ทศทประชุมเครียดโทร.5แสนหากยึดทีโออาร์เข้มตกกว่าครึ่ง


ผู้จัดการรายวัน(8 มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

กรรมการเปิดซองโครงการ 5.6 แสนเลขหมายประชุมเครียด ก่อนถึงกำหนดเส้นตายประกาศผลพาณิชย์ในการประชุมบอร์ดทศท 9 มิ.ย.นี้ พบผลงานเรื่องการวางข่ายสายมีปัญหา แถมการส่งมอบอุปกรณ์ไม่ครบ ซึ่งหากปฏิบัติตามทีโออาร์อย่างเคร่งครัดคาดมีคนตกรอบแรกกว่าครึ่ง

แหล่งข่าวจากบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงโครงการโทรศัพท์ 5.6 แสนเลขหมายว่า เส้นตายที่ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มอบให้บอร์ด ทศท ประกาศผู้ที่ผ่านเงื่อนไขด้านพาณิชย์ในวันที่ 9 มิ.ย.นั้น นอกจากกลุ่มทราฟฟิก คอร์นเนอร์ ที่ไม่พบหลักประกันซองซึ่งหมายถึงว่าไม่ผ่านเงื่อนไขด้านพาณิชย์แล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 4-5 บริษัท ที่ไม่ผ่านเงื่อนไขด้านพาณิชย์หากกรรมการเปิดซองปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกวดราคา หรือทีโออาร์อย่างเคร่งครัด

"จากการประชุมกรรมการเปิดซองเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะต้องมีการตีความกันอีกว่า จากที่ระบุผลงานเรื่องการวางข่ายสาย 300 ล้านบาทต่อ 1 สัญญาตามทีโออาร์ แต่ปรากฏว่ามีเอกชนอย่างเอเอส แอสโซซิเอทส์ กับ W&W มีผลงานครบถ้วน 300 ล้านแต่ไม่ใช่ 1 สัญญา จะถือว่าผิดทีโออาร์ด้านพาณิชย์อีกหรือไม่"

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการส่งอุปกรณ์ตัวอย่างเพื่อการทดสอบ เนื่องจากนายมนตรี วชิรเขื่อนขันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในฐานะ ประธานกรรมการเปิดซอง แสดงท่าทีชัดเจนว่าหากส่งอุปกรณ์หลักแล้วส่วนที่เหลือค่อยนำมาส่งภายหลังก็ได้ รวมทั้งยังให้เหตุผลว่าในการขนส่งอาจมีอุปกรณ์ชำรุดเสียหาย ยินยอมให้นำมาเปลี่ยนใหม่ได้ และย้ำว่าอยู่ที่วิจารณญาณของกรรมการเปิดซองว่าสามารถรับอุปกรณ์เพิ่มได้

ทั้งๆ ที่ตามทีโออาร์เรื่องอุปกรณ์ตัวอย่างที่ต้องส่งมอบเพื่อตรวจสอบ (แก้ไขเพิ่มเติม1) กำหนด ว่า 1.อุปกรณ์ Access Node 1 Set ขนาดใดก็ได้ตามที่เสนอใน Proposal โดยเสนอให้ Complet Set ประกอบด้วย Unit/Card ต่างๆ ครบถ้วนตามที่มีหรือกำหนดใน Proposal นอกจากนี้ยังต้องมีอุปกรณ์ประกอบอื่นๆที่ต้องใช้ร่วมทดสอบ เช่น Local craft terminal พร้อมซอฟต์แวร์, NTU ชนิดต่างๆตามที่เสนอ, สาย patch cord และอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเชื่อมโยงเพื่อให้ระบบทำงานได้ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวต้องส่งมอบภายใน 10 วันทำการนับจากวันที่ยื่นเอกสารประกวดราคา

ส่วนอุปกรณ์ที่ต้องยื่นพร้อมเอกสารประกวดราคา เช่น Closure สำหรับ OFC ทุกชนิดที่เสนอ อย่างละ 1 ตัวอย่าง ,Optical Connector 5 ตัวอย่าง ฯลฯ

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากพิจารณาตามทีโออาร์เรื่องการส่งอุปกรณ์เพื่อทดสอบจะเห็นได้ว่าครบระยะเวลาตามที่ระบุไว้แล้วไม่ว่าอุปกรณ์ใดๆ ก็ตาม แต่ปรากฏว่า บริษัท ไทยมาร์ก โซลูชั่น ที่ใช้อุปกรณ์ Opnet ของไต้หวัน ส่งอุปกรณ์ Access Node ไม่ครบขาดสิ่งที่เรียกว่า Card ซึ่งถือเป็นหัวใจของอุปกรณ์ Access Node ในการกำหนดแอปพลิเคชันการใช้งานต่างๆ รวมทั้งการกำหนดเลขหมาย เนื่องจาก Card เดิมที่ Opnet มีอยู่ไม่กันความร้อนเพียงพอในการทดสอบ ทำให้ต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่เพื่อให้ผ่านการทดสอบ เพียงแต่ไม่สามารถพัฒนาทันการส่งมอบอุปกรณ์ในการประกวดราคาครั้งนี้

"มีกรรมการเปิดซองบางคนเดินทางไปไต้หวันโดย Opnet เป็นสปอนเซอร์ในช่วงประมูล 5.6 แสนเลขหมายด้วยซ้ำ ซึ่งพ่อค้าตัวแทน Opnet ในไทยถึงกับป่าวประกาศให้ได้ยินทั่วสำนักงานใหญ่ ทศทแจ้งวัฒนะว่า มีผู้บริหารระดับสูงพร้อมเอา Card มาให้ไม่เป็นปัญหา"

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่บริษัท มารูเบนนี (ประเทศไทย) ส่ง Closure เพียงชุดเดียว อีกชุดที่ส่งเปิด ออกมากลายเป็นแบตเตอรี่ ส่วนเรื่องเงื่อนไขพาณิชย์ก็ยังมีเรื่องหลักประกันซองของอัลคาเทลไม่ได้รับผิดชอบคลุมทั้งกลุ่มคอนซอร์เตี้ยม และกลุ่มยูเทล ยื่นหลักประกันซองไว้ในซองราคา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.