เมื่อ 15 ปีที่แล้ว "Theatre" ถือเป็น น้องใหม่ในวงการแฟชั่นดีไซเนอร์ของเมืองไทย
จากความสำเร็จในการเปิดตัวร้านแรก ณ ชาญอิสสระทาวเวอร์ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นสถานที่เฟื่องมากในหมู่สังคมยุคใหม่
จากนั้น Theatre ก็ขยายสาขาไปตามแหล่งชอปปิ้งเซ็น- เตอร์ศูนย์รวมวัยรุ่นแห่งอื่นอีก
จนปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 สาขา คือ เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์, สยามเซ็นเตอร์, เซ็นทรัล
ลาดพร้าว และเซ็นทรัล บางนา
ศิริชัยเล่าว่า Theatre เกิดจากการที่เขามีโอกาสได้เข้าไปคลุกคลีอยู่ในวงการแฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทย
ตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ที่เพาะช่าง เขาได้ติดตามเพื่อนเข้าไปช่วยงานสมชาย
แก้วทอง เจ้าของแบรนด์ "ไข่บูติก" ที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น โดยเขาทำหน้าที่เป็นคนทำเครื่องประดับที่ใช้ในการเดินแฟชั่นของไข่บูติก
ซึ่งเขาคิดว่า เป็นความโชคดี ของเขาที่ได้เข้ามาในวงการนี้ เพราะทำ ให้เขารู้จักกับผู้คนมากมาย
ทั้งดีไซเนอร์ นางแบบ ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ทำให้เกิด
"Theatre" ขึ้นมา แต่ในวันนั้นเขาไม่เคยคิดว่าจะต้องอยู่ในวงการนี้มาจวบจนทุกวันนี้
ระหว่างที่เขาช่วยงานไข่บูติกอยู่ได้ประมาณ 2-3 ปี เขาก็เรียนจบ และว่างงานอยู่ประมาณ
8 เดือน ดวงตา นันทขว้าง เจ้าของร้านเสื้อผ้า "โซดา" สาขาแรกที่สยามเซ็นเตอร์
ได้รับเขาเข้าทำงาน โดยให้ดูแลในส่วนของหน้าร้านทั้งหมด ขณะเดียวกันเขาก็รับจ้างทำเครื่องประดับฝากขายควบคู่ไปด้วย
หลังจากทำงานเก็บหอมรอมริบได้เงินก้อนหนึ่ง เขาก็เริ่มคิดอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
และธุรกิจที่เขาเลือกที่จะทำกลับเป็น "เสื้อผ้า" ไม่ใช่ "เครื่องประดับ"
ที่คนในวงการแฟชั่นสมัยนั้นรู้จักฝีมือของเขาดี
"ผมคิดว่า เวลานั้นเป็นช่วงที่เหมาะสมที่จะทำเสื้อผ้า เพราะยังไม่มีใครลุกขึ้นมาเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆ
เลย และประกอบกับผมรู้จักคนในแวดวงนี้ ที่พอจะให้ความสนับสนุนกันได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี"
ศิริชัยกล่าวถึงที่มาของ "Theatre" ห้องเสื้อน้องใหม่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว
สำหรับชื่อของ "Theatre" นั้น เขาบอกเหตุผลที่เลือกชื่อนี้ เนื่องจากต้องการให้เป็นชื่อที่ติดปากได้ง่าย
และที่สำคัญคือ ความหมายของคำนี้ที่หมาย ถึง "โรงละครหนึ่งที่มีเรื่องราวหลากหลายเกิดขึ้น"
ซึ่งเขาคิดว่าเป็นความหมายที่เหมาะกับแนวเสื้อผ้าของเขา ที่เน้นในแนวโรแมนติก
แฟนตาซี หวือหวา แหวกแนว ซึ่งเป็นดีไซน์จากฝีมือ เขาเองล้วนๆ "ในช่วงนั้นเสื้อจะมาแรงมาก
แต่ในยุคใหม่จะไม่ค่อยมีบรรยา- กาศเหล่านั้นแล้ว" ศิริชัยเล่า พร้อมทั้งกล่าวถึงคอนเซ็ปต์ในการทำเสื้อในยุคใหม่ว่าจะแบ่งออกเป็น
3 ประเภท คือ เสื้อผ้าทำงาน เสื้อผ้าลำลอง และที่จะขาด ไม่ได้คือ เสื้อผ้าสำหรับงานกลางคืน
ที่อยู่เคียงคู่ Theatre มาตลอด 15 ปี
"ตอนที่เราเริ่มต้นร้าน ลูกค้ายังอยู่ในวัยเดียวกับเราคือประมาณ 19-20
ปี หลังจากนั้นลูกค้ากลุ่มเดิมก็เติบโตขึ้น เข้าสู่วัยทำงาน เราก็ต้องทำเสื้อผ้าทำงาน
ให้เขาใส่ ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าใหม่ๆ ที่ เป็นวัยรุ่นเข้ามาด้วย เราก็ต้องมีเสื้อผ้าสบายๆ
ที่ให้เขาเลือกใส่ได้ง่ายในวันธรรมดาด้วย" ศิริชัยกล่าว
ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ศิริ-ชัยเล่าว่าช่วงที่เหนื่อยที่สุดคือ ช่วงที่เศรษฐกิจบูมมากๆ
เมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในยุคนั้นเป็นยุคเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าสมัยนายกชาติชาย
ชุณหะวัณ ที่ทำให้กระแสการเงินสะพัดมาก สินค้าแบรนด์ดังจากเมืองนอกต่างไหลเข้ามาเติบโตในเมืองไทย
และคนที่แย่คือ ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ไทย ที่ถูกแย่งตลาดไปเกือบหมด
"ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราทำงานยากมาก เนื่องจากตอนที่เราทำในช่วงแรก
ยังมีคู่แข่งไม่มาก แต่พอมีแบรนด์นอกเข้ามา ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก โจทย์เรายากขึ้น
เราต้องตั้งใจทำงานมากขึ้น เพราะเจอคู่แข่งที่ชัดเจนมากทั้งในแง่ของ คุณภาพ
ดีไซน์ และภาพพจน์ของแบรนด์ ทำให้สินค้าเรามีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
เราจึงต้องลุกขึ้นมาปรับปรุงการทำงานขนานใหญ่ตั้งแต่การดีไซน์ ไปจนถึงการทำงานที่เป็นระบบ"
ศิริชัยเล่า และสิ่งสำคัญที่ทำให้ Theatre อยู่มาได้จนทุกวันนี้คือ "ราคา"
ที่สมกับ "คุณภาพ" นั่นเอง
"ในวันนั้นเรายึดคอนเซ็ปต์ว่า เราจะทำเสื้อผ้าในแนวที่คนไทยบริโภค ลูกค้าเราอาจจะเปลี่ยนกลุ่มไป
คนที่ยังมีกำลังซื้อก็อาจจะไปสนใจแบรนด์นอกบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าทั่วๆ
ไปที่คงจ่ายได้ไม่มากนัก เราจึงพยายามเสนอสินค้าของเราให้กับลูกค้าในกลุ่มหลังนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในช่วงนั้นว่า
เราเป็นแบรนด์ไทยที่มีคุณภาพดี ราคาสมเหตุสมผล ดีไซน์ทันสมัย และในที่สุด
ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป คือ แบรนด์ไทยต่างหากที่สามารถอยู่ต่อไปได้" ศิริชัยกล่าวอย่างภูมิใจ
"ผมไม่เคยท้อใจ เพราะผมคิดว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เราจะสามารถผ่านวิกฤติต่างๆ
ไปได้หรือไม่"
และในวันนี้เขาต้องเผชิญกับวิกฤติอีกครั้ง แต่วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติที่เกิดจากการสู้รบภายในเอง
มิใช่มีคู่แข่งจากต่างประเทศเป็นโจทย์หลักอย่าง ที่ผ่านมา
"วิกฤติการณ์ในครั้งนี้ ยอดขายเราลดลงประมาณ 30% แต่ไม่ถึงขั้นที่เรา
ต้องปิดกิจการ เพียงแต่เราต้องพยายาม ประคับประคองธุรกิจของเราให้ผ่านพ้นไปได้ในแต่ละเดือน
ด้วยการพยายามลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เพื่อคุมต้นทุนไม่ให้มากเกินไป ในขณะที่ราคาเราก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น
เรายอมให้กำไรลดลง เพื่อรักษายอดขายให้คงไว้" ศิริชัยกล่าว
วันนี้ Theatre ยังคงเป็นธุรกิจส่วนตัวของศิริชัย 100% โดยไม่มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด
มีพนักงานประมาณ 25 คน มีเขาดูแลในส่วนของงานดีไซน์งานผลิต และมีพี่สาว คือ
สุขใจ ทหรานนท์ มาช่วยในเรื่องของการจัดการและการบริหารทั้งหมด
"ผมคิดว่า เป็นอาชีพของผมซึ่ง แต่ละคนทำธุรกิจแต่ละคนจะมีคาแรก เตอร์ของตัวเอง
ซึ่งในลักษณะที่ผมทำอยู่ก็เป็นคาแรกเตอร์ของผม ผมมีแนวทางในการดำเนินงานของผมว่า
ผมมีกำลังผลิตได้เท่านี้ ผมก็ทำเท่านี้ อาจจะถามผมว่า ไม่คิดจะส่งออกหรือ
ผมก็บอกว่า ผมยังไม่พร้อม ณ เวลานี้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผม"
เป็นมุมมองของชายหนุ่มผู้นี้ต่อการดำเนินธุรกิจของเขา พร้อมทั้งให้เหตุผลของการที่ยังไม่ทำเสื้อผ้าเพื่อการส่งออกด้วยว่า
" ผมคิดว่าเราต้องทำในประเทศให้ดีที่สุดก่อน ผมคิดว่า เราควรจะทำสินค้าเราให้ได้มาตรฐานเดียวกับสิน
ค้านำเข้าแบรนด์นอกให้ได้ก่อน ซึ่งผมได้แต่หวังว่าผมจะทำให้ถึงมาตรฐานนั้น
เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้าที่เป็นเรื่องที่จุกจิกละเอียดลออมาก
และผมคิดว่า เป็นเรื่องยากมากที่เราจะไปเปิดร้านในย่านแฟชั่นดังๆ ของโลก
แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีคนมาซื้อสินค้าเราและไปวางขายในต่างประเทศร่วมกับแบรนด์
อื่นผมว่าง่ายกว่า"
สำหรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม ศิริชัยกล่าวอย่างจริงจังว่า
"ผมไม่เคยหวังว่า ทางการจะมาช่วยอะไรผม เพราะผมยังไม่ประสบปัญหาอะไร เนื่องจากผมไม่ได้ส่งออก
ถ้าผมส่งออก ผมอาจจะต้องการความช่วยเหลือ แต่ตอนนี้ผมคิดว่า การที่เราทำด้วยตัวเอง
เราจะมีความเป็นอิสระมากกว่า ไม่ต้องรอพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนที่มากมายและล่าช้า
ยิ่งกว่านั้นสินค้าของผมไม่ใช่แมสโปรดักส์ที่ผลิตจำนวนมากๆ รัฐบาลเองก็คงไม่สนใจอยู่แล้ว"
แต่สิ่งที่เขาหวังคือ อยากให้โรงงานใหญ่ๆ ที่มีมาตรฐานเปิดโอกาสที่จะผลิตเสื้อผ้าที่มีดีไซน์จำนวนน้อยๆ
บ้าง ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่เขาก็ไม่ละความพยายามที่จะเข้าไปเจรจากับโรงงานใหญ่ๆ
เพื่อผลิตเสื้อผ้าลำลอง เชิ้ต กางเกง หรือแจ๊คเก็ต และเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า
วันหนึ่งในอนาคต หากเขาพร้อมที่จะก้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ หรือหากรัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมดีไซเนอร์
เขาอาจจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น
ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนเพียงส่วนหนึ่งของผู้ผลิตเสื้อผ้าที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเมืองไทย
ซึ่งพวกเขายังไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้ภาครัฐหันมาใส่ใจอย่างจริงจังได้
ข้อสรุปของทั้ง 2 แบรนด์ในวันนี้ มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างที่คล้ายกันอยู่
คือ แตกต่างกันในเรื่องของ นโยบายการทำธุรกิจ ซึ่ง Greyhound เริ่มมองไกลไปยังตลาดในต่างประเทศ
ในขณะที่ Theatre ยังคงมุ่งเน้นตลาดในประเทศให้แข็งแกร่งก่อน แต่ทั้ง 2 แบรนด์
มีความต้องการเหมือนกันคือ ต้องการการสนับสนุนอย่างแท้จริง มิใช่เป็นส่วนที่ถูกลืม
เหมือนกับธุรกิจรายเล็กๆ ในอีกหลายอุตสาหกรรมเพียงเพราะไม่ได้เป็น Mass Product