The Innovative Asset Management

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้เอ็มเอฟซีจะเป็น บลจ.ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด แต่ก็ไม่ใช่เป็นจุดที่ได้เปรียบในภาวะที่การแข่งขันกำลังทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างในปัจจุบัน ในวันนี้ เอ็มเอฟซีจึงจำเป็นต้องหาจุดเด่นที่สามารถใช้เป็นจุดขายของตัวเอง

ในปีนี้ถือเป็นปีที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี (MFC) ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่บริษัทแม่ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต้องไปควบรวมกับธนาคารทหารไทย และดีบีเอสไทยทนุ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีผลต่อการดำเนิน งานของ MFC เท่ากับการที่ธนาคารนครหลวงไทย ประกาศตั้งบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นของตัวเอง

เพราะที่ผ่านมา MFC ได้เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับธนาคารนครหลวงไทย โดยอาศัยเครือข่ายสาขาของธนาคารนครหลวงไทยที่มีอยู่เกือบ 400 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นช่องทางขายหน่วยลงทุนของ MFC

การจัดตั้ง บลจ.ขึ้นมาเองของธนาคารนครหลวงไทย ทำให้ช่องทางขายของ MFC แคบลงมาอย่างเห็นได้ชัด

"เรายอมรับว่าการเป็น บลจ.ที่ไม่มีธนาคารเป็นฐาน ย่อมเหนื่อยกว่า ในอดีต บลจ.ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ คือ บลจ.ที่มีแบงก์ แต่ก็ไม่ 100% มี บลจ. หลายแห่งที่ไม่มีแบงก์ แต่สามารถพัฒนาทีมขายได้เอง ก็ยังใช้ได้ ซึ่งเราก็พยายามจะไปทั้ง 2 ทาง" บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ รองกรรมการจัดการ MFC ยอมรับกับ "ผู้จัดการ"

แนวทางของ MFC นอกจากการพัฒนาทีมขายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังต้องพัฒนาช่องทางขาย โดยอาศัย เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการเจรจาหาพันธมิตรใหม่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับไทยธนาคาร เพื่อใช้สาขาของไทยธนาคาร เป็นช่องทางขายหน่วยลงทุนของ MFC แทนที่สาขาของธนาคารนครหลวงไทย

แต่การที่จำนวนสาขาของไทยธนาคาร ซึ่งมีอยู่เพียง 100 กว่าแห่ง น้อยกว่าจำนวนสาขาของธนาคารนครหลวงไทย ถึง 3 เท่า ย่อมทำให้การกระจายสินค้า ทำได้ไม่คล่องตัวเหมือนเช่นในอดีต

สิ่งหนึ่งที่ MFC จำเป็นต้องทำในขณะนี้คือการวาง Position ของตัวเองในตลาดให้ชัดเจน เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ

Position ดังกล่าว สำหรับ MFC ได้ถูกกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว คือการเป็น Innovative Asset Management โดยการนำนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ หน่วยลงทุน และการบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุดต่อผู้ถือหน่วย

"ตลาดของกองทุนรวมต่อไป สินค้า ที่จะออกมา อย่างน้อยมันจะต้องเป็นสินค้า ที่มีจุดเด่น และมีความแตกต่างเมื่อเทียบกับสินค้าของคนอื่น เพราะฉะนั้น MFC ก็พยายามจะไปเป้าหมายนั้น" บุญชัยกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า

"จุดขายของเราคือ พยายามจะสร้างสรรค์สินค้ารูปแบบใหม่ที่ในตลาดยังไม่มี แล้วเราจะทำเป็นเจ้าแรก แต่ว่าเราก็ยังจะมีสินค้าทั่วไปตามแต่ที่ตลาดอยากจะได้ตามปกติ"

MFC เริ่มต้นสร้างสรรค์รูปแบบสินค้าใหม่ๆ ออกมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยการออก MFC Spot Fund ซึ่งเป็นกองทุนปิดอายุ 3 ปี ที่กำหนดเป้าหมายไว้ อย่างชัดเจนว่าหากกองทุนนี้สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยได้ถึง 25% จะปิดโครงการทันที

กองทุนนี้ได้ออกมาในจังหวะที่บรรยากาศการซื้อขายหุ้นมีความคึกคัก ดัชนีราคาหุ้นกำลังปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 500 จุด ไปถึงระดับ 800 จุด ดังนั้นจึงได้รับความสนใจจากนักลงทุน เพราะสามารถ สร้างผลตอบแทน 25% ได้ภายในเวลาไม่กี่เดือนและ MFC สามารถออก MFC Spot Fund มาได้ถึง 3 กองทุนด้วยกัน

นอกจาก MFC Spot Fund ซึ่งถือเป็นกองทุนรวมรูปแบบใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีที่แล้ว ปีเดียวกัน MFC ก็ได้เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารกองทุน โดยการออกกองทุนเปิดประเภทคุ้มครองเงินต้นที่มีชื่อว่า "เอ็มเอฟซีสินทรัพย์มั่นคง" กองทุนนี้เป็นการผสมผสานระหว่างการใช้ความรู้ความสามารถของผู้จัดการกองทุน กับเทคโนโลยี

โดยผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้คัดเลือกหุ้นที่จะซื้อเข้ามาไว้ในกองทุน ส่วนการ บริหารกองทุนนั้น MFC ได้เขียนโปรแกรม ที่กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ชัดเจนว่าหากความ เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับราคาหุ้นในกองทุน แต่ละวัน มีผลทำให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย (NAV) ปรับตัวลงมาจนใกล้จะถึง ราคาพาร์ 10 บาท เมื่อไร ผู้จัดการกองทุน ควรจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง เพื่อให้ NAV ไม่ลดน้อยลงไปต่ำกว่า 10 บาท

ซึ่งปรากฏว่าการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีและความรู้ความสามารถ ของผู้จัดการกองทุน มีผลให้ NAV ของ กองทุนนี้ไม่เคยตกลงไปต่ำกว่า 10 บาท แม้ภาวะการซื้อขายหุ้นจะเริ่มผันผวนขึ้นมาอย่างมาก หลังจากย่างเข้าปี 2547

"ตอนดัชนีอยู่ที่ 800 จุด NAV ของ กองทุนนี้อยู่ที่ 10.50 บาท แต่หลังจากดัชนี ตกลงมาอยู่ที่ 650 จุด NAV ของกองทุนลดลงมาเหลือ 10.08 บาท ถือว่าเป็นอัตรา ส่วนที่น้อยกว่าการลดลงของราคาหุ้นโดยรวมของทั้งตลาด"

ครึ่งแรกของปี 2547 MFC มีแผนจะออกกองทุนใหม่อีก 4 กองทุน โดยยังคงเน้นย้ำจุดขายเดิม คือการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ และการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการบริหาร

ทั้ง 4 กองทุนดังกล่าวประกอบด้วย MFC Spot Fund 4 ที่เปิดขายหน่วยลงทุน ไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเมื่อเดือนพฤษภาคม MFC ได้เปิดขายกองทุนเปิด MFC Set 50 มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท

และภายในเดือนมิถุนายน MFC ยังจะเปิดขายกองทุน "เอ็มเอฟซี ตราสารหนี้คืนกำไร 1" มูลค่า 1,000 ล้านบาท เป็น กองทุนปิด อายุ 3 ปี ที่จะออกเป็นซีรี่ส์เช่นเดียวกับ MFC Spot Fund กองทุนดังกล่าวเน้นลงทุนในตราสารหนี้ โดยมีจุดขายคือการจ่ายผลตอบแทน (auto redemption) คืนทุกเดือน ซึ่งแตกต่างจากกองทุนประเภทเดียวกันของ บลจ.อื่น ที่ส่วนใหญ่จ่ายผลตอบแทนคืนทุก 3 หรือ 6 เดือน

นอกจากนี้ยังจะมีการจัดตั้งกองทุน MFC Global Bond มูลค่า 3,500 ล้านบาท เพื่อนำเงินออกไปลงทุน ซื้อตราสารหนี้ในต่างประเทศ โดยร่วมมือกับ Nikko Asset Management ของญี่ปุ่นมาเป็นที่ปรึกษา

MFC กำหนดไว้ว่าในแต่ละปีผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุน MFC Global Bond จะต้องได้รับผลตอบแทน 2.25% บวกกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารพาณิชย์ไทย

ทั้ง MFC Set 50 และเอ็มเอฟซี ตราสารหนี้คืนกำไร 1 จะมีการผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหาร นอกเหนือจากความรู้ความสามารถของ ผู้จัดการกองทุน เช่นเดียวกับกองทุนเอ็มเอฟซีสินทรัพย์มั่นคง ที่เปิดขายเมื่อปีที่แล้ว

ส่วน MFC Global Bond จะอาศัยเทคโนโลยีของ Nikko Asset Management ที่ได้รับการพัฒนามาแล้วหลายปี เข้ามาช่วยในการเลือกซื้อพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในแต่ละช่วง

Positioning และจุดขายของ MFC กำลังมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น

"เราไม่ได้หวังว่าเราจะเป็น Asset Management ที่จะไปแซงหน้าพวกบลจ.ใหญ่ๆ ที่มีแบงก์เป็นฐานได้ แต่ว่า เราก็ต้องไม่น้อยหน้ากว่า บลจ.เหล่านั้น" บุญชัยสรุป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.