บิ๊ก LOXLEY-AIT ปล่อยหุ้นสวนข่าวดี


ผู้จัดการรายวัน(17 มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้บริหาร LOXLEY-AIT ฉวยโอกาสหุ้นพุ่งช่วงมีข่าวประมูลหวยออนไลน์ ดอดขนหุ้นขายทำกำไร ด้านโบรกเกอร์ชี้แม้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่เป็นสัญญาณอันตราย เหตุผู้บริหารย่อมรู้พื้นฐานของบริษัทดีที่สุด ในขณะที่ ก.ล.ต.สั่ง LOXLEY แก้งบปี 46 และไตรมาส 1/47 เหตุบริษัทย่อยลงบัญชีไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

ในช่วงสัปดาห์ก่อนต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์นี้ หุ้นที่มีความเคลื่อน ไหวค่อนข้างคึกคักและมีแรงเก็งกำไรเข้ามาอย่างหนาแน่น และส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากหุ้น TPI แล้วคงมองข้ามหุ้น LOXLEY AIT และ SVOA ไปไม่ได้ เพราะมีประเด็นของการเข้าร่วมประมูล "การจ้างบริการระบบเกมสลาก" หรือที่คุ้นหู กันโดยทั่วไปว่า "หวยออนไลน์" มูลค่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมประมูลจากจำนวนบริษัทที่เข้าร่วม ประมูลทั้งหมด 9 บริษัท โดยจะมีการประกาศผลภายใน 3 เดือนนี้ ซึ่ง ก็ยังไม่มีใครประเมินได้ว่าบริษัทจะเป็นผู้ได้รับการประมูล

บิ๊ก LOXLEY-AIT ฉวยหุ้นพุ่ง เทขาย ทำกำไร

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยรายงานการถือครองหุ้นของผู้บริหาร (แบบ59-2) พบว่าระหว่างวันที่ 7-10 มิ.ย. 2547 นายวสันต์ จาติกวณิช ได้ขายหุ้น LOXLEY ออกมารวมจำนวน 1,110,300 หุ้นที่ราคาระหว่าง 3.24-3.54 บาท

นอกจากนั้น นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ รายงานการขายหุ้น AIT ระหว่างวันที่ 8-9 มิ.ย. 2547 รวมจำนวน 281,900 หุ้น ที่ราคาระหว่าง 29.16-29.87 บาท และนายชุมเกียรติ เล้าเสรีวัฒนกุล รายงานการขายหุ้น AIT โดยเป็นการขายเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2547 จำนวน 6,800 หุ้น ที่ราคา 32 บาท

ส่วน SVOA นั้นไม่มีการรายงานการขายหุ้นของผู้บริหารในช่วงเดือนมิ.ย.2547 แต่ก่อนหน้านี้ผู้บริหารก็มีการรายงานการขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ราคาหุ้น LOXLEY ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ก่อน โดยรายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แจ้งว่า ในวันที่ 7 มิ.ย. 2547 ราคาหุ้น LOXLEY ปิดที่ 3.46 บาท จากนั้นราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดวันที่ 16 มิ.ย.2547 ราคาหุ้นปิดที่ 4.08 บาท หรือคิดเป็นอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.91% ส่วนราคาหุ้น AIT ปิดตลาดวันที่ 7 มิ.ย. ที่ระดับ 27 บาท และปิดตลาดล่าสุดวันที่ 16 มิ.ย. ที่ 39.50 บาท หรือคิดเป็นอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้น 46.29%

โบรกฯ ชี้ผู้บริหารทิ้งสัญญาณอันตราย

ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา จำกัด (AYS) แนะนำขายหุ้น บมจ.แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) หลังจากพบข้อมูลแบบ 59-2 ของ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์(กรรมการผู้จัดการใหญ่)ได้ขายหุ้นของบริษัท จำนวน รวม 281,900 หุ้น (170,000 หุ้นที่ 29.87 บ.และ 111,900 หุ้นที่ 29.16 บาท) ได้รับเงินประมาณ 8 ล้าน บาท และยังคงถือหุ้นอยู่ 6.8 ล้านหุ้น

โดยระบุว่า การที่ผู้บริหารขายหุ้นไม่จัดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพียงแต่อาจตีความหมายได้ว่า ผู้บริหาร เห็นว่าราคาหุ้นที่ขายเป็นราคาที่เหมาะสม เนื่องจาก โดยทั่วไปแล้วผู้บริหารของบริษัทใดๆ จะรู้ข้อมูลของบริษัทนั้นๆ ดีกว่าบุคคลภายนอก

ด้านคำแนะนำการลงทุน แนะนำให้ "ขาย" หุ้นของ AIT เนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันปรับตัวขึ้นสูงกว่า เป้าหมาย และการประมูลโครงการในอนาคตยังแฝง ด้วยความไม่แน่นอน

ก.ล.ต.สั่ง LOXLEY แก้งบ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ได้สั่งให้บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) แก้ไขงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2546 และงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2547

เนื่องจาก สำนักงานพบว่าบริษัทย่อยของ บมจ. ล็อกซเล่ย์ บันทึกบัญชีจากรายการที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2546 ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งส่งผลให้งบการเงินของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ และบริษัทย่อยไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี

รายการดังกล่าวได้แก่การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาใน บริษัท ล็อกซเล่ย์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด(บ.ล็อกซเซิร์ฟ) โดยการแปลงเงินให้กู้ยืมจำนวน 255 ล้านบาทเป็นหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น และบันทึก เป็นเงินลงทุนใน บ.ล็อกซเซิร์ฟ จำนวน 255 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 25,500 บาทต่อหุ้น

ซึ่งสำนักงานเห็นว่ามูลค่าดังกล่าวไม่ได้สะท้อนมูลค่ายุติธรรม เนื่องจากแตกต่างอย่างมากจากราคาตามบัญชีในขณะนั้นของ บ. ล็อกซเซิร์ฟ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10 บาทต่อหุ้น สำนักงานจึงได้สั่งการให้ บมจ.ล็อกซเล่ย์ จัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเป็นผู้ประเมินมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน

และเสนอให้สำนักงานพิจารณา เพื่อประกอบการแก้ไขงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กล่าวข้างต้น ซึ่งจากมูลค่ายุติธรรมนี้ บมจ.ล็อกซเล่ย์ ต้องนำไปเปรียบเทียบกับมูลค่าเงินให้กู้ยืมและบันทึกส่วนต่างไว้ในงบกำไรขาดทุนในงวดนั้นด้วย

นอกจากนี้ สำนักงานพบว่าบริษัทย่อยของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ มีการบันทึกรายได้จากการกลับรายการผลขาดทุนเกินทุนจากเงินลงทุนใน บ. ล็อกซเซิร์ฟ มูลค่า 320 ล้านบาท ทั้งที่บริษัทย่อยนั้นไม่เคยบันทึกผลขาดทุนเกินทุนจากเงินลงทุนดังกล่าว สำนัก งานจึงได้ให้ บมจ.ล็อกซเล่ย์ แก้ไขการบันทึกรายการดังกล่าวในงบการเงินให้ถูกต้องด้วย

ทั้งนี้ การแก้ไขรายการข้างต้นจะมีผลให้กำไรและส่วนของผู้ถือหุ้นของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ ในปี 2546 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

บมจ.ล็อกซเล่ย์ ต้องแก้ไขงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2546 และงบการเงินสำหรับ ไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2547 โดยในเบื้องต้นต้องประเมินมูลค่ายุติธรรมของ บ.ล็อกซเซิร์ฟ และเสนอให้สำนักงานพิจารณาภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.