บริเวณห้องจัดเลี้ยงในห้องบอลรูมของโรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อค่ำคืนของวันที่
13 ตุลาคมที่ผ่านมา คลาคล่ำไปด้วยแขกรับเชิญระดับไฮโซ เพื่อมาดู แฟชั่นโชว์ของห้องเสื้อเมตตา
หนึ่งในร้านตัดเสื้อระดับแนวหน้าของเมืองไทย
แต่งานในวันนั้นไม่เหมือนกับการจัดแฟชั่นครั้งที่ผ่านๆ มา ไม่ใช่เพราะการว่างเว้นการจัดเดินแฟชั่นไปถึง
2 ปีเต็ม แต่เป็นครั้งแรกที่เมตตา ตันติสัจจธรรม เจ้าของห้องเสื้อเมตตา ใช้คอนเซ็ปต์
"woman on the web" ใช้สำหรับงานแฟชั่นโชว์ครั้งล่าสุดของเธอ ด้วยการถ่ายทอดการเดินแฟชั่นโชว์ให้ผู้ชมดูได้บนเว็บไซต์
"thaicast.com" ของเคเอสซีอินเตอร์เน็ต ให้เปิดดูสามารถดูได้พร้อมๆ
กับแขกรับเชิญภาย ในงาน
ถึงแม้ว่าการจัดงานในวันนั้นจะยังคงให้ความสำคัญกับการเดินแฟชั่น จนละเลยที่จะเน้นย้ำในเรื่องการถ่ายทอดบนเว็บไซต์
ที่เป็นคอนเซ็ปต์สำคัญไปอย่างน่าเสียดายก็ตาม และภาพที่ปรากฏบนเว็บไซต์ในวันนั้นยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร
แต่ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่ง ที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ระยะห่างระหว่างอินเตอร์เน็ตกับธุรกิจ
หรือกับ ผู้หญิง กำลังแคบลงทุกที การใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ทางธุรกิจขยาย
ตัวออกไปมากไม่เว้นแม้กระทั่งในวงการ แฟชั่นของเมืองไทย
เมตตาก็เหมือนกับผู้หญิงหรือคนอีกหลายคน ที่อินเตอร์เน็ตยังห่างไกลกับตัวเธอมาก
แต่นั่นเป็นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เมื่อเธอมีโอกาสได้มาสัมผัส กับอินเตอร์เน็ต
จากการชักชวนเพื่อนสนิทที่ร่ำเรียนมาด้วยกันตั้งแต่สมัยเด็ก กนกวรรณ ว่องวัฒนสิน
แห่งเคเอสซี เป็นผู้จุดประกายการเข้ามาสัมผัสกับอินเตอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลแฟชั่น
และรวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ใน การทำธุรกิจ
เมตตาเริ่มต้นใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อติดตาม
แฟชั่นใหม่ๆ ทุกวันนี้เมตตาไม่ต้องรอ โวคเล่มใหม่ หรือนิตยสารเล่มใหม่จากต่างประเทศแต่เธอจะเปิดดูในเว็บไซต์
vouge.com และ firstview.com เพื่อดูแฟชั่นใหม่ล่าสุด ที่เธอพบว่าการดูจากบนเว็บเร็วกว่านิตยสารอย่างเทียบกันไม่ได้
เธออาจไม่ได้เป็นคนเดียวที่มองเห็นโอกาสเหล่านี้ แต่เธอมีโอกาสได้ลงมือทำได้ก่อนดีไซเนอร์คนอื่นๆ
และก่อนหน้าเดินแฟชั่นโชว์เพียงวันเดียว
เว็บไซต์ "metta.kst.net" ที่เธอทำขึ้นมา ถูกใช้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์งาน
บอกถึงคอนเซ็ปต์ของการจัดแฟชั่นโชว์ในวันนั้น ประวัติของเธอรวม ถึงข้อมูลของช่างแต่งหน้า
และช่างทำผม และโฉมหน้าของนางแบบและนายแบบในวันนั้น พูดง่ายๆ ก็คือใช้เป็นการ
pre-view ให้ดูข้อมูลของงานแฟชั่นก่อนวันเดินแบบจริง
และหลังจากวันงาน รูปของแขก รับเชิญทั้ง 500 คน จะถูกบรรจุลงเว็บไซต์
พร้อมกับเรื่องภาพของงานในวันนั้นจะเก็บเป็นข้อมูลอย่างหนึ่ง เพื่อสร้าง
แรงจูงใจให้คนที่มาในงาน ได้แวะเวียนมาที่เว็บไซต์ของเธอที่ไม่ได้เป็นแค่สื่อในการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักร้านเมตตา
ที่เธอจะใส่ข้อมูลผลงานการออก แบบเสื้อผ้าตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการ คือปี
1992 มาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น
เมตตายังทำเว็บไซต์นี้เป็นช่องทางในการค้าขายเสื้อผ้าของเธอด้วยนั่น
ก็คือ การทำอีคอมเมิร์ซแบบง่ายๆ
เมตตาวางคอนเซ็ปต์การขายเสื้อผ้าบนเว็บ จะต้องมีความแตกต่างไปจากเสื้อผ้าที่ขายในร้านซึ่งจะมีรายละเอียดมากกว่า
แต่เสื้อที่ขายบนเว็บจะต้องเป็นแบบง่ายๆ และที่สำคัญจะต้องมีระดับราคาที่ต้องถูกกว่าเสื้อผ้าที่ขายอยู่ในร้านของเธอตามปกติ
ราคาที่จำหน่ายจะอยู่ในช่วง 1,000-4,000 บาท เพื่อสนองตอบกับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น
ซึ่งเป็นผู้ใช้ส่วนใหญ่บนอินเตอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม เมตตารู้ดีว่า แม้อินเตอร์เน็ตจะทำให้โอกาสของธุรกิจเสื้อผ้าเปิดกว้างขึ้น
แต่การซื้อขายเสื้อผ้าผ่านเว็บก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของคนไทยที่ยังไม่ชินกับการซื้อขายของบนเว็บ
และการซื้อเสื้อผ้าส่วนใหญ่ก็ยังต้องลอง เธอจึงไม่ได้คาดหวังในเรื่องรายได้จากบนเว็บมากนัก
ตัวเลขที่เธอวางไว้ คือ 20-30% ของยอด ขายที่ได้จากร้านขายของตามปกติ
และการซื้อขายบนเว็บของเธอก็ยังไม่ได้เป็นอีคอมเมิร์ซสมบูรณ์แบบ ที่สามารถชำระบัตรเครดิตได้ทันที
แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่การสั่งซื้อเสื้อเท่านั้น เพราะการชำระเงินก็ยังอยู่ในรูปของการให้ลูกค้าจ่ายธนาณัติ
หรือโอนเงินเข้าบัญชี จากนั้นเสื้อผ้าที่ลูกค้าสั่งไว้จึงจะส่งไปรษณีย์ไปให้
"เราต้องการเปิดโอกาสให้ลูกค้า ต่างจังหวัด และคนไทยต่างประเทศได้รับความสะดวกมากขึ้น
แทนที่จะโทรศัพท์มาสั่ง และเราส่งไปรษณีย์ไปให้ เขาก็มาสั่งผ่านบนเว็บไซต์"
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางใช้สื่ออินเตอร์เน็ตจับลูกค้าที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น
ที่เมตตาหวังว่าคนกลุ่มนี้ในอีก 4-5 ปี เด็กพวกนี้จะกลายมาเป็นลูกค้าของเธอ
แต่ก่อนที่จะไปถึงในจุดนั้น สิ่งที่เธอพบจาก "สื่อ" อย่างอินเตอร์เน็ตก็คือการเป็นสื่อราคาถูก
เมื่อเทียบกับการ ลงโฆษณาในแมกกาซีน การทำเว็บไซต์ ของเธอก็ใช้เงินไปประมาณ
10,000 บาท
อนาคตที่เธอเตรียมไว้ก็คือ การทำเว็บไซต์เกี่ยวกับแฟชั่นของไทย ที่จะเป็นการรวบรวมผลงานของดีไซเนอร์ในไทยที่มีอยู่ราว
20-30 คน และการตอบปัญหาเกี่ยวกับความสวยความงามบนเว็บไซต์ เช่น การแต่งหน้า
หรือการแต่งตัวให้เหมาะสม
และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของธุรกิจความงามกับอินเตอร์เน็ต