"แบงก์" เร่งรัดแก้ไขหนี้เกรงพิษบีบเพิ่มสำรอง


ผู้จัดการรายวัน(21 มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์พาณิชย์ไทยเร่งปรับโครงสร้างหนี้ หลังแบงก์ชาติออกมาตรการบีบลดค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน หวั่นตั้งสำรองเพิ่มกระทบเงินกองทุน คาดสิ้นปีเอ็นพีแอลลดใกล้เป้าหมายก่อนปี 48 ด้านเอ็นพีเอยังอืด รับผลกระทบความผันผวนเศรษฐกิจน้ำมันบวกการเร่งโอนอสังหาฯช่วงปลายปีก่อน "ทหารไทย" โชว์เป้าปี 47 จำหน่าย 6 พันล้าน "กสิกรไทย" ขาย 4.2 พันล้าน ขณะที่แบงก์กรุงศรีฯ ตั้งเป้าสูงถึง 7 พันล้าน เชื่อครึ่งปีหลังแบงก์งัดสารพัดกลยุทธ์แข่งขายเอ็นพีเอ

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์มีความคืบหน้ามาก หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงช้ามาก ดังนั้น เมื่อธปท.มีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขเอ็นพีแอล ของธนาคารพาณิชย์ล่าสุด ในเดือนเม.ย.47 ลดลงเหลือ 617,598.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.94%

สาเหตุที่เอ็นพีแอลปรับลดลงเหลือ 11.94% เนื่องจากธปท.ได้ออกมาตรการเกี่ยวกับการลดค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันที่สามารถหักเข้าไปในสำรองของธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการบีบให้ธนาคารเร่งปรับโครงสร้างหนี้เร็วขึ้น เพื่อลดภาระการตั้งสำรอง ซึ่งอาจจะกระทบกับเงินกองทุนได้ ดังนั้นคาดว่าในครึ่งปีหลังการปรับโครงสร้างหนี้จะเร่งตัว ทำให้เอ็นพีแอลลดลง อาจจะเห็นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายคือ 10% ภายในปี 48

"เป้าหมายของแบงก์ชาติ ต้องการให้แบงก์ลดเอ็นพีแอลลงเหลือในระดับ 10% ภายในปี 48 ทำให้ต้องออกมาตรการบีบแบงก์ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือ เช่น การให้ บบส.เข้ามารับซื้อเอ็นพีเอในระบบแบงก์ ทำให้ล่าสุดเดือนเม.ย.เอ็นพีแอลลดลงใกล้เป้าหมายมาก เชื่อว่าเมื่อเอ็นพีแอลลดลงระดับ 5% ระบบแบงก์จะดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ" แหล่งข่าวกล่าว

แบงก์เร่งระบาย NPA

นายธวัชชัย ตั้งเจริญชัยวัฒนา ผู้จัดการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าที่จะขายสินทรัพย์รอการขาย หรือเอ็นพีเอ ในปีนี้จำนวน 6,000 ล้านบาท จากจำนวนทั้งหมด 16,000 ล้านบาท ซึ่งยอดขายล่าสุด ณ วันที่ 10 เม.ย.47 ธนาคารสามารถขายไปได้แล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือจำนวน 485 ราย และคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะสามารถมียอดขายถึง 2,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยอดขายเอ็นพีเอของธนาคารในครึ่งปีแรกอาจจะชะลอลงบ้าง เนื่องจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้นักลงทุนรายใหญ่มีการชะลอการตัดสินใจ แต่ในส่วนของนักลงทุน รายย่อยยังมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คาดว่า ครึ่งปีหลังจะมียอดขายเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารไม่มีแผนที่จะเร่งขายเอ็นพีเอ แต่จะทยอยขายไปตามภาวะตลาดมากกว่า โดยจะเน้นเรื่องราคาเป็นหลัก

"เป้าที่วางไว้จำนวน 6,000 ล้านบาท เป็นยอดที่คาดไว้ภายหลังจากการควบรวมกิจการของธนาคารไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไว้แล้ว แต่ในส่วนของธนาคารเองหากขายได้ 3,000 ล้านบาท หรือ 50% ของเป้าที่ตั้งไว้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว" นายธวัชชัย กล่าว

ด้านนายอติพัฒน์ อัศวจินดา ผู้บริหารฝ่ายทรัพย์สินรอการขาย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าขายเอ็นพีเอ 4,200 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ขายได้จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยยอดโอน ณ สิ้นเดือนพ.ค.47 มีจำนวน 1,100 ล้านบาท จากจำนวนรวมทั้งหมด 15,000 ล้านบาท สำหรับแผนการระบายเอ็นพีเอของธนาคารในครึ่งปีหลัง นอกจากการจัดมหกรรมต่างๆ แล้ว ธนาคารจะใช้เครือข่ายของสาขาในการขายเอ็นพีเอ โดยการกระจายข้อมูลไปยังทุกสาขาเพื่อให้แนะนำกับลูกค้าในพื้นที่ สำหรับเรื่องของราคาจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสาขาเป็นหลัก เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับลูกค้าในพื้นที่มากกว่า

นายสรรสฤษดิ์ เย็นบำรุง ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสินทรัพย์รอการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ธนาคารมียอดเอ็นพีเอ ณ สิ้นเดือนพ.ค.47 จำนวน 16,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าขายในปีนี้จำนวน 7,000 ล้านบาท และยอดสิ้นเดือนพ.ค. ธนาคารสามารถขายเอ็นพีเอได้แล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การขายเอ็นพีเอในช่วงครึ่งปี 47 มีการชะลอตัวลง โดยเฉพาะเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ไม่มียอดขายเลย เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีแก่ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทำให้ประชาชนเร่งโอนทรัพย์เป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ทั้งนี้คาดว่าครึ่งปีหลังจะสามารถเร่งขายได้ดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคจะรับรู้ถึงต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ และธนาคารจะหันมารุกตลาดด้วยราคาประกอบกับกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.