Future Lab คลังสมองของ AIS

โดย ศศิธร นามงาม
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ชั้น 14 อาคารชินวัตร 1 ถูกตกแต่งให้เป็นโชว์รูมนวัตกรรมสื่อสารไร้สาย และเป็นศูนย์ R&D ของ Wireless Service แหล่งคลังสมองที่จะสร้างบริการเสริมให้กับ AIS

งบประมาณ 2 ล้านบาท ใช้ไปกับการตกแต่ง Future Zone และห้องทำงานให้กับทีม Future Lab โดยเน้นความเรียบง่าย อาศัยการออกแบบให้ดูทันสมัย ใช้วัสดุที่ไม่แพงอย่างเช่น พลาสติก มาเป็นวัสดุในการตกแต่งกั้นห้องประชุม และห้องทำงาน

ส่วนงบประมาณ R&D ที่จะใช้ใน Future Lab ทาง AIS ได้เตรียมไว้สำหรับรองรับการสร้างผลผลิตทางความคิดให้เกิดเป็นบริการในอนาคต เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท

ความต้องการของ AIS คือ การมีรายได้จากส่วนของการใช้ข้อมูล และ Application เพิ่มขึ้นอีก 100% ในปีนี้ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างบริการเสริมใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อเปิดช่องทางการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น

กฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการ ผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า สิ่งที่ Future Lab ทำให้กับ AIS นั้นมีความคุ้มค่า บริการที่เกิดขึ้นมีการตอบรับที่ดีจากลูกค้า สร้างรายได้กลับมาให้กับบริษัทได้

หน้าที่หลักของหน่วยงาน Future Lab คือการสร้าง Vision ให้เป็น Mission เป็นดังผู้สร้างตลาดของธุรกิจสื่อสารไร้สาย รวมถึงชี้แนวโน้มของบริการ Wireless Service ให้พันธมิตรผู้ร่วมให้บริการนำไปพัฒนาต่อยอดบริการ

สุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักธุรกิจการให้บริการสื่อสารไร้สายเอไอเอส กล่าวเสริมว่า การทำงานของหน่วยงานนี้จะมุ่งเน้นไปที่การคิดค้น พัฒนา และสร้างบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยนำ เทคโนโลยีและความต้องการผู้ใช้บริการผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เหมาะสมกับ Lifestyle ของผู้ใช้บริการ

"ก่อนหน้านี้มีทีมงานประมาณ 10 คน แต่เมื่อมีการวางกลยุทธ์ในด้านต่างๆ จึงได้มีการเพิ่มทีมงานเพิ่มขึ้นเป็น 20 ชีวิต โดยมาจากหลายสาขาวิชาชีพที่มีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี มีความเข้าใจถึงความต้องการ พฤติกรรมผู้บริโภค มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องธุรกิจ และการตลาด" ปรัธนา ลีลพนัง หนึ่งในทีมงาน Future Lab บอกเล่ากับ "ผู้จัดการ"

การทำงานในหน่วยงาน Future LAB แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นทีมเพื่อวางแผน และพัฒนาบริการในเชิงลึก ประกอบ ด้วยทีม Planning, Enhancement Communication, Multimedia & Entertainment, Enterprise Application และ Finance and Commerce Application

บริการใหม่ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ ของทีม Future LAB จะมีส่วนนำไปทำ OEM กับโรงงานผลิตในต่างประเทศ เพื่อออกแบบเครื่องโทรศัพท์มือถือในรูปแบบเฉพาะของ AIS

"ก้าวต่อไปของ AIS จะเริ่มผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือและซอฟต์แวร์เอง โดยจะจ้างผลิตในแบบ OEM เพื่อให้ได้โทรศัพท์ในแบบที่ต้องการ ไม่ต้องรอแบรนด์ ใหญ่ของต่างชาติอีกต่อไป" กฤษณันกล่าว

ผลงานที่ผ่านมาของ Future Lab ที่เปิดให้บริการไปแล้ว ได้แก่ บริการ TV on Mobile, GSM remote Camera, Digital Pen, mDictionary, Push to Talk เป็นต้น

road map ของบริการในอนาคต ได้มีการวางแผนกลยุทธ์ไว้ล่วงหน้า 18 เดือน ซึ่งเป็นการมองไปข้างหน้าว่าผู้บริโภค ต้องการบริการอะไร

โดยในปีนี้ AIS ตั้งเป้าจะเปิดให้บริการใหม่อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20 บริการ อาทิ mPayment, Speech E-mail, Call Screening, Digi Eye, Location Based Service เป็นต้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.