บางกอกแลนด์ เตรียมระดมเม็ดเงินลงทุนบริษัทลูก "อิมแพค" ผุดศูนย์แสดงสินค้า-โรงแรม
มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท หวังติดอันดับศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าติดอันดับ 1
ใน 10 ของโลก ระบุหากทุกอย่างแล้วเสร็จอิมแพคจะมีรายได้ปีละ 4,000 ล้านบาท เล็งขนที่ดินเก่าเปิดโครงการบ้านเดี่ยว
4 โครงการมูลค่ากว่า 18,500 ล้านบาท ลั่นไม่เกิน 6 เดือนภาระหนี้กับธนาคารกรุงเทพเหลือเพียง
1,500 ล้านบาท ส่วนหนี้กับธนาคารออมสินอยู่ระหว่างทยอยคืน
นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND
เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้ขายหุ้น 20% ของบริษัทอิมแพค เอ็กซิบิชั่น จำกัด
(อิมแพค) ให้กับกลุ่ม MCCARTHY หรือคิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาท โดยมีกำหนดชำระงวดแรกจำนวน
1,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2547 ภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่อิมแพคตามเงื่อนไขสัญญา
โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างระดมที่ดินจำนวน 470 ไร่ เพื่อโอนให้กับอิมแพคตามกำหนดในสัญญา
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่นำอิมแพคเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2548 แล้ว MCCARTHY จะต้องนำเม็ดเงินจำนวน 3,000 ล้านบาท
มาใส่เข้าไปภายใน 6 เดือนหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งการเข้าตลาดฯของอิมแพคเพื่อระดมทุนประมาณ
6,000 ล้านบาท
"หลังจากนี้บางกอกแลนด์และอิมแพคจะมีสินทรัพย์ที่แยกจากกันอย่างชัดเจน โดยในส่วนของบางกอกแลนด์มีสินทรัพย์ 9,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินสดหมุนเวียน 3,000 ล้านบาท
และบริษัทได้มีการระดมทุนไปเมื่อเร็วๆ นี้อีกจำนวน 2,000 ล้านบาท และเม็ดเงินจากการขายหุ้นอิมแพคให้กับกลุ่ม
MCCARTHY จำนวน 4,000 ล้านบาท ส่วนอิมแพคภายหลังจากเข้าระดมทุนตลาดจะมีเม็ดเงินประมาณ
6,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวมทรัพย์สินทั้งที่ดินและตัวศูนย์แสดงสินค้า โรงแรม แล้วจะทำให้อิมแพคมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท" นายอนันต์กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะลงทุนในอิมแพคอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศูนย์แสดงสินค้าและโรงแรม โดยแบ่งเป็นศูนย์แสดงสินค้า ภายใต้ชื่อ The Challenger
โดยจะมีพื้นที่ก่อสร้างรวม 225,000 ตร.ม. ที่แสดงสินค้า 60,000 ตร.ม. พื้นที่โถงกลาง
20,000 ตร.ม. พื้นที่อเนกประสงค์อีก 6,000 ตร.ม. ที่เหลือเป็นพื้นที่จำหน่ายอาหาร
ส่วนชั้นใต้ดินสำหรับจอดรถ 100,000 ตร.ม. ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภาย ในเดือนสิงหาคม
2548 โดยมูลค่าโครงการนี้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาศูนย์แสดงสินค้าอีกแห่งภายใต้ชื่อ The Curvex ซึ่งมีพื้นที่
60,000 ตร.ม. มูลค่าโครงการประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในต้นเดือนสิงหาคม
2549 รวมถึงแผนที่จะสร้างโรงแรม 2 อาคาร ขนาด 1,000 ห้อง มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเลือกเชนบริหารโรงแรม อาทิ แมริออท
ทั้งนี้หากการก่อสร้างทุกอย่างแล้วเสร็จจะส่งผลให้อิมแพคติดอันดับ 1 ใน 5 ของศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมโลก โดยจะส่งผลให้อิมแพคมีพื้นที่แสดงสินค้ากว่า 260,000
ตร.ม. และที่จอดรถกว่า 20,000 คัน และจะทำให้อิมแพคมีรายได้ปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท
"ความพร้อมของอิมแพค จะเป็นหนึ่งในปัจจัยในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรม
MICE ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง"
นายอนันต์กล่าว
สิ้นปีหนี้เหลือเพียง 1,500 ล้านบาท
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ในส่วนหนี้สินของบางกอกแลนด์ ในช่วงวิกฤตมีอยู่ประมาณ
30,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้ตีทรัพย์ชำระหนี้ไปจนเกือบหมดแล้ว ซึ่งปัจจุบันได้เจรจาชำระหนี้กับเจ้าหนี้จนเกือบทั้งหมดแล้ว
ซึ่งอยู่ระหว่างโอนชำระหนี้ อาทิ โอนทรัพย์ชำระหนี้ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
(บสท.) ประมาณ 6,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเจรจาคืนหนี้เป็นเงินสดแก่ ธนาคารออมสินจำนวน 800 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีก 200 ล้านบาท โดยบริษัทจะใช้เงินสดคืนหนี้
ซึ่งคาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดภายใน 6 เดือนนับจากนี้ แต่ยังมีส่วนหนี้ที่เหลือกับธนาคารกรุงเทพ
อีกจำนวน 1,500 ล้านบาท เพราะต้องการทำธุรกิจกันต่อไปอีก
ผุดโครงการบ้านหรู 18,500 ล้าน
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของบริษัทบางกอกแลนด์ฯ มีแผนที่จะพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว 4 โครงการ มูลค่า 18,500 ล้านบาท ซึ่งได้ แก่ โครงการสุวรรณธานี ย่านศรีนครินทร์ติดกับสนามกอล์ฟกรุงเทพกรีฑา
บนเนื้อที่ 1,340 ไร่ โดยแบ่งเป็นโครงการบาฮามัส เป็นบ้านเดี่ยวจำนวน 165 หลัง
บนเนื้อที่ 112 ไร่ ราคายูนิตละ 8.9-20 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,500 ล้านบาท และโครงการเดอะ
ลียอง เป็นบ้านเดี่ยว จำนวน 1,600 หลัง บนเนื้อที่ 113 ไร่ มูลค่าโครงการ 11,000
ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เมืองทองธานี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ เดอะ ฟลอริด้า
เป็นบ้านเดี่ยวขนาด 500-1,000 ตร.ม. จำนวน 50 ยูนิต อยู่รอบทะเลสาบขนาด 80 ไร่
พื้นที่โครงการ 155 ไร่ ในราคายูนิตละ 42-102 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,500 ล้านบาท
ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่มีราคาแพงที่สุด โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ
ขณะนี้มีจองเข้ามาแล้ว ส่วนอีกโครงการ คือ เดอะมิลเลเนียม ปาร์ค เป็นบ้านเดี่ยวจำนวน
200 ยูนิต พื้นที่โครงการ 103 ไร่ มูลค่า 2,500 ล้านบาท
"อย่างไรก็ตามทั้ง 4 โครงการนี้จะยังไม่พัฒนาในทันที ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ต่างๆ
ก่อน เพราะขณะนี้เศรษฐกิจมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ยังไม่เหมาะที่จะพัฒนาโครงการออกมาขายในตอนนี้ แต่จะเริ่มสร้างบ้านตัวอย่าง และบ้านสร้างเสร็จออกมาในสัดส่วนประมาณ
10-20% เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นรูปแบบของสินค้าก่อน ส่วนที่เหลือจะเป็นสั่งสร้าง
เพราะเราไม่ได้รีบร้อนอะไร ที่ดินเป็นของเราอยู่แล้ว ไม่มีภาระผูกผันกับธนาคาร
ส่วนการก่อสร้างก็จะใช้เงินลงทุนของเราเอง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างประมาณ
5-7,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท"
นายอนันต์ กล่าว
ในส่วนของงานก่อสร้างโครงการทั้งหมดของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นศูนย์แสดงสินค้า โรงแรม
และบ้านจัดสรร บริษัทได้ให้บริษัท บุยก์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งหมด