Service Area

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

โดยทั่วไปแล้วสมาธิในการทำงานของคนเรานั้นเฉลี่ยอยู่ในช่วง 30-50 นาทีแรก นั่นหมายความว่าพอเริ่มเข้าสู่ชั่วโมงที่สองของการทำงาน ความอ่อนเพลีย ความเมื่อยล้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประสิทธิผลของงานลดลง ในทางกลับกันการ ได้หยุดพักคลายเครียดสัก 5-10 นาทีในทุกๆ 1-2 ชั่วโมงจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

จากแนวคิดพื้นฐานนี้เองที่นำไปสู่การสร้าง Service Area (ซึ่งจะมีอยู่ในทุกๆระยะห่าง 50 กิโลเมตร) และ Parking Area (ซึ่งจะมีอยู่ในทุกๆ ระยะห่าง 15 กิโลเมตร) ขนาบไปตลอดทางด่วนทั่วญี่ปุ่น จากทางด่วน สายแรกที่เริ่มสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1956 มาถึงปัจจุบันมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วทั้ง 4 เกาะ ใหญ่ ซึ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางไม่แพ้การบริการของรถไฟเลยก็ว่าได้

ทั้ง Service Area และ Parking Area สร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน คือ ใช้เป็นสถานที่สำหรับจอดแวะทำธุระ เข้าห้องน้ำ พักสายตา ยืดเส้นยืดสาย ฯลฯ หลังจากขับรถต่อเนื่องทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยไม่ต้องลงจากทางด่วน เพียงแต่ Parking Area มีพื้นที่ใช้สอยที่น้อยกว่า คือเป็นลานจอดรถขนาดย่อมๆ ที่มักจะมีปั๊มน้ำมันและบริการห้องน้ำ น้ำดื่ม (ฟรี) เท่านั้นซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการความวุ่นวาย รถส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการของ Parking Area มักจะเป็นรถบรรทุก

จะว่าไปแล้ว Service Area ก็คือ Parking Area ที่ถูกพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหลายเท่า มีลานจอดรถกว้างขวาง พร้อมทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำสะอาด และให้บริการข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้ทางด่วน ในบางแห่งอาจจะมี Business center ซึ่งสามารถใช้เครื่องแฟกซ์ติดต่องาน รวมถึงมี internet ไว้บริการด้วย

ถึงแม้ว่า Service Area แต่ละแห่งจะสร้างขึ้นจากรูปแบบเดียวกัน แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วประเภทของสินค้า ชนิดของอาหาร ตลอดถึงความสะดวกสบายในบริการต่างๆ ภายใน Service Area แต่ละที่นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นแล้วการแข่งขันกันให้บริการที่ดีที่สุดของแต่ละที่ เป็นการสร้างชื่อเพื่อเรียกลูกค้าให้แวะเข้ามาใช้บริการ ใน Service Area ชื่อดังบางแห่งสามารถทำรายได้วันละหลายล้านเยนแม้กระทั่งในวันธรรมดา

การให้บริการข้อมูลต่างๆ ฟรี อย่างเช่น แผนที่ ทางด่วนพร้อมทั้งแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียง ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเพิ่มขึ้นไปอีก โดยปกติป้ายบอกทางบนทางด่วนของญี่ปุ่นนั้นไฮเทค มาก และมีความชัดเจนเพียงพอที่แม้กระทั่งคนต่างชาติ เองก็สามารถเข้าใจได้ง่าย ในกรณีที่ไม่สามารถอ่านภาษาญี่ปุ่นได้แนะนำให้ศึกษาเส้นทางก่อนเดินทางจาก homepage ของกรมทางหลวงซึ่งมีภาษาอังกฤษไว้บริการด้วย (www.jhnet.go.jp/english_new/index. html) ในเว็บนี้สามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินทางโดยละเอียด พร้อมทั้งค่าผ่านทางรวมไปถึงสามารถคำนวณค่าน้ำมันที่จะต้องเติมตลอดเส้นทางได้ด้วย

ในช่วงเทศกาลที่มีคนใช้ทางด่วนกันอย่างหนาแน่น เช่น ปีใหม่, Golden Week, Obon (เชงเม้งญี่ปุ่น) หรือวันหยุดต่อเนื่อง ลูกค้าที่มาใช้บริการใน Service Area สามารถตรวจสอบสภาพจราจรได้โดยใช้ตู้อัตโนมัติ หรือบางที่จะทำเป็นบอร์ดดิจิตอลขนาดใหญ่ที่ update ข้อมูลทุกๆ นาที ความละเอียดของข้อมูลนั้นบอกได้แม้กระทั่งว่าด่านทางที่จะขับต่อไปข้างหน้ามีรถติดอยู่กี่กิโลเมตร นอกจากนี้ยังช่วยแนะนำ เส้นทางที่สามารถใช้เลี่ยงบริเวณที่มีการจราจรคับคั่งดังกล่าว

สินค้าที่เลือกสรรมาบริการบน Service Area มักจะเป็นสินค้าพื้นเมืองราคาไม่แพงนัก ซึ่งเหมาะสำหรับซื้อเป็นของฝากโดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าผ่านทางลงจากทางด่วนเพื่อเข้าเมืองไปซื้อ นอกจากนี้อาจมีสินค้าบางอย่างที่ทำพิเศษมีจำหน่ายเฉพาะใน Service Area นี้เท่านั้น

ที่น่าสังเกตอีกประการ คือ ร้านค้าใน Service Area จะไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่าย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะคงไม่มีคนญี่ปุ่นคนไหนที่อยากจะเอาอนาคตของตัวเองไปแลกกับการแค่อยากดื่มเพียงเบียร์ 1 กระป๋องสมมุติว่า เกิดถูกตรวจและพบว่ามีแอลกอฮอล์อยู่ในขณะขับขี่ นอกจากจะต้องจ่ายค่าปรับที่แพงมากแล้ว ในกรณีของข้าราชการหรือพนักงานบริษัทใหญ่ๆ บางแห่งอาจถูกแถมด้วยการไล่ออกจากงานโดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมทั้งจารึกสาเหตุของการถูกให้ออกจากงานในประวัติ และแน่นอนว่าคงจะไม่มีบริษัทไหนอยากรับบุคคลเหล่านี้เข้าไปทำงานด้วย นี่ยังไม่รวมค่าเสียหายถ้าเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีวินัยสูงมาก ไม่ใช่แค่เรื่อง "เมาไม่ขับ" เท่านั้น การรักษากฎจราจรอย่างเคร่งครัด ความมีน้ำใจและเคารพในสิทธิของคนอื่นที่ใช้เส้นทางร่วมกันนั้นปรากฏให้เห็นเป็นเรื่องปกติ

อันที่จริงแล้ว Service Area และ Parking Area จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลยถ้าหากผู้คนละเลยที่จะคำนึงถึงการขับขี่อย่างปลอดภัยและการแวะจอดพักตาม Service Area ทุก 2 ชั่วโมงนั้นไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด แต่คนญี่ปุ่นก็ให้ความร่วมมือปฏิบัติ กันจนดูเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำ อย่างน้อยก็เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของตนเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.