เจ้าตลาดปิกอัพไทย "อีซูซุ" ระดมทุนครั้งแรกครั้งใหญ่ในไทย ด้วยการออกหุ้นกู้อายุ
4 ปี มูลค่า 3 พันล้านบาท โดยการรับรองจาก JBIC และ ฟิทช์เรตติ้งจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูงสุด
AAA จนบรรดาผู้ลงทุนสถาบันแห่จองล้นหลาม ต้องนำหุ้นกู้สำรองมารับความต้องการส่วนเกิน
ทำให้ยอดออกหุ้นกู้รวมสูงถึง 3.5 พันล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการย้ายฐานการผลิต ทั้งหมดมาไทย
รวมถึงรับศึกตลาดปิกอัพที่แข่งเดือดชนกับยักษ์ใหญ่ "โตโยต้า" ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
รายงานข่าวจากบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการจัดหาเงินทุน
โดยการออกหุ้นกู้อายุ 4 ปี มูลค่า 3 พันล้านบาท โดยเปิดให้ผู้ลงทุนสถาบันแสดงความต้องการลงทุนเมื่อวันที่
16 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนสูงกว่าปริมาณที่จะจัดออก
จึงต้องมีการใช้หุ้นกู้ส่วนที่สำรอง เพื่อรองรับความต้องการส่วนเกินเพิ่มอีก
"ผลจากการออกหุ้นกู้รวมทั้งหมด ทำให้บริษัทมีการจัดออกหุ้นกู้รวมเป็นมูลค่า 3.5
พันล้านบาท เพื่อนำเงินทุนจากการจัดออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อนำไปขยายงานด้านการขาย
และการผลิตของรถยนต์อีซูซุ"
โดยหุ้นกู้ที่จัดออกในครั้งนี้เป็น "หุ้นกู้มีประกันชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นของบริษัท
ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ครั้งที่ 1/2547 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2551" มีอัตราดอกเบี้ยเท่า
กับร้อยละ 3.35 ต่อปี โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยแบบไม่มีเงื่อนไข
และไม่สามารถยกเลิกได้จากบริษัทแม่ คือ บริษัท มิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น (Mitsubishi
Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทการค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และถือหุ้นบริษัท
ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ทั้งทางตรงและทางอ้อมถึง 90%
นอกจากนั้นหุ้นกู้ของบริษัทฯ ยังได้รับการค้ำประกันเงินต้นอีกทอดหนึ่ง จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น
(JBIC : Japan Bank for International Cooperation) ซึ่งมีบทบาทในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นและถือหุ้น
100% โดยรัฐบาลญี่ปุ่น นับเป็นครั้งแรกของ JBIC ที่ค้ำประกันหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนในสกุลเงินเอเชีย
ทั้งนี้บริษัท ฟิทช์เรตติ้ง จำกัด (Fitch Rating) ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือให้หุ้นกู้ในระดับสูงสุดที่ AAA การจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดดังกล่าว ตลอดจนรูปแบบของหุ้นกู้ที่มีความน่าสนใจ
รวมถึงผลประกอบการที่ดีเด่นของบริษัท ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบันในประเทศไทย
ส่วนการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ได้แต่งตั้งให้ธนาคารไทยพาณิชย์
จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้
โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และธนาคารกรุงเทพ
จำกัด (มหาชน) เป็นนายทะเบียนหุ้นกู้
สำหรับการออกหุ้นกู้ระดมทุนครั้งนี้ของอีซูซุ มีรายงานข่าวว่าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังเติบโต ประกอบกับอีซูซุได้ปิดฐานการผลิตเกือบทั่วโลก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็เตรียมจะยุติไลน์ผลิตรถเอสยูวีแห่งสุดท้ายในเดือนกรกฎาคมนี้
โดยจะย้ายฐานการผลิตทั้งหมดมาที่ประเทศไทย เช่นเดียวกับปิกอัพที่อีซูซุใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเป็นแห่งเดียว
นับตั้งแต่เปิดตัวปิกอัพรุ่นดีแมคซ์เป็นต้นมา จนปัจจุบันอีซูซุในไทยกลายเป็นฐานการผลิตสุด
ท้ายของอีซูซุก็ว่าได้
การระดมทุนครั้งนี้ของอีซูซุ จึงน่าจะเพื่อรองรับในการขยายการผลิต ทั้งรถปิกอัพที่จะใช้ไทยเป็นฐานส่งออกกว่า
170 ประเทศทั่วโลก และเตรียมรองรับการใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถเอสยูวีรุ่นใหม่ ที่อีซูซุจะใช้พื้นตัวถังเดียวกับ
อีซูซุ ดีแมคซ์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ปลายปีหน้า หรือต้นปี 2549 เพื่อทำตลาดในไทยและส่งออกทั่วโลก
นอกจากนี้เพื่อรับการแข่งขันตลาดรถยนต์ในไทย ที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคู่แข่ง
สำคัญ "โตโยต้า" ที่เตรียมจะเปิดตัวรถปิกอัพโมเดลใหม่ ภายใต้โครงการ
IMV ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อทำตลาดในประเทศ และส่งออกทั่วโลก โดยมีมูลค่าโครงการกว่า
3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวทำตลาดแทนรุ่นปัจจุบัน ไฮลักษ์ ไทเกอร์ ภายในเดือนสิงหาคมนี้
ในชื่อใหม่ว่า "ครูโซ"
จากความเคลื่อนไหวของคู่แข่ง ทำให้อีซูซุจำเป็นต้องรักษาตำแหน่งผู้นำไว้ให้ได้
จึงเตรียมเปิดตัวปิกอัพดีแมคซ์เครื่องยนต์ใหม่มาสู้กับคู่แข่งในระยะเวลาเดียวกัน
ทั้งหมดจึงเป็นอีกเหตุ ผลที่ทำให้อีซูซุจำเป็นต้องออกหุ้นกู้ระดมทุนกว่า 3.5 พันล้านบาทในครั้งนี้
อนึ่ง บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายรถยนต์
อะไหล่ และอุปกรณ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าอีซูซุในประเทศไทย นอกจากจะมีผลประกอบการอันโดดเด่นเป็นอันดับ
1 ในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ติดต่อกันถึง 21 ปีซ้อนแล้ว ยังได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการรถยนต์เมืองไทย
เมื่อนำรถปิกอัพ "อีซูซุ ดีแมคซ์" ออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ปี 2545 ที่ผ่านมา
โดยสามารถทำยอด จองได้มากกว่า 10,000 คัน ภายใน 10 วันแรกของการออกสู่ตลาด และมียอดจำหน่ายสูงกว่า
122,000 คัน ในปี 2546 ที่ผ่านมา นับเป็นรถยนต์ที่ขายดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย