ว่างเปล่า

โดย ธีรัส บุญ-หลง
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

มองไปรอบๆ ตัวช่วงนี้ไม่ค่อยมีข่าวที่อ่านแล้วสบายใจเลย ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในอิรัก และที่ต่างๆ ล้วนเป็นข่าวการลอบสังหาร ฆ่าฟัน ทรมานกันและกันของสัตว์ที่เรียกว่ามนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นตัวแสดงให้เห็นถึงการเสื่อมของสังคม สังคมที่มีความสุขน้อยลง ความผิดชอบชั่วดีไม่มีให้เห็นแล้ว ทุกอย่างโดยโน้มน้าวบงการโดยเงินและอำนาจ มีกี่ครั้งที่เราอ่านข่าว ฟังข่าวแล้ว มีความหวังว่าสักวันจะดีขึ้น เรามีเวลาคิดเท่าไรกันจนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องคิดว่าจะทำอะไรเพื่อตัวเองต่อไปดี ครับ สังคมทุนนิยมทำให้ คนมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น ทุกอย่างที่ไม่ดีก็เริ่มชาชินมากขึ้น พร้อมๆ กับความเหงาที่เพิ่มขึ้นมาของ ผู้คนในสังคมเมือง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ไปเที่ยวลอนดอนเพื่อเยี่ยมเพื่อนๆ ผมทั้งที่ยังเรียนอยู่ และทำงานแล้ว เพื่อนผมที่อยู่ลอนดอน ส่วนมากนั้นล้วนทำงานในบริษัท Investment Banking หรือไม่ก็ Law firm ใน City of London เท่าที่สัมผัสมาสังคมของพวกเขาล้วนว่างเปล่า รอยยิ้มที่ผมเคยเห็นเคยสัมผัสนั้นหายไป พวกเขามนุษย์เงินเดือนทำงานหนัก ค่าตอบแทนหนัก แล้วส่วนมากอยู่คนเดียว เวลาว่างอันน้อยนิดก็ทานอาหารในภัตตาคารหรู trendy เช่น Nobu, Zuma และ Ivy แล้วก็เที่ยวในคลับใน บาร์หรู

การทำงานแบบเจ็ดวันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ตี 5-สี่ทุ่มไม่ได้ช่วยให้เพื่อนซี้เก่าของผม อย่าง James มีความสุขมากนัก ร่างกายของเขาดูอิดโรย ตาแดงก่ำเพราะอดนอน ซึ่งไม่ต่างจาก Maki เพื่อนสาวญี่ปุ่น และ Flora และ Jenny สาวหมวยสุดฮอต ที่เรานัดกันมาผ่อนคลายในคืนวันศุกร์ ณ ร้านอาหารฝรั่งเศสแบบโมร็อกโกแห่งหนึ่งซึ่งเคยเป็นที่ฮิตสุดๆ แต่เริ่มเสื่อมความนิยม (แต่ก็ยังจองล้นกันอยู่ดี) พวกเขาเล่าให้ฟังถึงชีวิตที่เหนื่อยแทบขาดใจ รวมถึง deal ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการเงิน เราคุยกันถูกคอเหมือนก่อน สิ่งที่หายไปคือแววตาแห่งความหวังและความฝัน ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับโลกอันหนักหน่วงแห่งนี้

มาร์ตินี่แก้วละเก้าปอนด์ไม่ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นเลยสักนิด พวกเขาเล่าให้ฟังถึงคืนวันที่หายไปกับเหตุการณ์แข่งขันทารุณกันใน office กับค่าตอบแทน ที่ทำให้เขาทนอยู่ และอีกหลายๆ คนพยายามจะทน! การที่พวกเขาเลือกทางเดินของตนเองแล้วพวกเขาได้อะไร? นอกจากความอิ่มอกอิ่มใจชั่วครู่ บรรยากาศคุ้นๆ นี้ทำให้ผมย้อนคิดว่าเคยเห็นที่ไหนมาก่อนแล้ว ภาพต่างๆ ก็บรรเจิดขึ้นในใจ ใช่แล้วสมัยที่ผมไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นบรรยากาศในโตเกียวก็เป็นเช่นนี้แล้วถ้าจะนับกันจริงๆ กรุงเทพฯ ของเราก็แทบจะไม่แตกต่าง เพียงแต่อาจจะบางเบากว่าหน่อย

ทำไมผมถึงเพิ่งรู้สึกล่ะ? นั่นอาจจะเป็นเพราะผมไม่เคยมองเข้าไปจริงๆ เพราะว่าผมรู้สึกว่าตัวผมเองไม่ได้อยู่ในสังคมนั้นจนถึงตอนนี้ เป็นเวลาที่ผมต้อง เริ่มเข้าไปเป็นฟันเฟืองของสังคม ดังเช่นมนุษย์อื่นๆ ซึ่งถึงเวลาที่ต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ระบบที่ทำให้คนลืมความฝัน เหงา แล้วมองเห็นอนาคตที่ต้องแข่งขันเพื่อเป็นผู้มีชีวิตรอด! Theme ต่างๆ ที่สามารถค้นพบจากหลักฐานทางวัฒนธรรมจากหนังของ Wong Ka Wai ทั้งหลาย รวมถึงหนัง Holly- wood เลียนแบบกลิ่นอายของ Mr.Wong เช่น Lost in Translation ถ้ากลับมามองแบบไทยๆ ก็จะเห็นเพลงเหงาของ Peacemaker รวมถึง Sexphone คลื่นเหงาสาวข้างบ้าน หนังของบริษัทเทปแห่งหนึ่ง

ความเหนื่อย เหงา กดดัน เหลื่อมล้ำ แข่งขันของสังคม ทำให้คนมีความทุกข์ มีสิ่งอำนวยความสะดวก บันเทิงรอบตัว แต่ว่างเปล่า ไร้ที่ยึดเหนี่ยว สับสนว่าอะไรถูกผิด คนธรรมดาในสังคมจึงมีความทุกข์ ความทุกข์ของคนธรรมดาในสังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของระบบทุนนิยม ที่จะทำให้คนมีความสุข แล้วนับประสาอะไรกับผู้คนที่โดนกดดันล่ะครับ คนที่ไม่มีโอกาสหรือโดนบังคับให้เปลี่ยนความเชื่อ เขาจะมีความสุขได้อย่างไร?

ปัญหาจึงเกิดเพราะความไม่เข้าใจและไม่สนใจ การแข่งขันที่เพิ่มสัญชาตญาณดิบของการทำลายและช่วงชิง อเมริกาที่ยึดอิรักด้วยเหตุผลที่พยายามปั้นแต่ง ว่าเป็นผู้พิทักษ์โลก ทั้งๆ ที่รู้ว่าไปบุกเพราะอะไร (ทำไมไม่บุกเกาหลีเหนือด้วยล่ะครับ?) ภาพที่ยึดเขาแล้วทรมานนักโทษอย่างสุขสันต์ การที่ไม่มีใครกล้าหือ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่แตกต่างกับการเข่นฆ่าแย่งชิงกันในตลาดหุ้น ยึดบริษัทต่างๆ (รวมถึงประเทศ) กลืนกินจิตวิญญาณของมนุษย์ด้วยกันโดยสิ่งของเย้ายวนใจ ทาง technology ให้อีกฝ่ายตกเป็นทาสทางสังคมวัฒนธรรมเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง

อิสรภาพหายไปคนจึงทุกข์ สังคมจึงถอยลง นักการเมืองฝ่ายทุนนิยมจัด เช่น George W. Bush จึงอยู่ในขาลง นี่คือช่วงขาลงของทุนนิยม แต่โลกคง จะออกจากวังวนนี้ไม่ได้แล้วเพราะมันช่างหอมหวนโลกกำลัง self destruction สิ่งยึดเหนี่ยวใหม่ๆ เช่น ลัทธิ Scientology, รถยนต์, ความดัง การยอมรับจึงเป็นที่แสวงหาของคนยุคนี้ที่เปลี่ยนตัวเองไม่ได้ แต่ต้องการดำรงอยู่โดยไม่รู้สึกผิด เป็นกระแสหลอกตัวเอง และหนีปัญหา บางทีสิ่งที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับระบบและเดินตามเกม แต่บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า คนเราน่าจะพยายามมองย้อนกลับไปหาสิ่งที่เราจากมา ธรรมชาติ ความเอื้ออาทร ความสบายใจแบบบางเบา อิ่มเอิบ เป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้ โลกแบบตะวันตกอาจจะไม่เหมาะกับประเทศไทย... แต่อะไรล่ะที่เหมาะ? ถ้าเราช่วยกันคิด สักวันหนึ่งเราคงได้รับรู้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.