เสน่ห์บ้านไทยในร้าน "สตาร์บัคส์"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

สี่งที่จอห์น ศรีประดู่ ต้องทำก็คือภาพลักษณ์ของร้านกาแฟสตาร์บัคส์ในบ้านเก่าอายุเกือบ 100 ปี บนถนนข้าวสาร ต้องสอดประสานกลมกลืนไปกับอารมณ์และบรรยากาศความเป็นไทย

การออกแบบสาขาที่ 44 บนถนนข้าวสาร จึงค่อนข้างท้าทาย ต่างกับสาขาอื่นๆ ทั่วโลก จอห์นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าคำถามแรกของผู้บริหารสตาร์บัคส์ ซึ่งบินมาจากสำนักงาน ใหญ่เมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา คือที่นี่มีอะไรที่เป็นสตาร์บัคส์บ้าง เพราะเขามีความรู้สึกว่าความเป็นสตาร์บัคส์ของสาขานี้มีน้อยมาก ในขณะเดียวกันก็มั่นใจ ว่าบรรยากาศอย่างนี้ลูกค้าต้องชอบแน่นอน

และที่สำคัญได้สะท้อนไปถึงแนว ทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอง ที่ได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมของประเทศที่เข้าไปลงทุน

วันเวลาผ่านเลยไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงบ้านหลังนี้ เดิมทีเมื่อ 97 ปีก่อน เป็นอนุสรณ์ของความรักความผูกพัน ระหว่างพ่อกับลูก คือคุณพ่อของคุณหญิงเชย กฤตราชทรงสวัสดิ์ ซึ่งในขณะนั้นดำรง ตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้มอบบ้านหลังนี้ให้แก่คุณหญิงเป็นของขวัญวันแต่งงาน เมื่อปี พ.ศ.2450 และเป็นที่อยู่เรื่อยมาจนกระทั่งคุณหญิงถึงแก่กรรมในเดือนเมษายน พ.ศ.2537 หลังจากนั้นบ้านก็ได้ตกอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของ กฤต ไกรจิตติ ผู้เป็นหลานชาย

เป็นบ้านตึกหลังใหญ่ 2 ชั้น ออกแบบหลักโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนในสไตล์อาร์ต นูโว และอาร์ตเดคโค ผสมผสานกัน ตามความ ต้องการของเจ้าของบ้าน บนเนื้อที่ 1 ไร่ครึ่ง ภายในตัวบ้านมีลวดลาย ปูนปั้น ปรากฏอยู่ตามโค้งประตู ห้องต่างๆ รวมทั้งงานศิลปะของมร.คอร์ราโด เฟโรจี หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งวาดไว้ที่ห้องอียิปต์ รวมทั้งการเขียนลายดอกไม้บนฝ้าเพดาน ฝีมือของคุณหญิงเอง

บริษัทสวัสดีกรุ๊ปได้เช่าบ้านหลังนี้ และที่ดิน พร้อมตึกแถวด้านหน้ามาพัฒนา โดยสตาร์บัคส์ได้เช่าช่วงต่อในส่วนของบ้านเฉพาะชั้นล่างและลานบ้านมาทำเป็นร้านกาแฟ ส่วนชั้นบน สวัสดีกรุ๊ปจะทำเป็นอาร์ตแกลเลอรี่และมิวเซียม

ส่วนชั้นล่างในร้านกาแฟนั้น แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนคือ เคาน์เตอร์บาร์ ห้องเมมฟิส (ห้องนั่งเล่น) ห้องวิกตอเรียน (ห้องรับแขก) และบริเวณชานบ้านด้านนอก

การตกแต่งบ้านเก่าเพื่ออยู่อาศัยไม่ใช่เรื่องใหม่ของจอห์น แต่เป็นครั้งแรกที่เขาต้องทำบ้านเก่าอายุเกือบ 100 ปีนี้ให้เป็นร้านกาแฟ

"โจทย์สำคัญของงานชิ้นนี้ก็คือ 1. ผมต้องดึงสภาพเดิมกลับมา 2. ต้องเอาความเป็นสตาร์บัคส์เข้ามาด้วย ซึ่งบ้านหลังนี้กับสตาร์บัคส์ มันไม่ใช่เลย สตาร์บัคส์เคยทำในบ้านเก่าสาขาที่เซี่ยงไฮ้ โดยยกบาร์ของร้านกาแฟ เข้าไปวาง ข้างนอกเป็นสไตล์จีน แต่ข้างในเป็นสตาร์บัคส์ ซึ่งเป็นอะไรที่ขัดแย้งกันมาก เราไม่อยากได้ภาพนั้น ทำอย่างไรจะคงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ให้มากที่สุด แต่ก็มีฟังก์ชัน ของสตาร์บัคส์อยู่ด้วย"

โครงสร้างหลักของบ้านยังคงแข็งแรง บางส่วนที่ทรุดก็จัดการเสริมใหม่ พื้นไม้กระดานบนชั้น 2 ซึ่งเก่ามากแล้วถูกเปลี่ยนใหม่ ส่วนพื้นไม้ปาร์เก้ชั้นล่างเปลี่ยนเป็นกระเบื้องหินอ่อนขัด "เจ้าของบ้านห้ามเจาะห้ามทุบ ดังนั้นในเรื่องระบบไฟทำยากมาก เพราะรื้อสายไฟใหม่ลำบาก เราต้องใช้เวลาในเรื่องนี้ประมาณ 2 เดือน ไฟที่เดินต้องใช้ลวดสอดขึ้นไปเรื่อยๆ มันไปโผล่ตรงไหน ก็พยายามหาไปแล้วถึงจะดึงลากสายไป บางจุดจำเป็นต้องขุดเจาะก็เอาแสงเลเซอร์มาสแกนก่อนว่า ข้างใต้มีอะไรหรือเปล่า"

โคมไฟและของตกแต่งบ้าน ส่วนใหญ่เป็นของเก่าที่หาซื้อมาใหม่ โลโกที่ทำด้วยวัสดุสีทองแดง ถูกนำมาใช้เพราะเป็นสีที่ดูคลาสสิกให้ความกลมกลืนกับตัวบ้านมากกว่าโลโกที่อยู่ในหลอดไฟสี่เหลี่ยมสีขาว เช่นเดียวกับส่วนของเคาน์เตอร์ แม้มีรูปทรงเดียวกับสาขาอื่นๆ แต่ด้านหน้าตกแต่งด้วยไม้ เพื่อความกลมกลืนกับตัวบ้าน

กาแฟต้องดื่มคู่กับบรรยากาศ บรรยากาศต้องไปกันได้กับวุฒิภาวะบนถนนข้าวสาร ซึ่งเป็นแหล่งของวัยรุ่นคนหนุ่มสาว จะตกแต่งโดยใช้โทนสีขรึม และเครื่องเรือนที่เป็นไทยมากไปก็ไม่ได้ เฟอร์นิเจอร์หนานุ่มด้วยผ้าไหมสีสดใส อบอุ่น น่านั่ง จึงถูกนำมาใช้

ส่วนสียังคงเดิมของบ้านคือเขียว ขาว แต่เพิ่มเติมในส่วนของสีเหลืองขาว ซึ่งเป็นสี โทนเดียวกับตึกกระทรวงกลาโหม และตึกอนุรักษ์บนถนนราชดำเนิน

4 เดือนผ่านไป สตาร์บัคส์บนถนนข้าวสารได้อวดโฉมใหม่ ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ว่าไม่ได้เป็นแค่ร้านกาแฟอย่างเดียว แต่เป็นที่นั่งพักผ่อนเพื่อให้ผู้คนจากทั่วโลกได้ซึมซับ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยเมื่อสมัย 100 ปีก่อนด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.