ดูเหมือนจะเป็นเนื้อหาที่สวนทางกันพอสมควร ระหว่างนิยามของกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้ขับขี่รถ
MINI ที่ถูกสื่อออกมาทาง VCD กับเนื้อหาที่สื่อออกมาผ่านการเดินแฟชั่น ที่เกิดขึ้นในงาน MINI Mania จัดขึ้น ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ดิ เอ็มโพเรี่ยม ชอปปิ้ง คอมเพล็กซ์
ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา
งานนี้เป็นการทำการตลาดร่วมกันระหว่างมิลเลนเนียม ออโต้มินิ หลังสวน ซึ่งเป็นดีลเลอร์อย่างเป็นทางการของ
MINI ประเทศไทย กับพอล สมิธ แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกจากประเทศ อังกฤษ และบิวตี้เจมส์
บริษัทผู้ค้าเพชร
รูปแบบการจัดงานเป็นการนำรถ MINI รุ่นต่างๆ ออกมา โชว์ และมีแคมเปญสำหรับการจัดจำหน่าย
โดยอาศัยการเดินแฟชั่น ซึ่งผู้เดินแบบสวมใส่เสื้อผ้าของพอล สมิธ และอัญมณีของ
บิวตี้เจมส์ เป็นตัวสื่อถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายของรถ
MINI ในบรรยากาศของงานเฟสติวัล
ก่อนเริ่มการเดินแฟชั่น ผู้จัดงานได้นำ VCD ที่เป็นการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ใช้รถ
MINI ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาววัยทำงาน สมกับนิยามของผู้จัด
ที่กำหนดให้กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มเทรนดี้
บุคคลที่ออกมาให้สัมภาษณ์ ล้วนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีการพูดถึงเป้าหมายในการดำรงชีวิตที่ค่อนข้างมีแก่นสาร
และรู้จักใช้เงินที่หามาได้อย่างเป็นประโยชน์ที่สุด
ทั้งหมดให้เหตุผลของการใช้รถ MINI ว่านอกจากความคล่องตัวในการเดินทางในชีวิตประจำวันแล้ว
รถ MINI ยังแสดงออกถึงไลฟ์สไตล์และรสนิยมที่เป็นตัวของตัวเอง
ซึ่งเนื้อหานี้ ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับรูปแบบการเดินแฟชั่น ที่พยายามสื่อให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ของคนที่ชีวิตมุ่งเน้นแต่ความสนุนสนาน
ใช้รถเพื่อเป็นพาหนะพาเพื่อนสาวไปเที่ยว และโอ้อวดเสื้อผ้าและเครื่องเพชรให้แก่กันและกัน
เนื้อหาที่ต้องการสื่อถึงเรื่องของแก่นสาร และสาระในการ ดำรงชีวิตที่น่าจะมีอยู่มากสำหรับคนรุ่นนี้
กลับมีแสดงออกมาให้เห็นได้น้อยจากการเดินแฟชั่น
บางคนเปรียบเปรยว่าเนื้อหาที่สื่อผ่าน VCD แสดงว่าลูกค้ารถ MINI เป็นคนหนุ่มสาวที่หาเงินเก่ง
ซึ่งตรงข้ามกับเนื้อหาของแฟชั่นที่พยายามสื่อว่าคนกลุ่มนี้ เก่งแต่การใช้เงินเพียงอย่างเดียว
เลยเกิดความสับสนว่า กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของรถ MINI เป็นคนประเภทไหนกันแน่...?
การทำตลาดแบบบูรณาการระหว่างสินค้าหลายประเภท มักได้ผลลงเอยเช่นนี้