เกษมเตือนระวังไฟขาดกฟผ.ดินหนีต้นทุนเพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(11 มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"เกษม จาติกวณิช" หวั่นปัญหาไฟขาด แนะ กฟผ.ดูแลเป็นเรื่องหลัก หนุนผลิตไฟส่วนหนึ่งเพื่อความมั่นคง ให้กล้าคิด กล้าทำ และกล้าถอยในสิ่งที่ถูกต้องเหมือนที่นายกฯถอยเรื่องหงส์แดง ด้าน "กฟผ." ดิ้นทุกทาง ลดภาระแบกค่าไฟยื่นหนังสือถึงหมอมิ้งเปิดประมูลน้ำมันเตา 100% พร้อมเพิ่มกำมะถัน ฟิกซ์ราคาก๊าซฯหวังเบรกค่าไฟ ต.ค.ที่จ่อ ขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วยให้ขึ้นน้อยสุด ด้านบิ๊กปตท.หนุนให้ใช้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูงขึ้นเพื่อลดต้นทุน

วานนี้ (10 มิ.ย.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้จัดเสวนา "PDP-2004 เส้นทางสู่อนาคตกฟผ." นายเกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่าฯกฟผ. นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ รักษาการผู้ว่าฯกฟผ. นายแล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการกฟผ. และนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานกฟผ.(สร.กฟผ.) โดยมีนายอดิศักดิ์ ศรีสม เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายเกษม จาติกวณิช อดีตผู้ว่าฯกฟผ.กล่าวว่า ในเมื่อกฟผ.ทำหน้าที่ดีอยู่แล้วในการผลิตไฟตั้งแต่อดีตจนมีวันนี้ รัฐบาลก็ไม่ควรจะไปทำอะไรให้บิดเบือน และมาที่กฟผ.ครั้งนี้ต้องการมาฝากเพราะเป็นห่วงเรื่องปัญหาไฟฟ้าขาดเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ที่กลับมาเติบโตมากขึ้นอาจรองรับไม่ทัน ซึ่ง กฟผ.เองก็ควรจะมีหน้าที่สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งตามแผน PDP ฉบับใหม่ผลิต 50% ก็ถือว่ามีความเหมาะสม

"กฟผ.ควรจะสร้างเองทั้งหมดด้วยซ้ำไปก็ได้ แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องเงินที่อาจเป็นภาระมากก็ให้เอกชน ทำอยู่แล้ววันนี้ เวลานี้อย่ามัวมาเกี่ยงกัน อย่าห่วงกำไร ขาดทุน เราต้องห่วงว่าไม่มีไฟ พยายามอย่าให้ไฟขาด เลยตั้งใจมาขอ อย่ามัวมาทะเลาะกันอยู่"

นายเกษมได้ยกตัวอย่างของการสร้างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ของกฟผ.ในอดีตที่มีผู้ต่อต้านมากมายแต่ด้วยความกล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องและยึดผลประโยชน์ภาพรวมทำให้วันนี้ทั้งสองเขื่อนไม่มีภาระหนี้ ดังนั้น ผู้บริหารกฟผ.ต้องกล้าคิด กล้าทำ ตรงกันข้ามในอดีตนั้นมีปัญหาเรื่องน้ำมันแพงมากหลายประเทศหันไปผลิตไฟฟ้าปรมาณู

"กฟผ.เองก็คิดเช่นกันแต่ไม่ได้ทำ บังเอิญโรงไฟฟ้าที่ต่างประเทศเกิดปัญหาต้นทุนสูงและเกิดระเบิดขึ้นที่รัสเซียทำให้ต้องพับแผนไว้ก่อน นี่ก็คือ หากมีเหตุการณ์อะไรที่จะทำให้ต้องทบทวนก็ต้องกล้าที่จะถอยด้วย เหมือนกับที่นายกรัฐมนตรีเองท่านก็กล้าที่จะคิดและกล้าที่จะถอยในเรื่องของ ลิเวอร์พูล"

นายเกษมกล่าวว่า กฟผ.ควรจะเป็นองค์กรเพื่อรับใช้ประชาชน ส่วนกรณีการตรึงค่าไฟฟ้าหากกฟผ.ตรึงได้หมดทั้งที่เชื้อเพลิงขึ้นไปแล้วคงจะต้องเชิญให้ผู้ว่าฯกฟผ.ไปเป็นผู้ว่าฯไฟฟ้าโลก การบริหาร งานต้องมองภาพรวมและให้สะท้อนความเป็นจริง

กฟผ.ดิ้น เร่งแผนผลิต-ลดต้นทุน

นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ รักษาการผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าตามแผนให้แล้วเสร็จเพื่อไม่ให้ไฟขาดอย่างแน่นอน และเมื่อเร็วๆ นี้ กฟผ.ได้ยื่นหนังสือถึง น.พ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้มีการพิจารณาเปิดประกวดราคารับซื้อน้ำมันเตาจากภาคเอกชนทั้ง 100% เพื่อให้มีการแข่งขันทางด้านราคาของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะสะท้อนทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ประมาณ 80% ของปริมาณการรับซื้อน้ำมันเตาทั้งหมดจะมาจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่วนอีก 20% จึงจะเป็นการเปิดประมูลจากผู้ผลิตอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้มีราคาที่ถูกกว่าราว 300 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม จากการเจรจาร่วมกับบริษัท ปตท. บริษัท บางจาก ไทยออยล์ และกรมควบคุมมลพิษ ในแนวทางการตรึงราคาค่าไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลนั้น กฟผ.ยังได้เสนอเพิ่มปริมาณกำมะถันในน้ำมันเตาสำหรับการผลิตในโรงไฟฟ้าบางโรง เช่น บางปะกงจาก 0.5% เป็น 2% เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการให้ตั้งเพดานราคาก๊าซไว้เพื่อ ไม่ให้ราคาแกว่งตัวเหมือนกับก๊าซที่ลานกระบือที่ฟิกซ์ ราคาไว้

นอกจากนี้ เสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟ โดยอาจกำหนดให้เป็นนโยบายของรัฐในการใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี ในโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 4 โรง ขนาด 700 เมกะวัตต์ได้ เพื่อให้สามารถมีทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิงสำหรับในอนาคต เนื่องจากมีราคาถูก โดยปัจจุบันการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 17% ของกำลังการผลิตทั้งหมดรองจากก๊าชธรรมชาติ

ย้ำค่าไฟรอบ ต.ค.จ่อขึ้น 10 สต.

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า กฟผ.ต้องแบกภาระตรึงค่าไฟตามนโยบายของรัฐในรอบเดือนมิ.ย.-ก.ย. นี้ 1 สตางค์ต่อหน่วย หรือรับภาระ 100 ล้านบาทต่อ เดือน แต่ในรอบต.ค.47-ม.ค.48 กฟผ.เองคงแบกภาระไม่ได้เพราะจะต้องแบกถึงเดือนละ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาค่าก๊าซและต้นทุนได้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อรวมกับงวดนี้แล้วคงจะต้องปรับเป็น 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งหากข้อเสนอของกฟผ.ได้รับความร่วมมือภาระที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้นในครั้งต่อไปก็อาจจะลดลงได้บ้าง

ปตท.หนุนใช้น้ำมันเตากำมะถันสูง

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.นั้น คือ การหันมาใช้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูงขึ้นจาก 0.5% เป็น 2% เพราะมีราคาถูกกว่าลิตรละ 1.50 บาท หรือทำให้ลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ถึงเดือนละ 2 พันล้านบาท คิดเป็นปีละ 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นศึกษาถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม คงต้องรอผล สรุปจากกระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ เพราะหากทำไม่สำเร็จประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับภาระนี้ไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ปตท.พยายามเร่งปรับปรุงท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 1 และ 2 เพื่อให้มีปริมาณก๊าซฯป้อน กฟผ.มากยิ่งขึ้น โดยจะส่งก๊าซฯป้อนให้กฟผ.เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.7 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 1.9 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งพยายาม ลดการขายก๊าซฯให้บางโรงกลั่น หรือยินยอมให้บริษัท ในเครือหยุดบำรุงรักษาเพื่อให้มีก๊าซฯป้อนกฟผ. มากยิ่งขึ้น ทำให้กฟผ.ลดการใช้น้ำมันเตาลง เพราะน้ำมัน เตาเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนสูงกว่าก๊าซฯถึงลิตรละ 2 บาท และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น

"วันนี้พูดถึงก๊าซฯไม่พอ ไฟฟ้าไม่พอ ไม่ใช่ความผิดพลาดในการประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าของกฟผ.หรือการส่งก๊าซฯไม่ทันของปตท. แต่เนื่องจากเศรษฐกิจเราดีเกินคาดไว้ ทำให้โรงไฟฟ้าต้องหันมาใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะความ ต้องการใช้ไฟในประเทศเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งนับจากนี้ไปจนถึงปี 2549 จะไม่เกิดโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เข้าระบบ ทำให้ต้องใช้โรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพเข้าไปเสริม" นายประเสริฐ กล่าว

ส่วนกรณีที่กฟผ.ระบุว่าปตท.ขายน้ำมันเตาในราคาที่สูงนั้น ปตท.ยืนยันว่า ราคาน้ำมันเตาที่ปตท. ขายให้ กฟผ.ถือว่าเป็นราคาที่สอดคล้องกับตลาดโลก และเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย การที่ กฟผ.ประมูลซื้อน้ำมันเตาราคาถูกได้ เพราะในช่วงนั้นเป็นช่วงราคา น้ำมันถูก อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ไม่เกิดผลในการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ได้ เพราะการเจรจาขอลดราคาน้ำมันเตาลงลิตรละ 1 สตางค์ เป็นประเด็นเล็กเมื่อเทียบกับผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากกระแสไฟฟ้าดับ 1-2 วัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.