ซัมซุงขอทีโออาร์เข้มประมูลซีดีเอ็มเอภูธร


ผู้จัดการรายวัน(21 มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ซัมซุงชี้จุดอ่อนทีโออาร์ ซีดีเอ็มเอ ในภูมิภาค อาจก่อความเสียหายกับเครดิตประเทศไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติ หลังไม่พบเงื่อนไขทดสอบการเชื่อมโยงกับเครือข่ายฮัทช์ ไม่จำเป็นต้องมีผลงานนอกประเทศ และเทคโนโลยีที่ไม่ทันสมัยทำให้ถึงแม้ประกวดราคาจนมีผู้ชนะ แต่โครงการยากที่จะเดินหน้า

นายทอม เครือโสภณ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ด้านอินฟราสตรักเจอร์ บริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) กล่าวถึงโครงการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอในภูมิภาคของบริษัท กสท โทรคมนาคม มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการจัดทำเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ว่า หากกระบวนการประมูลดำเนินจนถึงขั้นได้ผู้ชนะการประกวดราคา ก็เกรงว่าไม่สามารถเดินหน้าโครงการนี้ได้ และอาจจะมีการล้มประมูลเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งหมายถึงเครดิตประเทศไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติด้านสื่อสารโทรคมนาคมเสียหายไปมาก

"ผมกลัวชนะแล้วจะถูกฟ้อง เพราะว่าเงื่อนไขทีโออาร์ที่กำลังทำกันอยู่นี้ เรียกได้ว่าอ่อนกว่าทีโออาร์ครั้งก่อนที่นอร์เทลชนะประมูล แต่ก็ล้มไปในที่สุด"

นายทอม เป็นอดีตผู้บริหารสูงสุดของนอร์เทลประเทศไทย โดยร่วมประมูลกับบริษัทเรียลไทม์ของกลุ่มยูคอม ซึ่งทีโออาร์เดิมกำหนดเงื่อนไขเคร่งครัดมาก จนความเสี่ยงของกสท แทบไม่มี กล่าวคือกสทไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เองแต่กำหนดให้เอกชนเป็นผู้ซื้ออุปกรณ์มาทั้งหมดเพื่อแลกสิทธิการเป็นผู้ทำตลาดให้กับกสท และได้รับส่วนแบ่งรายได้การตลาดจากกสท

การประมูลเพื่อขยายบริการทั่วประเทศของโทรศัพท์มือถือ ซีดีเอ็มเอ มีขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2545 โดยกสทต้องการที่จะพัฒนา CDMA 800 Band A ให้เข้าสู่เทคโนโลยี CDMA 2000 1X และสามารถเชื่อมต่อกับบริการ CDMA 1X ที่ฮัทช์ให้บริการในกรุงเทพฯ และภาคกลาง 25 จังหวัดได้

แต่กสท มีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุนและไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงในเทคโนโลยีใหม่นี้ จึงเปิดประมูลในปี 2546 จนได้ผู้ชนะคือ กลุ่มเรียลไทม์และนอร์เทล ที่ต้องติดตั้งโครงข่าย 1,000 สถานีฐานให้กับกสท เช่าในสัญญา 12 ปี ด้วยราคาต่ำสุดราว 32,000 ล้านบาท แต่ในที่สุดก็ถูกล้มประมูลช่วงกลางปี 2546 เพราะถูกระบุว่า มีมูลค่าที่สูงมากขณะที่เอกชนก็ยืนยันว่าที่มูลค่าสูงมากนั้นเพราะเงื่อนไขตามทีโออาร์กำหนดไว้เข้มงวดมากจนทำให้ความเสี่ยงทั้งหมดตกที่เอกชนจึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงตามทำให้มูลค่าโครงการสูงตามไปด้วย

นายทอม กล่าวว่าทีโออาร์ใหม่ที่คาดว่าจะเขียนเสร็จในเดือนก.ค.มีจุดอ่อนกว่าทีโออาร์เดิม คือ จะไม่มีการทดสอบ (Technical Testing) เนื่องจากกสท อ้างว่าเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการเพราะกสท จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด นอกจากนี้ทีโออาร์ใหม่ยังไม่มีการระบุเรื่องผลงานนอกประเทศผู้ผลิต ซึ่งในทีโออาร์เดิมกำหนดว่าอย่างน้อยต้องมีการใช้งานระบบซีดีเอ็มเอดังกล่าว ใน 2 ประเทศที่ไม่ใช่ประเทศเจ้าของอุปกรณ์

"การไม่มี technical testing นั้นหมายถึง จะไม่มีทดสอบด้านเทคนิคโรมมิ่งระหว่างเครือข่ายฮัทช์ ในกรุงเทพฯ กับโครงข่ายใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งคุณสมบัติหลักของซีดีเอ็มเอคือเรื่อง Data กับ Video ซึ่งหากการเชื่อมมีการดรอปของสัญญาณก็หมายถึงไม่สามารถใช้งานด้านมัลติมีเดียที่เป็นจุดขายของซีดีเอ็มเอได้"

นายทอม กล่าวถึงความสำคัญของการทดสอบการเชื่อมโยงของอุปกรณ์เครือข่ายระหว่างภูมิภาคกับเครือข่ายของฮัทช์ ซึ่งใช้อุปกรณ์สถานีฐานของโมโตโรล่า และใช้อุปกรณ์ชุมสาย (Switching) ของนอร์เทล

แต่ปรากฏว่าในการทดสอบครั้งก่อนมีผู้ที่ผ่านการทดสอบ 3 ราย โดยซัมซุงกลับได้คะแนนสูงสุด นอร์เทลยังได้คะแนนรองลงมาและอันดับ 3 คือลูเซนต์ ในขณะที่โมโตโรล่ากลับทดสอบไม่ผ่านด้วยซ้ำ ส่วนอีริคสัน และ ZTE ตกรอบแรกเพราะเอกสารไม่สมบูรณ์

"ขนาดชุมสายใช้ของนอร์เทล เรายังทดสอบได้แค่ที่ 2 ส่วนโมโตโรล่าตก เห็นได้ว่าการทดสอบเป็นเรื่องสำคัญมาก"

เขาย้ำว่า สาระสำคัญของระบบซีดีเอ็มเอ คือ data and EVDO ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความแตกต่างและบริการที่เหนือกว่าระบบจีเอสเอ็ม และต้องสามารถเชื่อมโยงได้อย่างไม่มีปัญหากับเครือข่ายฮัทช์ นอกจากนี้หาก กสท ต้องการที่จะได้โครงข่ายที่ทันสมัยที่สุด วันนี้เทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ พัฒนามาที่ CDMA 1X-EVDV แล้ว ซึ่งสูงกว่า EVDO โดย EVDV ในส่วนของ Voice และ Data จะวิ่งรวมในท่อเดียวกันซึ่งทำให้ใช้ประโยชน์จากช่วงกว้างความถี่ (bandwidth) ได้มากขึ้น หมายถึง ทำให้ต้นทุนถูกลง และสามารถบริการถ่ายทอดสด (live wireless broadband) ได้เลย ซึ่งหากจะใช้ดูทีวีบนโทรศัพท์มือถือก็จะไม่มีการสะดุดของสัญญาณเหมือนปัจจุบันที่มีคนให้บริการอยู่

การประมูลครั้งใหม่ กสท ควรจะได้ทั้งอุปกรณ์ เทคนิคที่ดีที่สุด ราคาที่ดีที่สุด และที่สำคัญควรให้คะแนนเรื่องเงื่อนไขด้านการเงิน (financial package) อย่างน้อย 7 ปีด้วย เพราะครั้งนี้ กสทซื้อของเอง

"ควรมีระยะเวลาปลอดหนี้ช่วงแรกหรือจ่ายแค่ดอกเบี้ย เพื่อให้ กสท นำเงินไปใช้ด้านการตลาด พอพ้น 3 ปีแรกไปแล้วเชื่อว่าจะมีฐานลูกค้าเพียงพอ ค่อยมาทยอยจ่ายหนี้คืน กสท ควรบีบซัปพลายเออร์ ให้หน้าเขียวเพื่อให้ได้เงื่อนไขดีที่สุด"

แหล่งข่าวจากกสท กล่าวว่า การไม่ระบุเรื่องการทดสอบอุปกรณ์และผลงานนอกประเทศ มีความ เป็นไปได้สูงที่จะเอื้อประโยชน์กับซัปพลายเออร์จีนอย่างหัวเห่วย ที่คราวที่แล้วไม่สามารถเข้าประกวดราคาได้เนื่องจากเงื่อนไขทีโออาร์ที่เข้มงวด

"ตอนนี้คนใน กสท รู้กันทั่วแล้วว่าซีดีเอ็มเอ ถูกจองให้หัวเหว่ย"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.