ปตท.มั่นใจ ปีนี้มีรายได้ 5.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากธุรกิจปิโตรเคมีจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจาก
ปีก่อน 50% และธุรกิจการกลั่น โตอีก 30% หลังโชว์กำไรไตรมาสแรก 1.22 หมื่นล้านบาท
เพิ่มขึ้น 11.4% ผลพวงจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปและโอเลฟินส์สูงขึ้น บิ๊กปตท. ยืนกรานไม่มีนโยบายลดค่าการกลั่นและลดราคาก๊าซหุงต้มเพื่อช่วยตรึงราคา อ้างโรงกลั่นเพิ่งฟื้นตัว
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)(PTT)
เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% หรือมีรายได้ประมาณ
550,000 ล้านบาท ทำให้มีกำไรโตขึ้นด้วย โดยปตท.จะรับรู้รายได้จากธุรกิจปิโตรเคมีในเครือที่คาดว่าทั้งปีจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปี
2546 ประมาณ 50% สืบเนื่องจาก ราคาโอเลฟินส์ปรับตัวดีขึ้น
รวมทั้ง ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรค่าการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นฯ
ในเครือ ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
และไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ ประมาณ 6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและปีนี้กลุ่มโรงกลั่นฯ จะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ
30-40% รวมทั้งยังรับรู้รายได้จากบมจ.ปตท.สผ.ที่มีกำไรเติบโตดีขึ้น จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่ม
หลังจากเข้าไปซื้อ หุ้นไทยเชลล์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจการกลั่นจะดีขึ้น แต่ ปตท.ไม่มีแผนที่จะเข้ามาลดค่าการกลั่น
หรือลดราคาก๊าซหุงต้มหน้าโรงแยกก๊าซฯ เพื่อช่วยตรึงราคาน้ำมันและก๊าซฯ เนื่องจากโรงกลั่นฯ
หลายแห่งเพิ่งจะมีรายได้ดีขึ้น หลังจากที่ค่าการ กลั่นฯ ตกต่ำเหลือไม่ถึง 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
ทำให้บางโรงกลั่นยังมีตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่ รวมทั้งราคาก๊าซหุงต้มของไทยถือว่าต่ำกว่าราคาก๊าซที่ตะวันออกกลาง
เนื่องจากรัฐชดเชยอยู่ถึงกก.ละ 3 บาท
นายประเสริฐ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของ ปตท. ในช่วงไตรมาสที่ 1/2547 ว่า บริษัทฯมีกำไรสุทธิ
12,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,260 ล้านบาท หรือ 11.4% เนื่องจากบริษัทมีรายได้รวม
137,969 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% และมีรายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อม และภาษี
(EBITDA) 17,811 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.4%
การเพิ่มขึ้นของรายได้ เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัว
อย่างต่อเนื่อง กอปรกับราคาผลิตภัณฑ์ปิโตร-เลียม ปิโตรเคมี และโดยเฉพาะค่าการกลั่น
แม้ว่าในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ บริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจ ปิโตรเคมีทั้งบมจ.ไทยโอเลฟินส์
และบมจ. อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย)จะหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อเชื่อมต่อระบบในการขยายกำลังการผลิตประมาณ
1 เดือน ทำให้มีรายได้และกำไรหายไปบางส่วนก็ตาม
นายประเสริฐ กล่าวว่า แม้ทิศทางของราคา น้ำมันในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นตามสภาวะของตลาดโลก
แต่กำไรต่อหน่วยของ ปตท.ไม่ได้เพิ่มขึ้น ถึงแม้ปริมาณการใช้น้ำมันของประชาชนสูงขึ้น
เห็นได้จากปริมาณขายของกลุ่ม ธุรกิจน้ำมันในไตรมาสที่ 1 มีปริมาณขาย 3,582 ล้านลิตร
เพิ่มขึ้น 591 ล้านลิตร หรือ 20% เนื่องจากกฟผ.มีการซื้อน้ำมันเตาเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
เพราะท่อก๊าซฯเดิมทั้ง 2 เส้นใกล้เต็ม แต่กำไรขั้นต้นของธุรกิจน้ำมันกลับลดลง เพราะธุรกิจน้ำมันมีการแข่งขันกันสูง
สำหรับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ไตรมาสแรกนี้จำหน่ายก๊าซฯ ได้ 2,577 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
เพิ่มขึ้น 3% เนื่องมาจากความต้องการ ใช้ก๊าซฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในส่วนของการผลิตไฟฟ้า
ของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ และการใช้ก๊าซฯ ของลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนปริมาณการขายผลิตภัณฑ์รวมของโรงแยกก๊าซฯ
มีจำนวน 679,982 ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2% ส่งผลให้รายได้และกำไรของกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ
ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส
2/2547 จะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธุรกิจการกลั่นยังดีอยู่ โดยมีค่าการกลั่นอยู่ที่
6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และไตรมาสนี้ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีไม่มีการหยุดเดินเครื่องจักรทำให้รับรู้รายได้เต็ม
3 เดือน ภายใต้ราคาปิโตรเคมีที่ยังสูงอยู่
สำหรับความคืบหน้าในการเจรจาเข้าซื้อกิจการบมจ.บางกอก โพลิเอทิลีน (BPE) นั้น
อยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลาทำดิวดิลิเจนท์
อีก 1-2 เดือน หากดีลนี้สำเร็จจะทำให้ปตท. มีสายการผลิตโอเลฟินส์ครบวงจรยิ่งขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่ม
รายได้ของปตท.ด้วย
นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้าในการ เจรจาขอซื้อหุ้นบริษัท คูเวต ปิโตรเลียม
(ประเทศไทย) ซึ่งเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันคิวเอทในไทยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างประเมินราคาเสนอซื้อ
หากประเมินราคาเรียบร้อยแล้ว ก็จะเสนอให้ทางคิวเอทพิจารณาอีกทีหนึ่ง สำหรับสาเหตุที่สนใจซื้อปั๊มคิวเอท
เนื่องจากเห็นว่าทำเลสถานที่ตั้งของปั๊มคิวเอทจะช่วยต่อยอดของธุรกิจปตท.ได้
ซึ่งจะทำให้ปั๊มน้ำมันปตท.เพิ่มขึ้นอีก 125 แห่ง หรือคิดเป็น 8.9% ของจำนวนปั๊มปตท.ที่มีอยู่
ทั้งสิ้น 1,400 แห่ง โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการซื้อปั๊มคิวเอทจะมาจากเงินทุนหมุนเวียนของ
บริษัทฯที่มีอยู่ประมาณ 6.28 หมื่นล้านบาท
สำหรับฐานะการเงินของ ปตท.และบริษัท ย่อย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2547 มีสินทรัพย์มูลค่ารวมทั้งสิ้น
360,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2546 จำนวน 35,855 ล้านบาท หรือโตขึ้น 11%
ในขณะที่มีหนี้สินทั้งสิ้น 217,157 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2546 จำนวน 21,481 ล้านบาท
หรือ 11%