแส ไทเอ็นเตอร์เทน เม้นท์ก็เลยเกิดขึ้น ด้วยเงินทุนครั้งแรก 2 ล้านบาท ที่ได้รับจากเจริญผู้เป็นพ่อ และจรัลผู้เป็นอาคนที่ 4 หนังเรื่องแรกที่เขาทำในวัยเพียง 25 ปีคือ "ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย" โดยมี "ปี๊ด" และ "อังเคิ่ล" เป็นคนเขียนบท และเป็น ผู้กำกับและเป็นหนังไทยที่ทำรายได้มหาศาลในเวลานั้น

"ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย" ได้ปิดฉากเก่าของหนังไทยซึ่งเคยเป็นยุคดาราคู่ขวัญมานาน เช่น สมบัติ อรัญญา สรพงศ์ จารุณี มาสู่ยุคใหม่ โดยนำเอาดาราใหม่ซึ่งเป็นวัยรุ่นทั้งกลุ่มมาแสดง บิลลี่ สิเรียม สุรศักดิ์ วงศ์ไทย เองก็ได้แจ้งเกิดในเรื่องนั้น นอกจากความคิดที่กล้าฉีกแนวเดิมๆ ของหนังไทย ที่เรื่องราวมักอิงอยู่กับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหนักๆ ปัญหาชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องวัยรุ่นสนุกๆ ในครั้งนั้นแล้ว ก็ยังเป็นหนังไทยเรื่องแรกๆ เน้นในเรื่องการผลิตอย่างมากเช่นในเรื่องของ การจัดแสง จัดภาพ รวมทั้งเทคนิคในการถ่ายทำต่างๆ

ซึ่งทั้งหมดนั้นได้โดนใจวัยรุ่นไทย ไปอย่างจัง และที่สำคัญกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นนั้นเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญที่สุดของธุรกิจหนังที่วิสูตรมองเห็น

ค่ายไทฯ เลยเป็นค่ายของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีชื่อเสียงมานับตั้งแต่นั้น หนังเรื่องใหม่ทยอยมาอย่างต่อเนื่องปีละ 1-2 เรื่อง งบประมาณในการทำจาก 2 ล้านบาทเพิ่มเป็น 20 ล้านบาทในบางเรื่อง หนังในค่ายนี้เช่นเรื่องฉลุย กลิ้งไว้ก่อน พ่อสอนไว้ บุญตั้งไข่ รักแรกอุ้ม โดยส่วนใหญ่เป็นหนังวัยรุ่น เนื้อเรื่องค่อนข้างทันสมัย ให้ข้อคิด พยายามหลีกเลี่ยงความจำเจของคำว่าหนัง "น้ำเน่า" มา โดยตลอด จนกระทั่งมาถึงเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง และนางนาก ซึ่งเป็นผลงานเรื่องล่าสุดที่ได้ทำให้คนไทยอีกจำนวนมาก ที่ไม่เคยเข้าดูหนังไทยมานานต้องตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าไปดู

ความสำเร็จของการจับตลาดหนัง วัยรุ่นของวิสูตร ทำให้ต่อมาค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่มีกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นเป็นเป้าหมายหลักอดรนทนไม่ได้ ต้องเริ่มลงสนามแข่งขันบนถนนของแผ่นฟิล์มนี้ด้วย คือแกรมมี่ฟิล์ม และอาร์เอสฟิล์มเมื่อมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากค่ายใหญ่ เงินหนา วิสูตรก็เลยบอกว่าเรื่องของการ พัฒนาทางความคิดยิ่งเป็นเรื่องที่หยุดนิ่งไม่ได้ ทุกวันนี้การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสืออาจจะเป็นเพียงงานอดิเรกของบางคน แต่สำหรับวิสูตรแล้วมันน่าจะเป็นงานหลักที่เขาจำเป็นจะต้องทำในสิ่งต่างๆ เหล่านี้วนเวียนกันอยู่ตลอดเวลา

"ทุกวันนี้ผมเองก็พยายามเกาะไปตามกระแส แม้อายุ 40 กว่าแล้วนะแต่หนังที่ออกมา 90% ผมจะต้องดู ดูไม่ทันก็ซื้อเทปเก็บไว้ดูวันหลัง แม้แต่เทปเพลงที่ออกมาตามท้องตลาด 10 ชุด ผมซื้ออย่างน้อย 9 ชุด ฟังหมดม้วนบ้าง ไม่หมดม้วนบ้าง แต่ต้องฟังถ้าลูกผมรู้ว่าสัปดาห์นี้หนังเรื่องไหนติดอันดับ หรือเพลงของค่ายไหนติดอันดับผมเองก็ต้องรู้ด้วยเหมือนกัน"

ส่วนหนังเรื่องล่าสุดที่อยู่ในใจของคนทำหนังคนนี้ คือ "The Sixth Sense" ซึ่งเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ ผลงานการแสดงของบรูซ วิลลิส และ โทนี่ คอลเล็ต

"ผมดูเรื่องนี้แล้วเหมือนกับเราถอยหลัง เขาคิดเรื่องได้อย่างไรซับซ้อนจริงๆ เราไม่สามารถทำหนังอย่างนี้ได้เลย ผมไม่เข้าใจเลยว่าเขาเริ่มความคิดกันได้อย่างไร"

กระบวนการทางความคิด เป็นเรื่องสำคัญที่วิสูตรมองว่าทำให้หนังไทยไม่ค่อยพัฒนา เขาได้โยงปัญหาเรื่องนี้กลับเข้าไปสู่เรื่องระบบการศึกษาของไทย

"ขบวนการทางความคิดของคนไทยไม่ได้ถูกสอนมาเหมือนฝรั่งเราถูกฝึกมาให้ท่องจำ ไม่ได้ฝึกมาให้คิด ใครฉีกสูตรออกไปคือผิด แต่ระบบการศึกษาเมืองนอกถ้าใครฉีกสูตรออกไปได้ ดี ก็จะได้เอเลย เพราะถือว่ามันเก่งกล้า คิด กล้าฉีกแนวออกไป และที่สำคัญอีกอย่างก็คือเราติดดูละครแบบไทยๆ มาตั้งแต่เด็กๆ ทุกอย่างมันซึมเข้ามาหมด ดังนั้นถ้าจะให้คนไทยไปเขียนบทบางครั้งมันก็ฉีกไม่ออกเหมือนกัน"

นอกจากนั้นโรงเรียนสอนเกี่ยวกับภาพยนตร์จริงๆ ในเมืองไทยก็ยังไม่มีนอกจากเลือกเรียน 3-4 ปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย เรียนจบแล้วหาประสบการณ์จากการทำงานคือก้าวแรกของความคิด ในขณะเดียวกันเด็กฝรั่งจบออกมาเขาก็เริ่มแข่งขันได้เลย"

ดังนั้นอนาคตของหนังไทย จะทำได้ดี ได้ซับซ้อนเท่าหนังฝรั่งคงอีกนานกว่าจะเป็นไปได้ และหมายถึงระบบการศึกษาแบบเดิมๆ ของไทยต้อง เปลี่ยนด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกับการสร้างหนังเทคนิค ซึ่งหนังไทยไม่มีทางไล่ตามหนังฝรั่งได้ทัน

"ตั้งแต่ผมดูหนังเรื่องคนเหล็กภาค 3 ที่มันใช้เทคนิคปั้นน้ำเป็นตัวได้ สามารถให้ของเหลวที่ไหลอยู่กับพื้นกลายเป็นคนยืนขึ้นมา ในตัวคนก็มีเงาสะท้อนของวัตถุที่เข้ามาตั้งแต่นั้นมา ผมก็เลิกคิดที่จะทำหนังเทคนิคแข่งกับเขา แต่หากการใช้เทคนิคบางเรื่องเพื่อความสมจริง เป็นเรื่องที่แข่งกันได้ หรือสู้กันในเรื่องกระบวนการความคิด ผมก็ว่าเราสู้ได้แม้ต้องใช้เวลา"

อย่างไรก็ตามวิสูตรมองว่า นางนากก็ไม่ได้เป็นหนังไทยที่มีโครงเรื่องซับซ้อนหรือเด่นมากนักแต่เป็นความตั้งใจในการทำหนัง การใช้แสงการตัดต่อภาพ และที่สำคัญทีมงานทำการบ้านอย่างมากเพื่อให้เรื่องสมจริงที่สุด ความ สำเร็จของเรื่องนี้จะเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของหนังไทย เพราะมันเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ดึงให้คนไทยหันมาสนใจหนังไทยได้ส่วนหนึ่งแล้ว ในขณะเดียวกันมันได้ทำลายระบบหนังไทยวัยรุ่นที่เอานักร้อง นายแบบ นางแบบ มาเล่นมาเป็นจุดขาย คนเหล่านี้จะไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวของหนังไทยอีกต่อไป หนังรุ่นใหม่จะต้องให้ความสำคัญของการคัดเลือกตัวนักแสดงให้เหมาะกับบทมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงที่ดีในวงการหนังไทย และจะทำให้กระบวนการทางความคิดอย่างอื่นตามมาเมื่อเหลือการแข่งขันกันในบริษัทสร้างหนังหลักๆ 5-6 บริษัทในเมืองไทย การแข่งขันก็จะเน้นเรื่องคุณภาพจริงๆ

เรื่องนางนากวิสูตรได้มีการเซ็นสัญญามอบให้ตัวแทนที่ยุโรปนำไปจัดจำหน่ายที่ยุโรป MIRAMAX บริษัทจัดจำหน่ายหนังรายใหญ่ของอเมริกา ได้มา ขอเทปไปดู และเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมานางนากได้ไปเปิดฉายที่สิงคโปร์ แม้ไม่ใช่หนังไทยเรื่องแรกที่ไปฉายที่นั่น แต่วิสูตรบอกว่าเป็นเรื่องแรกที่มีการทุ่มทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง เป็นเรื่องเป็นราว

"ถ้านางนากเป็นตัวจุดชนวนผม หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้หนังไทยออกสู่ตลาดหนังข้างนอกอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุด เพราะถ้าหยุดเขาจะลืมเราทันทีเหมือนกัน"

ส่วนเรื่องที่ไทเอนเตอร์เทนเม้นท์ เพิ่งปิดกล้องไปก็คือ สตรีเหล็ก ซึ่งเป็นหนังแนวสนุกสนานเป็นเรื่องจริงของทีมวอลเลย์บอลกระเทยที่เป็นแชมป์กีฬาเขตที่นครสวรรค์ และสามารถเล่นชนะ ทีมชาติของทหารอากาศ ก่อนลงเล่นต้องแต่งหน้า ทาปาก เวลาเล่นก็จะมีวี้ดว้ายกระตู้วู้ แต่เขาชนะได้เพราะความ เป็น TEEM WORK ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยต้องติดตามดู เพื่อพิสูจน์ฝีมือของคนไทยที่หัวใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความ รักในหนังไทย และมุ่งมั่นที่จะสร้าง สรรค์ผลงานคนนี้ต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.