"บัณฑูร-ประสาร" ประสานเสียงดอกเบี้ยยังไม่ปรับขึ้นแน่ เหตุสภาพคล่องในระบบยังล้น
เงินออมเพิ่มมากกว่าการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง แต่ต้องระวังความเสี่ยงจากน้ำมันราคาแพงที่จะขยายวงกว้างกระทบทั่วโลก ย้ำเป้าหมายสินเชื่อ "กสิกรไทย"
คงเดิม 4-5% ด้านนายกรัฐมนตรี กังวลตัวเลข "จีดีพี" ที่แตกต่างของแต่ละหน่วยงาน
ส่วนคลังเร่งสรุปกรอบความยั่งยืนทางการคลัง 5 ปี ภายในเดือน ก.ค.นี้
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มการเคลื่อนไหวของทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยจะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังคงล้นระบบอยู่มาก แม้ธนาคารพาณิชย์จะมีปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
แต่ขณะเดียวกัน ได้มีเงินออมจากประชาชนเข้ามาเช่นกัน รวมทั้งเม็ดเงินภายในประเทศเองก็ไม่สามารถไหลออกนอกประเทศได้
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่มีแรงกดดันจากปัจจัยใดๆ
ที่จะผลักดันให้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในระยะนี้ แต่อัตราดอกเบี้ยระยะยาว
3-5 ปี จะอยู่ในช่วงขาขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้เป็นการเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต้นทุนที่ระดับราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
ไม่ได้มาจากปัจจัยการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงแต่อย่างใด หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้ก็ไม่สามารถช่วยให้เงินเฟ้อลดลงเพราะราคาน้ำมันไม่ได้ลดลงด้วย
"หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% แล้ว ไทยยังไม่ปรับตามก็จะกระทบกับไทยมากหน่อย
เนื่องจากช่องว่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป สภาพคล่องก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่หากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง
0.25% ก็คงไม่กระทบกับประเทศไทยมากนักเพราะสามารถช่วยควบคุมการไหลเข้าออกของเงินได้ดีขึ้น"
เตือนภัย "ราคาน้ำมัน" ปัจจัยเสี่ยง
พร้อมกันนี้ นายบัณฑูร ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของไทยว่า ภาวะเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แต่ต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
และมีทีท่าจะคงอยู่ในระดับสูงอีกนาน
"ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมัน ทำให้ภาครัฐปรับเป้าหมายเศรษฐกิจลงบ้าง
ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนเอกชนเองถึงแม้ว่าจะมีการเติบโตของธุรกิจบ้าง แต่ก็ต้องระมัดระวัง
เพราะต้นทุนการดำเนินธุรกิจเริ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันเราต้องร่วมมือกันประหยัดพลังงาน
เพื่อป้องกันตัวเองให้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันน้อยที่สุด" นายบัณฑูร กล่าว
กสิกรไทยคงเป้าสินเชื่อ 4-5%
ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยนั้น คงต้องดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งเป้าหมายและกลยุทธ์ต่างๆ
ยังยืนยันที่ใช้ตัวเลขเดิม โดยมีเป้าหมายขยายสินเชื่อประมาณ 4-5% ตามภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนในด้านการทำงานอาจจะต้องยากมากยิ่งขึ้น ปรับปรุงกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อเข้าถึงเป้าหมายให้ได้
ในขณะเดียวกันต้องดูแลลูกค้าให้สามารถดำเนินธุรกิจเติบโตควบคู่กับธนาคารอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ธนาคารอยู่ในขั้นตอนพิจารณาขยายช่องทางดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเช่าซื้อ
หรือลีสซิ่ง ซึ่งธนาคารสนใจจะเข้าไปซื้อธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้วหากมีราคาที่เหมาะสม
หรืออาจเป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจ
นายกฯ กังวัลตัวเลขจีดีพีแตกต่าง
ด้านนายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วานนี้ (8 มิ.ย.)
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) ได้รายงานตัวเลขเศรษฐกิจของไทยให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง
แต่ยอมรับว่าจีดีพีในปี 2547 ยังสามารถขยายตัวได้ในอัตราที่ 7%
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีกหลายคน ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการประกาศออกมาไม่ตรงกัน จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระมัดระวังและทำข้อมูลให้ตรงกันมากขึ้น
เร่งตีกรอบความยั่งยืนการคลัง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกรณีที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(สศค.) อยู่ที่ 7.5% และสศช. 6.5% ว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพราะเป็นการมองคนละด้าน
โดย สศค. มองในแง่ของปริมาณผลผลิตที่ออกมาแล้ว หรือด้านซัปพลายไซด์ ขณะที่ สศช.มองในแง่ของปริมาณความต้องการบริโภค
หรือ ด้านดีมานด์ไซด์ ดังนั้นเมื่อภาคเกษตร อาทิ อ้อย ยางพารา และไก่ส่งออกมีปัญหา
ตัวเลข สศช.จึงออกมาต่ำกว่าเล็กน้อย
พร้อมกันนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลังพยายามดูแลฐานะการคลังอย่างดีที่สุด โดยที่ผ่านมา
ได้มอบหมายให้คณะทำงานประเมินภาวะเศรษฐกิจไปร่วมกันพิจารณากรอบความยั่งยืนทางการคลัง
5 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2552 เพิ่มเติม โดยให้ดูดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญทุกตัว
เพื่อเป็นกรอบให้เศรษฐกิจเดินไปในทิศทางที่วางไว้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณต้นเดือนกรกฎาคม
2547 นี้
กำลังการผลิตใกล้เต็ม 100%
นายประสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะยังขยายตัวได้ถึง
7% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้เนื่องจากภาคการส่งออกของประเทศยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย
และการบริโภคในประเทศยังอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจัยอื่นที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวยังมีเรื่องการลงทุนของภาครัฐที่จะมีการสร้างระบบสาธารณูปโภคอีกมาก
การบริโภคเติบโตดี กำลังการผลิตที่ใกล้เต็ม 100% โดยในปัจจุบันสูงถึงระดับ 80%
แล้ว ภาคเอกชนคงมีการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต แต่ทั้งนี้ต้องดูในแต่ละภาคการผลิตด้วยเพราะกำลังการผลิตไม่ได้ใกล้เต็มที่
100% ทุกภาคการผลิต
"ประสาร" ยันธุรกิจแบงก์ไม่เข้าข่ายผูกขาด
สำหรับกรณีที่คณะทำงานวิชาการด้านแข่งขันทางการค้า ที่ได้เห็นชอบในหลักเกณฑ์การรวมธุรกิจ
ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ว่า ด้วยการห้ามมิให้ผู้ประกอบการ
ธุรกิจ กระทำการรวมธุรกิจ อันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือไม่เป็นธรรมในการแข่งขันนั้น
นายประสารกล่าวว่า ในภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีธนาคารใดที่เข้าข่ายเกณฑ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อมองจากปริมาณการปล่อยสินเชื่อ ทั้งระบบที่อยู่ในระดับ 5 ล้านล้านบาท
นั้น โดยที่ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ ซึ่งปล่อยสินเชื่อมากที่สุดในระบบ
ซึ่งแต่และธนาคารก็ยังมีส่วนแบ่งการครองตลาดไม่ถึง 20% โดยธนาคารกรุงไทย มีสินเชื่อประมาณ
9 แสนล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ 8 แสนล้านบาท สำหรับธนาคารกสิกรไทย มียอดสินเชื่ออยู่ที่
ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งการแข่งขันนั้นสูงอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่า เข้าข่ายการผูกขาดทางการตลาดแต่อย่างใด
ส่วนแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Master Plan) นั้นก็เป็นประเด็นที่น่าคิด
เพราะนโยบายดังกล่าวต้องการให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์กลับกลัวว่าจะเป็นการผูกขาดทาง
การตลาด