ประชัยจี้คลังถอนตัวTPIตั้งเงื่อนไข "ปตท." ถือหุ้น


ผู้จัดการรายวัน(22 มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ประชัย" เรียกร้องให้คลังถอนตัวจากผู้บริหารแผนฯ TPI หากไม่สามารถเป็นกลางได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เคลียร์กับเจ้าหนี้เอง ยืนยันไม่ปิดกั้น หาพันธมิตรร่วมทุน เพียง แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูฯฉบับผู้บริหารลูกหนี้ เสนอซื้อราคาหุ้นละ 20 บาท และให้ลูกหนี้เป็นผู้บริหารธุรกิจต่อไป ด้าน "ปกรณ์" นัดหารือสรุปแผนฯ ครั้งสุดท้ายวันนี้ก่อนเสนอคลังเห็นชอบ

ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาถือหุ้นในบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) โดยปตท.แสดงความสนใจที่จะเข้ามาถือหุ้นประ-มาณ 20-30% ซึ่งจะมีการเจรจารายละเอียดในเร็วๆนี้

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)(TPI) กล่าวว่า ยอมรับได้หากดึงพันธมิตรเข้ามาถือหุ้น TPI 30% แต่ต้องมีการเจรจาเรื่องเงื่อนไขและราคาหุ้น หากปตท.จะเข้ามาซื้อหุ้น TPI ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ลูกหนี้เสนอไปก่อนหน้านี้ โดยจะต้องซื้อหุ้นที่ราคา 20 บาทต่อหุ้น และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ซื้อหุ้นคืนได้ รวมทั้งอำนาจการบริหาร TPI ยังอยู่ภายใต้การดูแลของผู้บริหารลูกหนี้

"การให้พันธมิตรเข้ามาร่วมทุน เราไม่ได้ปิดกั้น บางอย่างเราคุยกันได้จนกว่าจะมีเงื่อนไขที่พอใจ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีอะไรคุยกันได้ ที่ผ่านมา TPI มียอดขายเดือนละกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งเราเป็นนักธุรกิจคุยได้ เพียงแต่ต้องเปิดโอกาสให้มีการพูด คุย ไม่ใช่ไม่คุยแล้วบีบลูกเดียว ความจริงผมเป็นคนปอดในการสู้คน แต่อย่าบังคับให้ผมสู้ ผมไม่ต้องการเป็นศัตรูกับรัฐ เพียงต้องการรักษาสิทธิของประชาชนและธรรมาภิบาล"

อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงการคลังเห็นชอบตามแผนของตัวแทนคลัง ตนยืนยันจะคัดค้านต่อศาลล้มละลายตามสิทธิที่มีอยู่ เพราะถือว่ากระทรวงการคลังปล้นประชาชนผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งเป็นการขัดต่อจริยธรรม มโนธรรม และเจตนารมณ์ของกฎหมายฟื้นฟู เชื่อว่ากระทรวงการคลังคงถูกกดดันจากเจ้าหนี้ แต่เมื่อกระทรวงการคลังไม่สามารถดำรงความเป็นกลางได้ ก็อยากให้ถอนตัวจากการเป็นผู้บริหารแผนฯ TPI เพื่อให้ลูกหนี้ต่อสู้กับเจ้าหนี้เอง

"ปตท.อาศัยอภิสิทธิ์อะไรมาซื้อหุ้น TPI 30% หากรัฐยอมคนจะหมดความเชื่อถือ เพราะเท่ากับรัฐปล้นประชาชน (TPI) ไปให้กับอีกคน (ปตท.) โดยร่วมกับเจ้าหนี้มาปล้น ทำให้คนไม่เชื่อถือกฎหมายไทย ถ้าทำก็ถือว่าเป็นกฎหมายป่าเถื่อน ผมเชื่อว่ารัฐจะไม่ทำ"

นายประชัยย้ำว่า ทางผู้บริหารลูกหนี้เสนอให้ใช้แผนฟื้นฟูกิจการที่ลูกหนี้จัดทำ เพราะถือเป็นแผนที่ดีและยุติธรรมที่สุด เพราะเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมด ขณะที่ลูกหนี้ก็จะได้บริษัทคืน หากใช้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขของผู้บริหารแผนที่มาจากตัวแทนกระทรวงการคลังนั้น เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนแล้วยังได้บริษัทไปด้วย

ส่วนข้อเสนอให้มีการลดทุนจดทะเบียน TPI จาก 10 บาทเหลือ 1 บาทต่อหุ้น ถือว่าผู้บริหารแผนฯ มีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อให้ปตท.หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)เข้ามาถือหุ้น โดยไม่ต้องรับภาระการขาดทุนสะสมของ TPI ที่มีอยู่ถึง 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ TPI ไม่ได้รับประโยชน์แต่จะเสียหายมากกว่า เพราะกำไรที่ได้จากการดำเนินงานจะต้องเสียภาษีนิติบุคคลทันที โดยไม่มีตัวเลขหากล้างขาดทุนสะสมหมดหักจ่าย ทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ช้าลง อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี เพียงแต่ขอเวลาหายใจบ้าง

แผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ผู้บริหารลูกหนี้เสนอ คือ เสนอให้ลดหนี้จาก 2,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหนี้ที่หาย ไปจำนวน 2,140 ล้านดอลลาร์พร้อมดอกเบี้ย 750 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2541-2543 รวมเป็นหนี้ 2,892 ล้านดอลลาร์นั้น ได้เสนอให้มีการแปลงหนี้เป็นทุน ในราคาหุ้นละ 20 บาท หรือเท่ากับ 5,845 ล้านหุ้น โดยมีสัดส่วนประมาณ 75% พร้อมทั้งกำหนดเวลา หนี้ที่เหลือคืนภายใน 4 ปี และกำหนดให้ลูกหนี้ซื้อหุ้นคืนในราคาหุ้นละ 20 บาทบวกดอกเบี้ย

ผู้บริหารแผนฯ TPI นัดหารือครั้งสุดท้าย

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา หนึ่งในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TP กล่าวว่า ในวันนี้(22 มิ.ย.) ทางคณะผู้บริหารจะประชุมสรุปแผนปรับโครงสร้างหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเสนอเพื่อขอความเห็นชอบกับกระทรวงการคลังอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ หากกระทรวงการคลังเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปก็จะส่งแผนฟื้นฟูฯให้คณะกรรมการเจ้าหนี้โหวตรับแผน หลังจากนั้นจะเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อส่งแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขให้เจ้าหนี้ทั้งหมด เพื่อพิจารณาและตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

"คาดว่าเจ้าหนี้จะใช้เวลาดูรายละเอียดทั้งหมด ประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นทางเจ้าหนี้ 140 ราย จะร่วมกันโหวตก่อนจะส่งต่อแผนฟื้นฟูฉบับดังกล่าว ให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาต่อไป โดยกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมาในเบื้องต้นคาดว่าจะเสร็จสิ้น ภายใน 3 เดือนหลังจากนี้" นายปกรณ์กล่าว

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขของผู้บริหารแผนฯ ที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลังนั้น จะดำเนินการลดทุนจดทะเบียนเหลือหุ้นละ 1 บาท จากปัจจุบันหุ้นละ 10 บาท หลังจากนั้นจะเพิ่มทุนใหม่เพื่อรองรับการแปลงหนี้เป็นทุน ทำให้ เจ้าหนี้จะถือหุ้นใหญ่ 90% และอีก 10% เป็นผู้ถือหุ้นเดิม

นอกจากนี้ จะหาพันธมิตรร่วมทุน เพื่อซื้อหุ้นคืนจากเจ้าหนี้ ซึ่งบริษัทจะนำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่เกิดจากการลดราคาพาร์ และการแปลงหนี้เป็นทุนให้กับเจ้าหนี้ มาล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ราว 8.6 พันล้าน บาท ทำให้TPIสามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เร็วขึ้น

การคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการฯทีพีไอของผู้บริหารลูกหนี้ครั้งนี้ ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความวิตก เกี่ยวกับความชัดเจนและแผนฟื้นฟูฯอาจล่าช้าออกไป ทำให้ราคาหุ้น TPI วานนี้( 21 มิ.ย.) ปิดตลาดที่ 9.45 บาท ลดลง 5 สตางค์ เปลี่ยนแปลง 0.53% มูลค่าการซื้อขายรวม 503.40 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.