กบข.เพิ่มพอร์ตหุ้น9พันล. เน้นลงทุนตราสารหนี้สั้น


ผู้จัดการรายวัน(25 พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

กบข. ปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ รับมือดอกเบี้ยแนวโน้ม สูงขึ้น หันลงทุนตราสารหนี้อายุสั้นลง หวังลดความผันผวนผลตอบแทนกองทุนฯ เฉลี่ย ขณะที่เพิ่มการลงทุนตราสารต่างประเทศอีก 25% เป็น 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 2 ปี พร้อมปรับลดคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยปีนี้ เหลือ 750-800 จุด แต่เพิ่มพอร์ตลงทุนหุ้นไทยอีก 7-9 พันล้านบาท เป็นประมาณ 16-17% เพราะยังเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยแนวโน้มแข็งแกร่ง โตประมาณ 6.5% ปีนี้

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข.ปรับกลยุทธ์การลงทุนที่ลงทุนตราสารหนี้ โดยขายตราสารหนี้ระยะยาว หันไปลงทุน ตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งขณะนี้ พอร์ต กบข. ลดการถือตราสารหนี้อายุเฉลี่ยประมาณเกือบ 2 ปีลง จากเดิม อายุเฉลี่ยประมาณ 2.5 ปี สาเหตุที่เปลี่ยนกลยุทธ์ เพราะคาดการณ์แล้วว่า อัตราดอกเบี้ยแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องการช่วยลดความผันผวนตลาดตราสารหนี้ และผลตอบแทนกองทุน กบข. ที่ลงทุนส่วนนี้

นอกจากนี้ กบข. จะพักเงินบางส่วน ซึ่งจะลงทุนระยะสั้นและปานกลาง ในตั๋วแลกเงิน หรือฝากเงินกับสถาบันการเงิน บางส่วน จะลงทุนตลาดหุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของดอกเบี้ย และรอให้ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปก่อน

"กบข.จะพักเงินบางส่วน เพื่อรอให้มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นไปก่อน ดังนั้น จะมุ่งลงทุนในตราสารหนี้ ระยะสั้นถึงปานกลาง มีอายุตั้งแต่ 1-2 ปี หรือลงทุน ในตราสารประเภทที่ไม่มีผลต่อการมาร์กทูมาร์เกต (อัตราตลาด ณ ขณะนั้นๆ) เพื่อที่จะปรับพอร์ตให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากการคำนวณด้วยวิธีมาร์กทูมาร์เกต" นายวิสิฐกล่าว

ปัจจุบัน กบข.มีสินทรัพย์สุทธิทั้งสิ้น 2.4 แสนล้านบาท อัตราผลตอบแทนสุทธิสะสมย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2546 เฉลี่ย 8.6% โดยสัดส่วนการลงทุน จะยึดความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก

โดยจะกระจายลงทุนพันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ 35% ตราสารหนี้อื่นๆ 25% และเงินฝากธนาคาร 21% ส่วนที่เหลือ ลงทุนตราสารทุน หรือตลาดหุ้น 13% อสังหาริมทรัพย์และลงทุนทางเลือกอื่นๆ 6%

นอกจากนี้ กบข.ยังจัดสรรเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท ลงทุนตราสารต่างประเทศ โดยลงทุนในรูปหน่วยลงทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ของไทย ที่มีพันธมิตรต่างประเทศขณะนี้ รับผลตอบแทนแล้วประมาณ 4.5% ซึ่งเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากตราสารหนี้ในประเทศไทย ถือว่าได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า

นายวิสิฐกล่าวว่า กบข. ยังมีแผนจะลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านบาทในตราสารหนี้ต่างประเทศ ประมาณ 50% ของเงินส่วนนี้ จะลงทุนผ่าน บลจ.ของไทย อีก 50% จะลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ ที่มีความชำนาญการลงทุน รวมทั้งยังมีแผน จะลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศประมาณ 10% ของพอร์ตโดยรวม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 2 ปีข้างหน้า

ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ที่ผ่านมา กบข. ปรับลดประมาณการดัชนีหุ้นไทยลง เนื่องจากมีปัจจัย ภายนอกหลายประการ เช่น การปรับตัวสูงของราคา น้ำมันดิบตลาดโลก การขึ้นดอกเบี้ยต่างประเทศ ที่จะมีผลกระทบตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงตลาดทุนไทย ซึ่งสอดคล้องกับบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง ที่ปรับลดลงก่อนหน้านี้เช่นกัน

โดย กบข.ประเมินว่า อัตราเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ของไทย จะอยู่ 6.5% ปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย น่าจะอยู่ที่ 750-800 จุดสิ้นปีนี้ ซึ่งดัชนีระดับดังกล่าว เมื่อเทียบกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ที่ยังแข็งแกร่ง น่าลงทุน

ดังนั้น กบข. จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นไทย จากปัจจุบัน 13% ของพอร์ต กบข. ทั้งหมด หรือประมาณ 3.12 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในปลายปีนี้ จะเพิ่มเป็น 16-17% หรือประมาณ 3.84-4.08 หมื่นล้านบาท โดยพอร์ตการลงทุนของ กบข. จะถือ 30-40 หลักทรัพย์ ซึ่งไตรมาสแรก ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทยดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นโดยรวมประมาณ 3%

"ปกติ กบข.จะคาดว่า จะมีผลตอบแทนประมาณ 4-5% (ต่อปี) แต่ในปีที่แล้ว ที่มีผลตอบแทน ในระดับ 11.8% ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดหุ้นไทยในช่วง ปลายปีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ถ้าตัดปัจจัยนี้ออกไปจะพบว่า อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 3-5 ปี น่าจะอยู่ในระดับ 6-7% แต่ถ้าเป็นผลตอบแทบจากตลาดหุ้น น่าจะอยู่ในระดับ 15-20% แต่ในส่วนของความผันผวนของตลาดหุ้นไทย พบว่าในระยะเวลา 3 ปี จะมีอัตราเฉลี่ยความผันผวนประมาณ 30% ขณะที่ของตลาดหุ้นต่างประเทศ อยู่ในระดับ 18-20% เท่านั้น" นายวิสิฐกล่าว

สำหรับการลงทุนของ กบข.ที่ร่วมกับพันธมิตร เช่น กองทุนเปิดไทยสร้างโอกาส ได้รับผลตอบแทนน่าพอใจ คาดว่าน่าจะได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 30% ต่อปี กองทุนไทยทวีทุน ซึ่งร่วมกับบรูไน มูลค่ากองทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 8,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ลงทุนไปแล้วประมาณ 2,000 ล้านบาท ใน 5 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ไทย และบริษัทที่เตรียมจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนโฟกัส ฟันด์ ที่มุ่งลงทุนหุ้น 8 บริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นน้อยที่สุด เงินลงทุนเฉลี่ย บริษัทละประมาณ 400 ล้านบาท คาดว่ากองทุนฯ ดังกล่าว จะได้รับผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 20%

ส่วนการร่วมกับเทมาเซ็ก โฮลดิ้งส์ รัฐวิสาหกิจเพื่อการลงทุนจากสิงคโปร์ ขณะนี้ อยู่ระหว่างเจรจา คาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า จะหาข้อสรุปได้ ซึ่งอาจตั้งกองทุนใหม่ หรือใช้กองทุนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.