กลุ่มบี. กริม รุกคืบสร้างโรง spp phase 2


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

สร้างโรง SPP Phase 2 โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 ได้มีการก่อสร้าง เสร็จและจำหน่ายกระแสไฟฟ้ากันบ้างแล้ว ส่วนมากเป็นโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กหรือ Small Power Producer : SPP ซึ่งผู้ผลิตจะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ (MW) ส่วนไฟฟ้าที่เหลือสามารถขายให้ผู้บริโภคที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้โดยตรง กำลังการผลิตของ SPP เหล่านี้อยู่ในระดับ 120-150 MW

กลุ่มบี.กริม (B.Grimm) ซึ่งเป็นกิจการค้า (trading firm) ต่างชาติสัญชาติเยอรมันที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนานมากแล้ว ผู้บริหารปัจจุบันคือมร.ฮาราลด์ ลิงค์ นั้นถือได้ ว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูลลิงค์ที่บรรพบุรุษรุ่นแรกได้เข้ามาบุกเบิกขุดคูคลองในโครงการชลประทานรังสิต ตั้งแต่ช่วงปี 2440 ปัจจุบันกลุ่มบี.กริมมีบทบาทการลงทุนในธุรกิจด้านสื่อสารและโทรคมนาคม พลังงาน งานติดตั้งระบบและการขนส่ง บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกิจการในประเทศเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และมีการชักนำเข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุนในกิจการต่างๆ ในไทยเรื่อยมา เช่น กลุ่มซีเมนส์, Electro-watt, Bayernwerk, KfW, Energie Baden Wuerttemberg เป็นต้น

ในการลงทุนด้านการพลังงานคือการผลิตไฟฟ้านั้น กลุ่มบี.กริมได้ชัก นำผู้ร่วมทุนหลายรายเข้ามาร่วมกันก่อตั้งบริษัท อมตะ เพาเวอร์ จำกัด ใช้เป็นบริษัทโฮลดิ้งเพื่อไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าหลายแห่ง (ดูตารางโครงสร้างบริษัท อมตะ-เพาเวอร์ จำกัด) ซึ่งโครงการลงทุนแต่ละโรงจะมีบริษัทขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโรงละแห่ง

โครงการที่เพิ่งเปิดดำเนินการผลิตไฟฟ้าล่าสุดคือโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอมตะ-เอ็กโก เพาเวอร์ เป็นโรงไฟฟ้าชนิดโคเจนเนอเรชั่น มีกำลังการผลิต 165 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 28 ตันต่อชั่วโมง โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท โดยมีเงินกู้ระยะยาวจากสถาบัน Kreditanstalt fur Wieder-aufbau (KfW) จำนวน 100 ล้านเหรียญ และเงินกู้ที่เป็นเงินบาทระยะยาวและระยะสั้นจากธนาคารกรุงเทพ จำนวน 800 ล้านบาท

โรงไฟฟ้าฯ นี้ใช้เครื่องกังหันก๊าซ ขนาด 56 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องกังหันไอน้ำขนาด 53 เมกะวัตต์ 1 เครื่อง โดยบริษัท ซีเมนส์ เอจี จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นผู้ดำเนินการด้านการออกแบบ จัดหาเครื่องจักรและการก่อสร้างทั้งหมด โรงไฟฟ้าแห่งนี้จำหน่ายไฟให้กฟผ. 90 เมกะ วัตต์ ส่วนกำลังผลิตที่เหลือและไอน้ำจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม อมตะนครกว่า 40 ราย

มร.ลิงค์กล่าวว่า "ตอนนี้โรงไฟฟ้าอมตะ-เอ็กโก เพาเวอร์ผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ 130 เมกะวัตต์ เพราะรอลูกค้าอยู่ประมาณ 28 ราย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะผลิตไฟฟ้าได้ครบ 165 เมกะ วัตต์ ซึ่งจะสร้างรายได้ประมาณเดือนละ 150-160 ล้านบาท"

นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าอมตะ-เอ็กโก เพาเวอร์แล้ว อมตะ เพาเวอร์ยังมีโครงการลงทุนอีกหลายโรงทั้งในและนอกประเทศกล่าวคือ

-โครงการอมตะ เพาเวอร์ (บางปะกง) ซึ่งเป็น Phase 2 ต่อจากโครงการอมตะ-เอ็กโก เพาเวอร์ มีขนาด 110 เมกะวัตต์ ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อยู่ระหว่างดำเนินงานด้านวิศวกรรม โดยเป็นโครงการ SPP จำหน่ายไฟให้กฟผ. 90 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่เหลือขายให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2544 โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท โดย อยู่ระหว่างการขอความสนับสนุนเงินกู้จาก KfW จำนวน 60 ล้านเหรียญฯ และธนาคารกรุงเทพอีก 660 ล้านบาท

มร.ลิงค์กล่าวถึงโครงการในเฟส 2 ว่า "เมื่อตอนที่เศรษฐกิจกำลังดีนั้น ผมจะทำ 160 เมกะวัตต์ แต่เศรษฐกิจไม่ดีเลยทำแค่ 110 เมกะวัตต์ แต่มาตอนนี้เริ่มคิดว่าจะสร้างเฟส 3 ต่ออีก"

เขายอมรับด้วยว่ามีความสนใจขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างมาก แต่การที่จะไปซื้อโรงไฟฟ้าอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือก่อสร้างเสร็จแล้วนั้น ต้องพิจารณาหลายเรื่อง "หากทำแบบ monopoly ได้ก็จะทำ เพราะเรามีทีมงานดี ผู้ร่วมทุนก็ดี หากทำเองจะดีกว่าไปซื้อโรงที่ทำสำเร็จแล้ว เพราะต้องเสียค่าพรีเมียมแพง เราสนใจแต่โรงที่ใช้ก๊าซธรรม ชาติเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้นเราจึงต้องลงทุนในบริเวณที่มีท่อก๊าซผ่าน" เมื่อถามความสนใจเรื่องโรงไฟฟ้าระยอง มร. ลิงค์กล่าวว่า "ใหญ่เกินไป ต้องยักษ์ใหญ่ แบบ EGCO จึงจะเข้าได้"

-โครงการอมตะ เพาเวอร์ (ระยอง) ขนาด 8 เมกะวัตต์ และ ไอน้ำขนาด 30 ตันต่อชั่วโมง ณ นิคมอุตสาห-กรรมอมตะซิตี้ระยอง ซึ่งกำลังดำเนินการจะแล้วเสร็จปลายปี 2542 มูลค่าเงิน ลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท

-โครงการอมตะ เพาเวอร์ (เบียนหัว) กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 20 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 1 ของโรงไฟฟ้าขนาด 120 เมกะวัตต์ ณ อมตะซิตี้ เวียดนาม ซึ่งบริษัทได้ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรชุดแรกขนาด 6.4 เมกะวัตต์แล้วเสร็จ และจำหน่ายไฟให้แก่ลูกค้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

รวมแล้วบริษัทฯ มีโครงการลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้า 4 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 403 เมกะวัตต์ โดยตอนนี้ผลิตได้ 171.4 เมกะวัตต์ (นับโครงการอมตะ-เอ็กโก เพาเวอร์ และโครงการอมตะ เพาเวอร์(เบียนหัว) รวมรายได้จากไฟฟ้าและไอน้ำที่ผลิตได้ตอนนี้มีประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี

ถือได้ว่ากลุ่มบี.กริมเล็งการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคนิคมอุตสาหกรรมเป็นด้านหลัก ก่อนหน้านี้ กลุ่มฯ เคยยื่นประมูลเพื่อเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระในโครงการ IPP แต่ไม่ได้รับเลือก อย่างไรก็ดี การทำโครงการ SPP กลายเป็นผลดี เพราะกลุ่มสามารถดำเนินการได้ง่ายกว่า ด้วย งบการลงทุนต่ำกว่าโครงการ IPP ที่ตอน นี้เพิ่งสำเร็จไปเพียงโครงการเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.