102 ปีกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ไทย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

2436 เป็นปีที่ภาพยนตร์ได้เกิดขึ้นมา โดยโทมัสอัลวา เอดิสัน คือผู้ที่ ประดิษฐ์ภาพยนตร์สำเร็จเป็นรายแรกของโลกที่เรียกกันว่า "ถ้ำมอง" คือเผยแพร่ด้วยเครื่องดูที่เรียกชื่อว่า "คิเนโตสโคป" เป็นตู้ให้ผู้ชมหยอดเหรียญลงในรูเพื่อเดินเครื่อง แล้วแนบตาดูที่ช่องดู ดูได้ทีละคน

2438 เป็นปีแห่งการกำเนิดภาพยนตร์โลกเมื่อ 2 พี่น้องตระกูลลูมิแอร์ "ออกุส และลุยส์ ลูมิแอร์" ได้พัฒนาเป็นภาพยนตร์ชนิดที่ฉายขึ้นจอได้สำเร็จ และได้นำออกฉายเป็นครั้งแรกโดยเช่าห้องใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีส

2440 มีการฉายภาพยนตร์ในรูปแบบของมหรสพครั้งแรกในเมืองไทย ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ตำบลประตูสามยอด กรุงเทพฯ ซึ่งสมัยนั้นจะเป็นเพียงภาพยนตร์ม้วนสั้น ฟิล์มภาพยนตร์ที่ผลิตกันในเวลานั้นยาวเพียง 40 ฟุต ถ่ายและฉายด้วยเครื่องมือที่ใช้มือหมุนกลไกจะกินเวลาถ่ายและฉายเพียงไม่ถึงหนึ่งนาทีก็จบม้วน ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่นำมาฉายในเมืองไทยตามหลักฐานของหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ คือเรื่องประดาน้ำ และศรีต่อยมวย

2448 ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาสร้างโรงหนังถาวรในเมืองไทยเป็นครั้งแรก 2466 ภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นเรื่องแรกคือเรื่อง "นางสาวสุวรรณ" ซึ่งสร้างโดยชาวต่างประเทศเปิดฉาย

2470 ภาพยนตร์เรื่องแรกของคนไทยที่สร้างขึ้นโดยสกุล วสุวัตเรื่อง "โชค 2 ชั้น" เปิดฉาย

2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ 9 ล้านบาทเพื่อการจัดสร้างโรงหนังเฉลิมกรุงเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย และเมืองไทยโดยมีเครื่องปรับอากาศเป็นโรงแรก และฉายหนังเสียงในฟิล์มเป็นโรงแรกๆ เช่นกัน

2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ธุรกิจหนังไทยซบเซาลงอย่างหนักแทบจะไม่มีภาพยนตร์เข้ามาฉายในเมืองไทย ศาลาเฉลิมกรุงก็ได้เปลี่ยนมาเป็นโรงละครเวทีอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง

2490 บริษัทจัดจำหน่ายหนังจากฮอลลีวู้ดได้เข้าตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย และมีวิวัฒนาการของการสร้างภาพยนตร์เกิดขึ้นมาก มายเพื่อแข่งขันกับทีวีจอแก้วที่เริ่มเข้ามาแพร่หลายอย่างหนัก หนังสามมิติ หนังซีเนมาสโคป หนังจอกว้าง จึงเกิดขึ้นในช่วงนี้เอง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นโรงภาพยนตร์ก็ได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่นกันเพื่อสนองตอบต่อระบบภาพแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ค่ายใหญ่ๆ ในการบริหารธุรกิจโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่จึงมีรากฐานที่เกิดขึ้นในช่วงนี้แทบทั้งสิ้นเช่น เอเพ็กซ์ ของตระกูลตันสัจจา สหมงคลฟิล์ม ของสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือ "เสี่ยเจียง" ของวงการบันเทิง นอกจากนั้นก็จะมีค่ายนนทนันท์ เป็นผู้บริหารโรงภาพยนตร์กรุงเกษม และไฟว์สตาร์ ของเจริญ เอี่ยมพึ่งพร รวมทั้งโกบราเดอร์ของตระกูลพูลวรลักษณ์ ทุกค่ายเป็นผู้แข่งขันที่ดุเดือดที่สุดในยุคของโรงหนัง ที่เรียกกันว่าโรงหนังแบบ "สแตนอโลน" 2527 เกิดยุค "มินิเธียเตอร์" บริหารโดยจำเริญ พูลวรลักษณ์ เป็นปีที่โรงภาพยนตร์ได้เข้ามามีบทบาทในศูนย์การค้าที่เปิดขึ้นมากมาย การแข่งขันรุนแรงจนหลายค่ายถอนตัวออกไปจากวงการ

2536 เข้าสู่ยุคของ "ระบบมัลติเพล็กซ์" โดยวิชัย พูลวรลักษณ์ ได้ร่วมทุนกับต่างประเทศ เปิดบริษัทใหม่ EGV เป็นระบบรวมโรงภาพยนตร์หลายโรงไว้ในที่เดียวกันและดึงระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาจัดการ

2537 เกิดค่ายใหม่ "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์" โดยวิชา พูลวรลักษณ์ เป็นโรงหนังแบบสแตนอโลนรูปแบบใหม่ ที่มีสถานบันเทิงหลากหลายรูปแบบมารวมอยู่ที่เดียวกัน

2541 มีโรงภาพยนตร์ IMAX โรงหนัง 3 มิติขึ้นมาครั้งแรกในเมืองไทยโดยวิชาร่วมทุนกับบริษัทซีนีม่า พลัส จากประเทศออสเตรเลีย

2542 เสี่ยเจียง จากสหมงคลฟิล์มกับค่ายเอสเอฟฟิล์มโดยสุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ได้ร่วมทุนกันบุกธุรกิจโรงภาพยนตร์ครั้งแรก เปิดฉากครั้งแรกที่มาบุญครอง และมีเป้าหมายบุกศูนย์การค้าทั่วกรุง

ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญอีกครั้งในยุทธจักรของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่เราจะได้เห็นกันในปีค.ศ.2000



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.