3โบรกฯ ใหม่จ่อคิวชิงเค้กหวั่นปัญหาชิงบุคลากร


ผู้จัดการรายวัน(17 มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

โบรกเกอร์เกิดใหม่จ่อคิวชิงเค้ก อีก 3 บริษัท หวั่นปัญหาแย่งตัวบุคลากรเกิดแน่ ด้าน "สุเทพ" นายกสมาคมโบรกฯ เตรียมคุยกติกากับรายใหม่ก่อนเข้ามาเป็นสมาชิก คาดไม่มีปัญหา ส่วนแผนลดผลตอบแทนมาร์เกตติ้งยันไม่เคยมีการคุยกัน ระบุตอนนี้เน้นสร้างมาตรฐานการทำงานก่อน หลังส่งแผนให้ ก.ล.ต. ไปก่อนหน้านี้ ขณะที่ตลท.เผยตัวเลขมาร์เกตติ้งทั้งระบบเพิ่มขึ้นแตะ 4,500 คนแล้ว ในขณะ ที่ตัวเลขการเคลื่อนย้ายลดลง ระบุไตรมาสแรกปี 47 มีการย้ายค่ายเพียง 38 คน ส่วนก.ล.ต. สั่งฟันมาร์เกตติ้งนอกแถว 6 ราย

หลังจากมีกระแสข่าว นายชาญชัย กุลถาวรากร อดีตผู้บริหาร บล.แอ๊ดคินซันและกลุ่ม ทุนใหม่ชนะการประมูลใบอนุญาต(ไลเซนส์) บล. เอชเอสบีซี และเตรียมที่จะเปิดดำเนินการในเดือน ก.ค. นี้ ในขณะที่ บล.แอสเซท พลัส เองผู้บริหาร ก็ได้ออกมากล่าวอย่างชัดเจนว่ามีผู้สนใจต้องการ ซื้อเป็นไลเซนส์จำนวนมาก ซึ่งบริษัทจะดำเนินการในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นมากที่สุด ส่วนบล.เอสจี สินเอเซีย ก็มีกระแสข่าวว่าจะกลับ มาประกอบธุรกิจโบรกเกอร์อีกครั้ง

เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า ในอนาคตอันใกล้อาจมีโบรกเกอร์ใหม่ๆ ขึ้นอีกอย่างน้อย 3 บริษัท เพราะปัจจุบัน มีบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ 3 แห่ง คือ บล.เอชเอสบีซี บล.เอสจีสินเอเซีย และบล.แอสเซท พลัส ที่ไม่ดำเนินธุรกิจ

ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่หลายโบรกเกอร์ได้ออกมาปรับประมาณการลงเหลือเพียงประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อวัน มีการแย่งชิงตัวบุคลากรทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่การตลาด วาณิชธนากร หรือแม้กระทั่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จึงเกิดความหวาดหวั่นกันว่าจะมีปัญหาแย่งตัวบุคลากรทวีความรุนแรงขึ้น
โบรกฯหวั่นศึกชิงบุคลากร

นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา (AYS) ให้ความเห็นว่า การที่จะมีโบรกเกอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งระบบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของบุคลากร เนื่องจากโบรกเกอร์ที่เกิดใหม่จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มาทำงาน ซึ่งมาจาก 2 ส่วน คือ การสร้างบุคลากรขึ้นเอง และการดึงมาจากที่อื่น ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่มีบริษัทใหม่เกิดขึ้น บริษัทย่อมต้องการคนที่มีประสบการณ์เพื่อมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในส่วนของมาร์เกตติ้ง และนักวิเคราะห์ ในขณะที่ฐานนักลงทุนยังคงเป็นกลุ่มเดิมๆ

อย่างไรก็ตาม หวังว่าผู้ที่เข้ามาใหม่จะมาช่วยกันสร้างคน และขยายฐานนักลงทุนซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยพัฒนาตลาดทุนให้เจริญก้าวหน้า

"มีผลกระทบแน่นอน เพราะเมื่อมีบริษัทก็ต้องมีคนทำงาน นั่นคือเป็นการสร้างเอง หรือดึงมาจากคนอื่น ซึ่งสร้างเองทั้งหมดก็คงไม่ได้ ดังนั้นก็มีอยู่ 2 อย่างคือสร้างเองส่วนหนึ่ง หรือไม่ก็ดึงของคนอื่นมายกทีม นอกจากนั้น ก็ยังมีในส่วนของกลุ่มลูกค้า ที่หากไม่มีการขยายฐานลูกค้า ใหม่ มาดึงลูกค้าเก่าก็ไม่มีประโยชน์อะไรต่อระบบ แต่หากเข้ามาช่วยกันสร้างฐานลูกค้าก็จะเป็นสิ่งที่ดี"

ด้านนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า การมีโบรกเกอร์เปิดใหม่เพิ่มขึ้นมาเพียงไม่กี่บริษัท ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อระบบ แต่บริษัทที่เกิดใหม่นั้นหากไม่มีคนมากพอ โดยเฉพาะในส่วนของมาร์เกตติ้ง ก็อาจจะต้องลำบากในเรื่องของการขยายฐานลูกค้า ส่วนประเด็นที่ว่าจะเกิดปัญหาการแย่งชิงตัวมาร์เกตติ้งนั้นคาดว่าจะมีไม่มาก เนื่องจากมีเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KEST) กล่าวว่า การมีโบรกเกอร์ใหม่เข้ามา ถือเป็นทางเลือกให้นักลงทุนมากขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าปัจจุบันฐานนักลงทุนยังกว้างอยู่ และมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีก เพียงแต่ต้องมีหลักการว่าจะไม่แข่งขันมากจนเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องของบุคลากรที่จะต้องมีการเคารพกฎเกณฑ์ที่มีอยู่

"การมีโบรกเกอร์ใหม่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องดี ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น เหมือนไปเยาวราชที่มีร้านทองให้เลือกหลายร้าน"

นายกสมาคมฯยันคุยกันได้พับแผนผลตอบแทนมาร์เกตติ้ง

ด้านนายสุเทพ พีตกานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) (CNS) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า การมีโบรกเกอร์ใหม่เกิดขึ้น คาดว่าจะไม่ส่งกระทบต่อระบบมากนัก เนื่องจากก่อนที่จะเข้ามาทำธุรกิจก็จะต้องมีการสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมฯ และต้องมาพูดคุยกันในเรื่องของกฎกติกาของการประกอบธุรกิจอยู่แล้ว และมั่นใจว่าผู้ที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้น่าจะมีความคิดที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนาตลาดทุนมากกว่า

"เรื่องปัญหาบุคลากร คิดว่าคุยกันได้ เพราะเข้ามาก็ต้องมาเป็นสมาชิกสมาคมก่อน และเราก็มีกติกามารยาทที่ชัดเจน คิดว่าไม่มีปัญหา"

สำหรับประเด็นการลดผลตอบแทนมาร์เกตติ้งนั้น นายสุเทพกล่าวว่า กระแสข่าวที่ออกมาน่าจะเป็นเพียงข่าวลือ เพราะสมาคมยังไม่ มีการหารือกันในเรื่องดังกล่าว ซึ่งยังคงใช้อัตราเดิมคือ 27.5% โดยในขณะนี้ขอเน้นในเรื่องของการเพิ่มมาตรฐานตามแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับโบรกเกอร์ในการดูแลลูกค้า ที่ก่อนหน้านี้สมาคมเคยเสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และปัจจุบันได้ให้มาร์เกตติ้งทั้งหมดเซ็นรับทราบแล้ว ส่งผลให้สำนักงาน ก.ล.ต.สามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานได้

ทั้งนี้ แนวทางการปฏิบัติงานในการดูแลลูกค้าที่สมาคมฯ ส่งให้สำนักงาน ก.ล.ต.ประกอบด้วยเรื่องดังต่อไปนี้

1.เจ้าหน้าที่การตลาดควรให้คำแนะนำลูก ค้าเฉพาะหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ตนสังกัดได้ จัดทำบทวิเคราะห์ กรณีที่ลูกค้าต้องการ ได้รับคำแนะนำหรือขอความเห็นเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ที่บริษัทหลักทรัพย์ไม่ได้จัดทำบทวิเคราะห์ เจ้าหน้าที่การตลาดจะให้ข้อมูลหรือความเห็นได้ ก็ต้องระบุชัดเจนว่า เป็นความเห็นส่วนตัว มิใช่จากการวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์

2.เจ้าหน้าที่การตลาดต้องไม่เผยแพร่หรือบอกต่อข่าวลือ และต้องตรวจสอบข่าวหรือข้อมูล นั้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะแจ้งต่อลูกค้าหรือบุคคลอื่น และกรณีที่ลูกค้าสอบถามเกี่ยวกับเรื่อง ดังกล่าว เจ้าหน้าที่การตลาดควรแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าเป็นข่าวหรือข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืน ยันข้อเท็จจริง และควรเตือนให้ลูกค้าใช้ความระมัดระวัง หากจะซื้อขายโดยใช้ข่าวลือดังกล่าว

3.เจ้าหน้าที่การตลาดต้องไม่ชักชวนหรือให้ คำแนะนำในลักษณะที่เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อ ขายหลักทรัพย์บ่อยครั้ง เพื่อหวังผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์

4.เจ้าหน้าที่การตลาดต้องไม่เปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นแก่ลูกค้าหรือใช้เพื่อชี้นำลูกค้า

5.เจ้าหน้าที่การตลาดต้องไม่รับส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอันไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาด (false market) และควรรีบหารือกับผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อหามาตรการในการติดตามหรือยับยั้งพฤติกรรมดังกล่าว

6.บริษัทหลักทรัพย์จะต้องมีระบบการติด ตามและตรวจสอบในเรื่องการปฏิบัติตามแนวทาง นี้ รวมทั้งต้องทำการวิเคราะห์บัญชีซื้อขายหุ้นของ ลูกค้าแต่ละคน เพื่อสังเกตรายที่ซื้อขายบ่อยในลักษณะที่ผิดปกติ และรายที่ขาดทุนต่อเนื่อง ฯลฯ เพื่อประเมินความเหมาะสมของคำแนะนำที่ลูกค้าได้รับ

ตลท.เผยมาร์เกตติ้งใหม่เพิ่มสวนทางการเคลื่อนย้ายลดลง

ด้านนายสุภกิจ จิระประดิษฐ์กุล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนมาร์เกตติ้งในระบบถือว่าเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยในปี 2545 มีจำนวนมาร์เกตติ้งเพียง 2,900 คน และเพิ่มขึ้นมาเป็น 3,800 คนในปี 2546 ส่วนไตรมาส 1/47 ที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4,300 คน และล่าสุดเดือนพ.ค. มาร์เกตติ้งทั้งระบบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4,500 คน

ในขณะที่อัตราการเคลื่อนย้ายปรับตัวลดลง โดยในปี 2545 มีการเคลื่อนย้ายสูง และเริ่มลดลงในปี 2546 หลังจากตลาดหลักทรัพย์ได้ออกเกณฑ์การย้ายค่ายของมาร์เกตติ้ง โดยในครึ่งปีแรกปี 2546 มีมาร์เกตติ้งที่เคลื่อนย้ายจำนวน 310 คน ส่วนครึ่งปีหลังการเคลื่อนย้ายลดลงเหลือ 93 คน และล่าสุดในไตรมาส 1/47 มีการเคลื่อนย้ายเพียง 38 คน เท่านั้น

นายสุภกิจกล่าวว่า จากการเก็บตัวเลขดังกล่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ แสดงให้เห็นว่ามีการสร้างมาร์เกตติ้งใหม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการเคลื่อนย้ายน้อยลง ดังนั้น ถือว่าสถานการณ์ เริ่มดีขึ้นและไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง โดยมาร์เกตติ้งที่มีการเคลื่อนย้ายนั้นส่วนใหญ่เป็นของโบรกเกอร์ ที่เน้นลูกค้ารายย่อย ซึ่งลูกค้ามักจะติดกับมาร์เกตติ้ง ส่วนโบรกเกอร์ที่เน้นลูกค้าสถาบันจะไม่ค่อยมีปัญหาดังกล่าว เนื่องจากลูกค้าจะติดกับบริษัทมากกว่ามาร์เกตติ้ง

ก.ล.ต.ฟันมาร์เกตติ้งแหกคอก 6 ราย

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่การตลาดจำนวน 6 ราย ได้แก่

นางกัญญ์วรา ทองกระจาย กระทำความผิดปลอมลายเซ็นลูกค้า ในเอกสารการเปิดบัญชี บัตรตัวอย่างลายมือชื่อ ที่อยู่ในการจัดส่งเอกสาร และจัดทำเอกสารการโอนหลักทรัพย์ ใบยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์เอง และนำค่าซื้อหลักทรัพย์ของลูกค้า ไปจ่ายให้ลูกค้ารายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อยักยอกหลักทรัพย์ของลูกค้า ไปขายในบัญชี ของลูกค้ารายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงสั่งเพิกถอน การขึ้นทะเบียน การเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไป

นางอักษรศรี มาถาวร กระทำความผิดดำเนินการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ เพื่อบุคคลอื่น โดยใช้บัญชีของลูกค้า ดังนั้ง จึงสั่งภาคทัณฑ์การปฏิบัติงาน เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547

นายประโยชน์ สัมฤทธิ์สาครสิน กระทำความผิดเบียดบัง หรือแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ โดยมิชอบจาการปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงสั่งเพิกถอน การขึ้นทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2547 เป็น ต้นไป

นางสาวนภารัตน์ ปาปะโน กระทำความผิด รับมอบอำนาจจากลูกค้า ในการดำเนินการเกี่ยวกับ การซื้อขายหลักทรัพย์ นอกเหนือจากหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย จากบริษัทหลักทรัพย์ ดังนั้นจึงสั่งภาคทัณฑ์ เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2547

นายพุฒิพงศ์ กุศลาภิรมย์ กระทำความผิดใช้บัญชีของลูกค้ารายอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อเกินวงเงิน ของลูกค้าอีกรายหนึ่ง ดังนั้นจึงสั่งภาคทัณฑ์เจ้าหน้าที่การตลาด เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2547

นายธนา สินธนาภัทร กระทำความผิดแจ้ง ข่าวลือ ประกอบการให้คำแนะนำ ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำที่ขาดหลักวิชา ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักทรัพย์ และเป็นการขาดความระมัด ระวังเอาใจใส่ ในการเตรียมคำแนะนำ ดังนั้นจึงสั่งภาค ทัณฑ์ เจ้าหน้าที่การตลาด เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2547



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.