เทศกาลอาหารไทยครั้งที่ 5 The Cultural Showcase

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ความต่อเนื่องและการเติบโตขึ้นของเทศกาลอาหารไทย หรือ Thai Food Festival (TFF) ในกรุงโตเกียว กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ใหม่ (New Strategic Position) ด้วยการก้าวล่วงข้อจำกัดนิยามของอาหารในฐานะสินค้า ไปสู่การรุกคืบในเชิงวัฒนธรรมที่กำลังลงหลักปักฐานเข้าสู่กลางหัวใจของชาวญี่ปุ่นเลยทีเดียว

เสียงโปงลางบรรเลงเพลงพื้นถิ่นสำเนียงอีสาน ของไทย ดังผ่านเครื่องขยายเสียงเข้าสู่โสตสัมผัส ทำหน้าที่ประหนึ่งบทโหมโรง ขณะที่ส้มตำ บทเพลงในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่มีท่วงทำนองชี้ชวนให้ลิ้มลองอาหารยอดนิยมของไทย ส่งผ่านสัญญาณแห่งการเริ่มต้นของเทศกาลอาหารไทยครั้งที่ 5 ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2547 เป็นการเรียกน้ำย่อย

กิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมบนเวที ย่อมมิใช่จุดใหญ่ใจความของเทศกาลอาหารไทยทั้งระบบ หากเป็นเครื่องเคียงที่เพิ่มสีสันและสร้างเสริมบรรยากาศให้คึกคักและกระชับแน่น ประหนึ่งเครื่องปรุงรสที่มักได้รับการจัดวางไว้กลางสำรับจานหลัก โดยมีซุ้มร้านค้าจำนวนกว่า 225 คูหา ที่ได้รับการจัดสรรให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าไทยรวมกว่า 100 ราย เรียงรายอยู่รอบเวทีกลางแจ้งแห่งนี้

ขณะเดียวกัน พื้นที่บริเวณงานภายในสวน Yoyogi ในเขต Shibuya กลางกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานในครั้งนี้ แม้จะมิได้ใช้เงินงบประมาณลงทุนตกแต่ง สถานที่ให้อลังการด้วยศาลาเรือนไทย เหมือนกิจกรรมของภาครัฐไทยในต่างแดนอื่นๆ ที่มักมีจุดเน้นอยู่ที่ Thai Pavilion และการประดิดประดอยเพื่อการประดับ แต่กลิ่นอายของความเป็นไทยก็กระจายอยู่ทั่วทั้งบริเวณงานอย่างเรียบง่ายและเป็นกันเอง

หากประเมินอย่างผิวเผินเทศกาลอาหารไทยครั้งที่ 5 ที่จัดและอำนวยการโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว ซึ่งริเริ่มและดำเนินมาต่อเนื่องในลักษณะของกิจกรรมประจำปี ตั้งแต่เมื่อปี 2543 อาจจะมิได้มีรูปแบบของการจัดงานแต่ละครั้งแตกต่างกันมากนัก แต่แนวความคิดในเรื่องของการจัดการและสิ่งที่ต้องการนำเสนอต่างหากที่กำลังพัฒนาไป

"เราไม่ได้ต้องการที่จะขายสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หากแต่เราต้องการนำเสนอวัฒนธรรมไทยทั้งระบบเท่าที่เราจะทำได้ให้เข้าสู่การรับรู้ของประชาชนชาวญี่ปุ่น ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางการค้าที่มีค่ามากกว่าการส่งเสริมสินค้าตามฤดูกาลอย่างที่ดำเนินกันอยู่" กษิต ภิรมย์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว บอก "ผู้จัดการ"

สอดคล้องกับมิติของการดำเนินนโยบาย การทูตเชิง วัฒนธรรม ที่ได้รับการกล่าวถึงในระบบเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น ท่ามกลางสินค้าและทุนทางวัฒนธรรมที่หลั่งไหลเข้าสู่การรับรู้ของตลาดในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ภายใต้นโยบาย และคำขวัญที่ว่า "ครัวไทยสู่โลก" ซึ่งเป็นความพยายามที่จะส่งเสริมอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร ของไทยให้เป็นที่รู้จักและนิยมบริโภคในระดับนานาชาติ กิจกรรมทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายจากหน่วยงานภาครัฐ ต่างได้รับแรงผลักดันให้ต้องเร่งขยายช่องทางการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งในหลายกรณีได้กลายเป็นการเร่งทำการตลาด แบบ hard sell ควบคู่กับความพยายามในการจัดหาคู่ค้า ที่นอกจากจะไม่ได้ผลเท่าที่ควรแล้ว ยังเป็นการละเลยมิติทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในอาหารด้วย

เนื่องเพราะอาหาร มีนัยเกี่ยวเนื่องกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น แตกต่างจากสินค้าประเภท รองเท้าและเครื่องนุ่งห่ม ที่ลำพังมีตัวเลขกำลังการผลิตสูงคุณภาพดีราคาถูก ก็สามารถแสวงตลาดได้กว้างขวางอย่างที่หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่คุ้นเคย

ภาพสะท้อนอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยพื้นถิ่น ที่สังเกตได้จากผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่มาร่วมออกร้านในเทศกาลอาหารไทย ครั้งที่ 5 นี้ เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อร้าน ไม่ว่าจะเป็นคนโคราช หรือชัยภูมิ ซึ่งฉายให้เห็นจุดเน้นความเป็นผู้ชำนาญการในอาหารพื้นบ้านอีสาน รวมถึงบางกอกที่ย้ำให้เห็นถึงความหลากหลายในอาหารประเภทแกงของไทยภาคกลางได้อย่างชัดเจน

ขณะที่เบียร์ภูเก็ตที่ผลิตโดยไทยอมฤตบริวเวอรี่ และเริ่มเข้ามาเปิดตลาดในญี่ปุ่น กำลังเบียดแทรกเบียร์สิงห์ และเบียร์ช้าง ด้วยสัญญาของการเป็นเบียร์ประจำถิ่น (regional beer) อย่างได้ผลด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากร้านค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ ร้านอาหารไทยแล้ว บริเวณงานยังประกอบด้วยการออกร้าน ของผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและผลไม้ไทย

แต่ที่ต่างจากปีก่อน อยู่ที่การนำช่างฝีมือหัตถกรรม ไทย ทั้งการปั้นเครื่องดินเผา การประดิษฐ์หัวโขน การเขียน ภาพลายไทยและลายรดน้ำ การปักผ้า ชุดนาฏศิลป์ไทยและหัตถกรรมประดิษฐ์จากใบลาน มาร่วมแสดงสาธิต ควบคู่กับกิจกรรมบนเวทีของคณะนาฏศิลป์โปงลาง วงดนตรีบอยไทย และการแสดงของภัทราวดีเธียเตอร์ ที่มีจุดเน้นอยู่ที่การนำเสนอศิลปวัฒนธรรม ไทยผสานเข้ากับความเป็นสากล

ผลต่อเนื่องจากความสำเร็จในอดีต ส่งผลให้เทศกาลอาหารไทยที่มีระยะเวลาของงาน 2-3 วัน ในแต่ละปี กลายเป็นวันนัดรวมพลแฟนพันธุ์แท้อาหารและวัฒนธรรมไทยในญี่ปุ่น ซึ่งหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่บริเวณงานไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000-250,000 คน และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นทุกขณะ

เป็นการเติบโตขึ้น พร้อมๆ กับจำนวนร้าน อาหารไทย ที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น ซึ่งหันมาพิจารณาศักยภาพทางการตลาดของอาหารและสินค้าจากไทยมากขึ้น ภายใต้ทัศนะในการประกอบการที่ครบวงจร ด้วยสรรพกำลังทางทุน ที่มีมากกว่าผู้ประกอบการชาวไทยอย่างมิอาจเทียบได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.