การประกาศตัวรุกในธุรกิจรายใหญ่ (Corporate Banking) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นการบ่งบอกทิศทางของภาคธุรกิจที่เริ่มมีความจำเป็นต้องเข้ามาอาศัยตลาดเงิน เพื่อขยายกิจการกันอีกครั้ง หลังจากตลาดนี้ได้ซบเซามากว่า 6 ปี
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นับเป็น ธนาคารพาณิชย์รายแรก ที่ประกาศนโยบาย เชิงรุกในธุรกิจ
Corporate Banking หลังจากที่ตลาดนี้ได้ซบเซามาเป็นระยะเวลานาน นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในปี
2540 เห็นได้จากการปล่อยกู้ก้อนใหญ่ให้กับภาคธุรกิจ เกิดขึ้นน้อยครั้งมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ จะมุ่งเน้นความสำคัญไป ที่กลุ่มลูกค้าบุคคล
(Retail Banking) เพราะเห็นว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับธนาคารอย่างต่อเนื่อง
และได้รับผลกระทบจาก วิกฤติเศรษฐกิจน้อยกว่าลูกค้า กลุ่มอื่นๆ แต่เมื่อถึงปัจจุบัน
เมื่อลูกค้ากลุ่มบุคคลเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว จากตัวเลขอัตราการเติบโตที่ลดลง
และภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น กอปรกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น ทั้งในภาคผลิตและบริการ
ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จึงเริ่มที่จะหันไปสู่ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ภายใต้นโยบาย
"Univer- sal Banking" ด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน
ในขณะที่ธนาคารต่างๆ กำลังมองหาจุดแข็งของตัวเอง ผ่านวิธีการ นำเสนอที่แตกต่าง
เช่น ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชูภาพ "Lifestyle Banking" ที่มีความสดใส
กระฉับกระเฉง ธนาคารนครหลวงไทย ประกาศตัวเป็น "Supermarket Banking"
การประกาศนโยบายเชิงรุกในธุรกิจ Corporate Banking ของ SCB ในครั้งนี้
ถือเป็นการบ่งบอกถึงแนวโน้มที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด หลังจากที่เมื่อปลายปีที่แล้ว
SCB ก็เป็นธนาคารพาณิชย์รายแรกที่ประกาศนโยบายว่าจะทำธุรกิจแบบ Universal
Bank-ing ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างภายในธนาคาร (Change Program) ซึ่งเริ่ม
เห็นผล ทั้งในรูปของผลประกอบการไตรมาส แรกที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 123%
เมื่อเทียบ กับงวดเดียวกันของปีก่อน และภาพลักษณ์ของธนาคารที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากที่ได้เปิดตัวกลุ่มธุรกิจ Investment Banking และ Retail Banking
ไปเมื่อก่อนหน้านี้ ก็ถึงเวลาของ jigsaw ชิ้น สุดท้ายที่ทำให้นโยบาย "Universal
Banking" ของ SCB มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เมื่อช่วงสายของวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา SCB จัดให้มีงานพบปะสื่อมวลชน
ที่บริเวณห้องสยามกัมมาจล บนชั้น 22 ของอาคารสำนักงานใหญ่ เพื่อรายงานความคืบ
หน้าของการแปลงสภาพมาเป็น Universal Banking และที่สำคัญเป็นการแนะนำผู้บริหารและธุรกิจในกลุ่ม
Corporate Banking ซึ่งต่อจากนี้น่าจะมีบทบาทต่อการ เจริญเติบโตของธนาคารมากกว่าที่ผ่านมา
ผู้บริหารธนาคารที่มาร่วมงานในวันนั้น ประกอบไปด้วย ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย
ประธานกรรมการบริหาร คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วยศิริชัย
สมบัติศิริ รองผู้จัดการใหญ่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ (Corporate Banking) ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมานี้เอง
การชูยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจ Corporate Banking ครั้งนี้ถือเป็นการประกาศว่า
แผนงานที่ SCB ได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงินทุน
หรือ Change Program ที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจ การสร้างคุณภาพการดำเนินธุรกิจ
และการสร้างทรัพยากรบุคคล ที่จะยังคงดำเนินต่อไป ณ บัดนี้ SCB ได้พร้อมแล้วสำหรับการแข่งขันในระบบเสรี
ซึ่งจะต้องแข่งขันกับธนาคารต่างชาติที่จะเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"ธนาคารจำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรม ลูกค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้ากลุ่มธุรกิจ
ซึ่งเป็นกลุ่มขนาดใหญ่และมีความต้องการบริการทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น"
ดร.วิชิตบอก ทั้งนี้เพื่อ นำไปเป็นฐานข้อมูลสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้า
ทั้งที่เป็นลูกค้าเก่า และลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ SCB จะใช้เป็นกลยุทธ์สำหรับการพัฒนากลุ่มธุรกิจนี้
กลุ่มลูกค้าธุรกิจ (Corporate Banking Group) ประกอบไปด้วยธุรกิจหลักๆ
3 กลุ่ม คือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) ที่มีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ธุรกิจ (Business Products)
ทั้งหมดนี้จะอยู่ ภายใต้การกำกับดูแลของศิริชัย ซึ่งเป็นทั้งลูกหม้อเก่าของ
SCB และลูกน้องเก่าของ ดร.วิชิต ตั้งแต่สมัยที่ไปเป็นประธานกรรมการบริหารอยู่ที่ธนาคารรัตนสิน
ก่อนที่จะถูกขายให้กับธนาคารยูโอบี จากสิงคโปร์ในตอนหลัง
ศิริชัยเริ่มงานกับ SCB ครั้งแรกเมื่อปี 2520 หลังสำเร็จการศึกษาด้านบัญชีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และ MBA (Finance) จาก University of Southern California โดยทำหน้าที่บริหารงานด้านสาขาต่างประเทศที่
London, New York และ Chicago ก่อนที่จะลาออกไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยซัมมิท
ในระหว่างปี 2537-2541 และเป็น กรรมการผู้จัดการธนาคารรัตนสินในปี 2541-2542
ก่อนที่จะกลับมา SCB อีกครั้งในฐานะ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายงานตลาดเงินและตลาดทุน
และได้เข้าดูแลกลุ่มลูกค้าธุรกิจตั้งแต่ปี 2546
ผลิตผลหนึ่งของ Change Program คือการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้มีความชัดเจนมากขึ้น
โดยในฝ่ายลูกค้าธุรกิจ SCB ได้มีการกำหนดให้มีผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ (RM
: Relationship Manager) เพื่อทำหน้าที่ดูแลลูกค้าธุรกิจแต่ละราย เสมือนเป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรม
ทางการเงินประเภทต่างๆ แบบ One Stop Service เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการขอสินเชื่อ
ตลอดจนบริการทางการเงินประเภทต่างๆ
โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ SCB สามารถเพิ่มสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจ
ถึงเกือบ 14,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดทั้งปี 2547
ว่าจะเพิ่มประมาณ 37,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.5% โดยได้เน้นการ ขยายสินเชื่อในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
เหล็ก ปิโตรเคมี พลังงาน เยื่อกระดาษและกระดาษ ท่องเที่ยว รวมทั้งโครงการรับเหมาก่อสร้างกับภาครัฐ
การดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบาย Universal Bangking น่าจะเป็นวิถีการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนสำหรับธนาคาร
ทั้งในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลง และคาดว่าจะมีอีกหลายธนาคารที่จะทยอยประกาศความพร้อมออกมา