นักท่องเที่ยวหน้าใหม่ของโลก


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

นักท่องเที่ยวเศรษฐีใหม่กำลังหลั่งไหลออกจากจีนและอินเดียเข้าสู่เอเชีย และกำลังจะบุกไปทั่วโลกในอีกไม่นาน

นักท่องเที่ยวหน้าใหม่กำลังหลั่งไหลออกจากจีนและอินเดีย 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชีย ด้วยจำนวนมหาศาลที่ไม่มีใครจะเมินหน้าหนีได้

เพียงนักท่องเที่ยวจากจีนชาติเดียว ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคนแล้ว ภายในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น ในขณะที่กว่านักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะมีจำนวนมากถึงขนาดนี้ ต้องใช้เวลาถึง 30 ปีเลยทีเดียว

และแม้จะรวมเอานักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักหน้าเก่าอย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์เข้าไปด้วย ก็ยังไม่อาจจะเทียบกับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ทั้ง 2 กลุ่มได้

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเอเชียถึงกับต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวหน้าใหม่รายใหญ่ ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่นักท่องเที่ยวหน้าเดิมๆ เพราะพวกเขาไม่มีอะไรเหมือนนักท่องเที่ยว อื่นๆ ที่เอเชียเคยต้อนรับมา พวกเขาใช้เงินน้อยกว่า ชอบพักช่วงสั้นๆ และชอบมากับทัวร์

การหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้ฮ่องกงต้องเปลี่ยนมาสร้างโรงแรมระดับ 3 ดาวแทนระดับ 5 ดาวที่หรูหราเกินไป ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายร้อยแห่ง ซึ่งเคยตั้งเป้าดึงดูดแต่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นกระเป๋าหนักด้วยของแพงๆ ต้องเปลี่ยนมาตุนสินค้าราคาถูกกว่าอย่างกล้องดิจิตอล

สิงคโปร์ตัดสินใจออกวีซ่าแบบ multiple entry เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากแดนภารตะ นอกจากนี้ยังคาดว่า สายการบินราคา ประหยัดคงจะเจริญรุ่งเรืองดีในภูมิภาคนี้ เพราะการชอบของถูกของนักท่องเที่ยวทั้ง 2 กลุ่มนี้นั่นเอง

นักท่องเที่ยวหน้าใหม่ทั้ง 2 กลุ่ม ยังทำให้วิธีการแบ่งประเภททัวร์เป็นในประเทศและต่างประเทศแบบเดิม กลายเป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้

แนวคิดใหม่ที่มาแทนที่คือ "total tourism" ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างพรมแดนแทบจะไม่มีความหมาย นักท่องเที่ยวในประเทศของวันนี้ สามารถเปลี่ยนไปเป็นนักท่องเที่ยว ต่างประเทศของวันพรุ่งนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ปีที่แล้ว ชนชั้นกลางอินเดียออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากถึง 300 ล้านคน และใช้จ่ายเงินเกือบ 9.2 พัน ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 6.2 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2002

การที่ชาวอินเดียจำนวนมหาศาลเกิดรักการท่องเที่ยวขึ้นมาพร้อมๆ กันอย่างนี้ เกิดจากหลายเหตุผลผสมกัน ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ราคาหุ้นที่พุ่งขึ้น และการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่ทำให้ค่าเครื่องบินถูกลง และทำให้มีการสร้างถนนมากขึ้น

ชาวอินเดียยังเดินทางออกนอกประเทศเป็นว่าเล่นในปีที่แล้ว โดยมีจำนวนมากถึง 4.5 ล้านคน ซึ่งทำให้เงินตราต่างประเทศต้องรั่วไหลออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะอินเดียไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้าประเทศได้มากเท่า

ส่วนจีน ซึ่งเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจก่อนหน้าอินเดีย 10 ปี และได้เห็นการเติบโตของชนชั้นกลางมาก่อนอินเดีย ในปี 2003 ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเกือบ 800 ล้านเที่ยวและเดินทางไปเที่ยวที่ฮ่องกงและมาเก๊าอีกมากกว่า 14 ล้านเที่ยว และอีก 800,000 เที่ยว ไปยังจุดหมายในต่างประเทศยอดนิยมของชาวจีน นั่นคือประเทศไทยของเรานี่เอง

รัฐบาลทั่วเอเชียตะวันออกจึงรีบงัดพรมแดงออกมาปูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีนกันอย่างยกใหญ่

อย่างเช่นเกาหลีใต้ ซึ่งพยายามมา 10 ปีที่จะชักจูงชาวจีนให้มาเที่ยว สามารถ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน จาก 212,000 คน ในปี 1999 มาเป็น 550,000 คน ในปี 2003 หรือเป็นที่สองรองจากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเท่านั้น

โดยมีสินค้าท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ที่ชาวจีนนิยมมากที่สุด 3 อย่างคือ ชายหาด ที่เกาะ Jeju แหล่งชอปปิ้งของถูกในกรุงโซล และการนั่งรถไปเที่ยวสถานที่ที่เคยเป็นฉากในละครน้ำเน่ายอดฮิตของเกาหลีที่ไปฉายในจีน

แม้ว่าตอนนี้ นักท่องเที่ยวจากแดนมังกรและแดนภารตะ จะยังคงนิยมเที่ยวใกล้บ้าน แต่อีกไม่นานพวกเขาจะบุกไปทั่วโลก นักท่องเที่ยวจากอินเดียเริ่มปรากฏตัวให้เห็นในนิวซีแลนด์มากขึ้น 3 เท่าจากเมื่อ 5 ปีก่อน ส่วนนักท่องเที่ยว ชาวจีนก็ไปเยือนออสเตรเลียมากขึ้น 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

แม้กระทั่งที่ญี่ปุ่นซึ่งค่าครองชีพสุดโหด ก็ยังมีชาวจีนเกือบ 20,000 คน ดั้นด้นไปเที่ยวที่นี่เมื่อปีที่แล้ว จนชาวญี่ปุ่นเริ่มรู้สึกถึงความแตกต่างของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กับกลุ่มอื่นๆ กล่าวคือ

นักท่องเที่ยวจากแดนมังกรไม่สนใจเมืองโบราณอย่างเกียวโต และนาระ เพราะประวัติศาสตร์ของจีนเอง ยาวนานกว่าญี่ปุ่นมากนัก พวกเขาไม่สนใจย่านกินซ่า แหล่งชอปปิ้งของแพง แต่กลับเจาะจงที่จะไปยังร้านขายเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ใน Akihabara และชอบที่จะเดินเที่ยวชมโชว์รูมรถยนต์ Toyota ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร และกิจกรรมสุดโปรดอีกอย่างของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ญี่ปุ่นก็คือ การโดยสารรถไฟหัวกระสุนอันโด่งดัง ซึ่งเป็นประสบการณ์การเดินทางที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต

แปลและเรียบเรียงจาก
Newsweek, April 19/ April 26, 2004
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.