SAFARIยกระดับภูเก็ตแฟนตาซีแปลงเป็นบริษัทมหาชนดันเข้าตลท.


ผู้จัดการรายวัน(3 มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผิน" เตรียมยกระดับให้ "ภูเก็ตแฟนตาซี" เป็นมหาชน หลังบอร์ดเห็นชอบ เพื่อดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปี48 เตรียมขอผู้ถือหุ้น 9 มิถุนายนนี้ เผยอยู่ในระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาการเงิน รวมทั้งกระจายหุ้นให้ประชาชน ทั่วไปยังไม่สรุป

นายผิน คิ้วคชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) (SAFARI) เปิดเผยว่า ผลประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 6/2547 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 รับทราบมติของคณะกรรมการของบริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ในการจะแปรสภาพจากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัด

ซึ่งบริษัทดังกล่าวกำหนดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2547 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2547 เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุมของบริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 99 หมู่ 7 ถนนเลียบคลองสอง เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร เพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้น

นายผินกล่าวว่า การขอมติความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นไม่น่าจะมีปัญหา เพราะการแปรสภาพของบริษัทภูเก็ตแฟนตาซี เป็นบริษัทมหาชน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะกระจายหุ้นระดมทุน พร้อมกับนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมติบอร์ดก็เห็นชอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว ส่วนจะระดมทุนมากเท่าไหร่ และประสงค์ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ไดลูดหุ้นเหลือจำนวนเท่าใดนั้น ยังบอกไม่ได้ แต่ยืนยันว่า SAFARI ยังต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในภูเก็ต แฟนตาซีเช่นเดิม

โดยการกระจายหุ้นดังกล่าว จะต้องดูภาวะตลาดหุ้นด้วยว่า มีความผันผวนหรือไม่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการขายหุ้นเพราะบริษัทต้องการขายหุ้นเพิ่มทุนให้หมด ที่สำคัญราคาหุ้นที่เทรดวันแรกก็ควรจะปิดเหนือราคาจองด้วย เพื่อไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาการเงินในการระดมทุนของภูเก็ต แฟนตาซีแต่อย่างใด

สำหรับ SAFARI ถือได้ว่า ภูเก็ตแฟนตาซี คือแหล่งทำเงิน เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัท มาจากการรับรู้รายได้จากภูเก็ตแฟนตาซี เพราะอย่างน้อยที่ผ่านมาบริษัทก็ยังประสบกับปัญหาขาดทุน

โดยเฉพาะเมื่อกรณีเกิดโรคระบาดไข้หวัดนก ทำให้ส่งผลกระทบต่อบริษัทในช่วงที่ผ่านมานั้น เนื่องจากลูกค้านักท่องเที่ยวหายไปเกือบทั้งหมด เงินค่าเข้าชมที่เคยสะพัดวันละเกือบ 2 ล้านบาท นักท่องเที่ยวนับหมื่นคนต่อวัน ก็หายไปทันทีเพราะทัวร์ต่างๆ ยกเลิกการเข้าชมทั้งหมดเกือบ 100% โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวว่าทางการจะปิดสวนสัตว์ดังกล่าว ยิ่งส่งผลต่อบริษัทอย่างมาก

จนเมื่อได้รับการยืนยันจากทางการว่าจะไม่ปิดสวนสัตว์ดังกล่าว เพราะอยู่นอกเหนือรัศมีที่เกินกว่า 5 กิโลเมตร จึงเหมือนเป็นข่าวดีของบริษัทพร้อมกับการออกชี้แจงต่อสื่อมวลชน และเผยมาตรการควบคุมดูแลนกแก้วมาคอว์เพื่อความรัดกุมและป้องกันไว้ก่อน แม้จะอยู่นอกเหนือจากระยะทางที่ควบคุมก็ตาม

นายผินยอมรับว่า ช่วงที่เกิดโรคระบาดไข้หวัดนก นักท่องเที่ยวหายไปอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อได้รับการชี้แจงและทางการออกมาระบุว่าควบคุมโรคดังกล่าวได้แล้ว ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเยี่ยมชมสวนสัตว์แม้จะยังไม่เป็นปกติ แต่จำนวนที่มีเข้ามาประมาณ 60% ก็ส่งผลต่อรายได้ที่เข้ามายังบริษัท

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัท ที่ประสบกับภาวะขาดทุนนั้น แม้ไตรมาสแรกจะขาดทุนลดลง แต่โดยรวมบริษัทก็ยังมีผลขาดทุน ซึ่ง SAFARI ได้รายงานผลประกอบการงวดไตร-มาสแรกปี 47 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคมว่า บริษัทมีผลประกอบการ ขาดทุนสุทธิรวม 42.09 ล้านบาท โดยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิจำนวน 94.59 ล้านบาท หรือลดลงจำนวน 52.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.5

เนื่องจากไตรมาสดังกล่าว บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยมีรายได้รวมจำนวน 204.06 ล้านบาท โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจำนวน 165.98 ล้านบาท และมีกำไรจำนวน 38.08 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนจำนวน 33.14 ล้านบาท หรือมีผลประกอบการดีขึ้นจำนวน 71.22 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 214.9

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกปี 47 SAFARI มีรายได้จำนวน 71.75 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จำนวน 103.23 ล้านบาท หรือลดลง 31.48 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.5 โดยการลดลงดังกล่าวเป็นผล จากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 47 ขณะเดียว กัน ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายที่มีจำนวน 151.92 ล้านบาท ลดลงจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยะ 7.8 ดังนั้น บริษัทจึงมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับ SAFARI แหล่งรายได้ส่วนใหญ่ จะมาจากภูเก็ต แฟนตาซี ที่ทำเงินเข้าบริษัทประมาณ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่รายได้จากสวนสัตว์ซาฟารีที่กรุงเทพฯ มีรายได้ประมาณ 500-600 ล้านบาท เท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.