บีอีซีเวิลด์ King of cash

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

อายุสัมปทานของสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ยังเหลือเวลาอีก 16 ปี แต่กระนั้นก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐอยู่เสมอ แต่ด้วยสไตล์การบริหารแบบอนุรักษนิยมของเจ้าของอย่างตระกูล "มาลีนนท์" ทำให้ฐานะการเงินยังแข็งแรง และร่ำรวยในฐานะ King of cash ที่มีกระแสเงินสด (Free cash flow) เป็นสภาพคล่องกว่า 3 พันล้าน

ดูจากผลดำเนินงานในปี 2546 ของบีอีซีเวิลด์และบริษัทในเครือ 25 กิจการได้ขยายตัวช้าๆ ฐานสินทรัพย์รวมมีไม่ต่ำกว่า 6,892 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิปีที่แล้วโตเพิ่มขึ้นถึง 18% หรือเป็นเงินกำไร 1,969.85 ล้านบาท (กำไร 0.98 บาทต่อหุ้น) จากรายได้รวม 6,239.04 ล้านบาท (ดูตาราง)

ล่าสุดผลงานไตรมาสแรกของปี 2547 รายได้ของบีอีซีเวิลด์ ต่ำกว่าเดิม 100 ล้านบาท โดย 3 เดือนแรกของปีนี้ทำรายได้รวม 1,420 ล้านบาท เทียบกับเงินรายได้ 1,520 ล้านบาทในไตรมาสสี่ปีที่แล้ว เป็นผลจากการห้ามโฆษณาเหล้าเบียร์ของรัฐ

ยิ่งดูผลกำไรสุทธิไตรมาสแรกปีนี้ที่ประกาศ 431 ล้านบาท ถ้าหักการขายเงินลงทุนในบริษัทร่วม 26 ล้าน จะมีกำไรจริงๆ 405 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 542 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีที่แล้วถึง 25% ทีเดียว

สาเหตุของกำไรที่ต่ำกว่าคาดนี้ ว่ากันตามเนื้อผ้าก็มาจากต้นทุนการผลิตหนังเรื่องทวิภพและต้นทุนละคร สูงกว่าการนำเข้าภาพยนตร์ชุดจากไต้หวันมาฉายในปีที่แล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีกจาก 12% เป็น 14% รวมถึงภาระภาษีจ่ายเพิ่มจาก 25% เป็น 29% ของกำไรด้วย

ขณะที่ปัจจัยด้านรายได้ค่าโฆษณาลดลง 2% จากปลายปีที่แล้ว 1,326 เหลือ 1,299 ล้านบาทในไตรมาสแรกนี้ ทั้งนี้เพราะผลกระทบโดยตรงจากนโยบายรัฐช่วงปลายปีที่แล้ว ที่ห้ามโฆษณาสุราเบียร์ตั้งแต่ตีห้าถึงสี่ทุ่ม แม้ว่ารายได้จากโฆษณาสุราเบียร์นั้นแค่ 4% ของเม็ดเงินโฆษณาในทีวีที่สูงถึง 11,173 ล้านบาท ในไตรมาสแรกก็ตาม

แต่ช่อง 3 แก้เกมธุรกิจนี้โดยปรับค่าโฆษณาช่วงไพร์มไทม์ขึ้น 8-12% ตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อชดเชยการขายโฆษณาที่ลดลงจากนโยบายรัฐห้ามโฆษณาเหล้าเบียร์ดังกล่าว

โดยรวมเรตติ้งสถานีช่อง 3 มีส่วนแบ่งผู้ชมประมาณ 25% ต่ำกว่าคู่แข่งอย่างช่อง 7 สีซึ่งมีส่วนแบ่งสูงสุด 40%

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างปี 2543-2546 สินทรัพย์รวมของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่เคยมีอยู่ 8,532.72 ล้านบาท ในปี 2545 ได้ลดลงเหลือ 6,892.35 ล้านบาท หรือลด -19% ในปีที่แล้วแต่เพิ่มเป็น 7,437 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2547 นี้เอง

สาเหตุเพราะว่าปลายปีที่แล้ว บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลพิเศษ 2,000 ล้านบาท ทำให้ในส่วนผู้ถือหุ้นที่มีกำไรสะสมลดลงจาก 2,740 ล้านเหลือ 1,010 ล้านบาท และในบัญชีสินทรัพย์หมุนเวียน กลุ่มได้ปรับเม็ดเงินลงทุนชั่วคราวลงในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นลงจาก 60% เหลือ 30% เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้มูลค่าของเงินลงทุนระยะสั้นในสินทรัพย์หมุนเวียนลดลงจาก 3,035 ล้าน เหลือ 1,180 ล้านบาท

ทั้งนี้สินทรัพย์ที่เป็นค่าเช่าภาพยนตร์ ค่าผลิตภัณฑ์ภาพยนตร์ ค่าละคร และลิขสิทธิ์รอตัดบัญชีที่มีบัญชียอดรวมทั้งกลุ่มสูงขึ้นถึง 2,862 ล้านบาท ในปี 2545 เพราะว่าเร่งผลิตรายการละครแก้ปัญหาขาดแคลนปี 2544-45 ปรากฏว่าในปี 2546 สภาพเริ่มปกติ ต้นทุนค่ารายการคงยกยอดสุทธิไปเหลือแค่ 1,464 ล้านกว่าบาท และไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มเป็น 1,518 ล้านบาท

ส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 19% หรือรวมประมาณ 3,496 ล้านบาท เพราะปรับเพิ่มค่าตอบ แทนของพนักงานและต้นทุนค่าใช้จ่ายการขายเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การย้ายจากเอ็มโพเรียมไปยังสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่อาคารมาลีนนท์ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคมปีนี้ BEC ได้ทำสัญญาเช่าระยะยาว โดยอัตราค่าเช่า 320 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเช่า

ราคาหุ้น BEC นับจากวันแตกพาร์ 1 บาท จำนวน 2,000 ล้านหุ้นที่เพิ่มมาร์เก็ตแคป มูลค่าไม่ต่ำกว่า 45,200 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2546 จนถึงไตรมาสแรกปีนี้อยู่ในภาวะขาลงที่ผกผันกับหุ้นไอทีวีที่ราคาสูงขึ้น เพราะรับปัจจัยบวกจากข่าวอนุญาฯ และข่าวไตรภพย้ายวิก ขณะที่หุ้น BEC มีราคาปิด ณ 17 พ.ค.ปิดที่ 16.10 บาท ปัจจุบันตระกูลมาลีนนท์มีสัดส่วนถือหุ้น BEC 56.8% โดยประวิทย์ มาลีนนท์ถือหุ้น 11.42%

อย่างไรก็ตาม ฐานะการเงินของบีอีซีเวิลด์ยังแข็งแรง มีฐานะเงินสดสุทธิถึง 3,325 ล้านบาท ที่นักลงทุนยังมองว่าเป็นผู้นำในวงการโทรทัศน์ที่แข็งแรง ไม่มีหนี้สิน และหุ้น BEC สามารถจ่ายปันผลในระดับน่าสนใจต่อเนื่อง จนเป็นที่คาดหวังว่าปีนี้จะกำไรสุทธิ 2,101 ล้านบาท และจะสามารถจ่ายปันผลขั้นต่ำหุ้นละ 1 บาท คำแนะนำของโบรกเกอร์จึงเสนอ "ซื้อ" แบบทยอยสะสม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.